xs
xsm
sm
md
lg

BJC เปิดแผน 5 ปีทุ่ม 6 หมื่นล้าน ร่วมทุนผุดฐานผลิต-รุกโชวห่วย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการรายวัน 360 - บีเจซีวางแผน 5 ปีทุ่มงบลงทุนรวม 60,000 ล้านบาท โหมธุรกิจค้าปลีกเป็นหลัก 70% พร้อมเป้าหมายรายได้สู่ 3 แสนล้านบาท ผุดฐานผลิตแบบร่วมทุนทั่วภูมิภาค ดันไพรเวตเลเบลทะลุ 5 หมื่นล้านบาท

นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือบีเจซี เปิดเผยว่า บริษัทฯ วางแผนงานช่วง 5 ปีจากนี้ (ปี พ.ศ. 2565-2569) จะใช้งบลงทุนรวมประมาณ 60,000 กว่าล้านบาท หรือเฉลี่ยลงทุนปีละประมาณ 12,000 ล้านบาท โดยแบ่งสัดส่วนประมาณ 30% ใช้ในด้านการผลิตสินค้าและแพกเกจจิ้งต่างๆ ส่วน 70% จะเน้นใช้กับการลงทุนด้านค้าปลีกหรือบิ๊กซีเป็นหลัก ขณะที่ตั้งเป้าหมายรายได้รวมภายในปี 2559 ไว้ที่ 270,000 ล้านบาท ซึ่งยังไม่นับรวมเครือข่ายธุรกิจยของเอ็มเอ็ม ถ้าหากรวมไม่น่าจะต่ำกว่า 300,000 ล้านบาท จากปัจจุบันที่มียอดรวมประมาณ 170,000 ล้านบาท โดยคาดว่ารายได้จะเติบโตเฉลี่ยปีละ 11-16% 
ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังมีนโยบายที่จะขยายฐานการผลิตสินค้าและแพกเกจจิ้งต่างๆ ให้ครอบคลุมทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้มากขึ้น ด้วยรูปแบบที่จะเป็นการร่วมทุนหรือการเข้าไปถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 30% เพื่อร่วมกับพาร์ตเนอร์ทำการผลิต ไม่จำเป็นต้องลงทุนเองตัั้งแต่ต้นกระบวนการ ซึ่งขณะนี้ก็มีการเจรจากับพาร์ตเนอร์หลายรายในหลายประเทศ จากปัจจุบันที่มีฐานการผลิตรวม 21 แห่ง แบ่งเป็นในไทย 12 ฐานการผลิต และต่างประเทศอีก 9 ฐานการผลิต เช่น เวียดนาม มาเลเซีย กัมพูชา เป็นต้น

อีกทั้งบริษัทมีเป้าหมายที่จะเพิ่มรายได้จากการจำหน่ายสินค้าไพรเวตเลเบลหรือสินค้าที่เป็นแบรนด์ของบริษัทเองให้ได้ถึง 50,000 ล้านบาท ภายในอีก 5 ปีจากนี้ด้วย ซึ่งการเร่งขยายฐานการผลิตที่หลากหลาย จะเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่จะช่วยทำให้สำเร็จได้ และเพิ่มสัดส่วนรายได้จากช่องทางออนไลน์เป็น 30% จากปัจจุบันมี 10% ภายใน 5 ปีจากนี้


ส่วนการขยายสาขาวางเป้าหมายจะเพิ่มเป็น 3,639 สาขาทั้งในไทยและต่างประเทศด้วยรูปแบบต่างๆ ภายในปี 2569 จากปัจจุบันที่มีประมาณ 2,000 สาขา ซึ่งยิ่งมีมากเท่าใดก็ยิ่งทำให้มีประสิทธิภาพในการเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจค้าปลีกของเครือที่มีทั้งหมดให้ครอบคลุมทั่วอาเซียนได้ดียิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปัจจุบันธุรกิจค้าปลีกของเครือเราจะมีโมเดลธุรกิจค้าปลีกโดยเฉพาะบิ๊กซีที่หลากหลายฟอร์แมต แต่ก็ไม่ได้มีความซ้ำซ้อนที่จะต้องยกเลิกเซกเมนต์ใดลง เพราะแต่ละโมเดลมีรูปแบบการค้าและกลุุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกันเพื่อให้เกิดความครอบคลุมมากขึ้น โดยขยายสาขาจะมีทุกรูปแบบ ไฮเปอร์มาร์เกต หรือห้างขนาดใหญ่, บิ๊กซี ฟู้ด เพลซ, มินิบิ๊กซี, ร้านเอ็มเอ็ม ฟู้ดเซอร์วิส ทั้งในประเทศไทย กัมพูชา ลาว เมียนมา และจีนตอนใต้ ขณะที่โมเดลร้านโดนใจก็ได้รับความสำเร็จอย่างดี เป็นรูปแบบที่บริษัทช่วยลงทุนร้านให้แต่ผู้ประกอบการยังคงเป็นเจ้าของธุรกิจเดิมแล้วรับสินค้าจากบีเจซีไปจำหน่ายไม่ใช่เป็นแฟรนไชส์ ซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 500 สาขา ตั้งเป้าหมายจากนี้จะมีให้ถึง 10,000 ร้านค้าในอีก 5 ปี ซึ่งจะเป็นอาวุธที่ทำให้บีเจซีสามารถกระจายสินค้าในเครือที่มีหลากหลายเข้าถึงร้านค้าดั้งเดิมเพิ่มมากขึ้น จากปัจจุบันบริษัทเข้าถึงร้านค้าดังกล่าวทั้งในไทยและเวียดนาม รวม 236,000 แห่งเท่านั้น โดยในไทยร้านค้าประเภทนี้มีมากถึง 400,000 แห่ง แต่บริษัทเข้าถึงเพียง 100,000 แห่งเท่านั้นโดยประมาณ ส่วนที่เวียดนามมีมากกว่า 700,000 แห่ง แต่บริษัทเข้าถึงแค่ 100,000 แห่งเท่านั้น ซึ่งยังมีโอกาสอีกมาก


กำลังโหลดความคิดเห็น