xs
xsm
sm
md
lg

กนอ.สั่งระงับกิจการชั่วคราว พร้อมเร่งหาสาเหตุเพลิงไหม้โรงงานในนิคมฯ บางปู

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กนอ.เร่งหาสาเหตุเพลิงไหม้โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมบางปู แจงเจ้าหน้าที่ควบคุมเหตุการณ์ได้ภายใน 1.15 ชั่วโมงโดยไม่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ไร้สารเคมีหรือมลพิษที่เป็นอันตรายต่อชุมชน พร้อมสั่งการให้โรงงานระงับการประกอบกิจการชั่วคราว

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) 
เปิดเผยว่า สำหรับเหตุเพลิงไหม้โรงงานของบริษัท มินเทค เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมบางปู ตำบลแพรกษา อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อเวลาประมาณ 23.15 น. ของวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา

โดยบริษัทฯ ประกอบกิจการผลิตและประกอบหมวกกันกระแทก และหมวกนิรภัยสำหรับใช้เล่นกีฬา มีพื้นที่กว่า 5 ไร่ เหตุเพลิงไหม้เกิดขึ้นบริเวณด้านข้างโรงงาน ซึ่งนิคมอุตสาหกรรมบางปูได้ประสานไปยังสถานีดับเพลิง และนักผจญเพลิงในพื้นที่เข้าดำเนินการช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วน จนสามารถควบคุมเพลิงและระงับเหตุได้ในเวลา 00.30 น. ของวันที่ 25 มี.ค. 2565 ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวนจากเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานเพื่อหาสาเหตุเพลิงไหม้ในครั้งนี้

 


ทั้งนี้ จากการตรวจสอบเบื้องต้นไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต รวมทั้งไม่มีสารเคมีหรือมลพิษที่เป็นอันตรายต่อชุมชนรอบข้าง ส่วนมูลค่าความเสียหายยังไม่สามารถประเมินได้ ต้องรอให้มีการตรวจสอบรายละเอียดก่อน อย่างไรก็ตาม สำหรับน้ำที่ใช้ในการระงับเหตุเพลิงไหม้ กนอ.ได้ทำการปิดกั้นลำรางระบายน้ำฝนภายในและบริเวณโดยรอบโรงงาน เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำที่เกิดจากการดับเพลิงรั่วไหลออกสู่ภายนอกโรงงาน รวมทั้งให้บริษัทฯ เร่งบำบัดให้ได้ตามมาตรฐานที่ กนอ.กำหนดต่อไป

“กนอ.อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม สั่งการให้บริษัทฯ หยุดประกอบกิจการชั่วคราวและปรับปรุงแก้ไขโรงงาน ซึ่งหลังจากนี้บริษัทฯ ต้องยื่นเอกสารแสดงผลการปรับปรุงอาคารโรงงาน รวมถึงตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของโครงสร้างอาคาร และความปลอดภัยของระบบอุปกรณ์ภายในโรงงาน ที่ต้องผ่านการรับรองจากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญ เพื่อจัดส่งให้ กนอ.พิจารณาตรวจสอบก่อน” นายวีริศ กล่าว

แม้ว่าภายหลังสามารถควบคุมเพลิงได้แล้ว ผู้ว่าการ กนอ.ยังสั่งการให้เร่งทบทวนมาตรการป้องกันต่างๆ ที่เกี่ยวข้องโดยด่วน จะต้องดำเนินการอย่างไรบ้างหากเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ขึ้นอีก เพื่อให้เป็นไปด้วยความรวดเร็วและเกิดความเสียหายให้น้อยที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น