ภาคเอกชนผวาไทยเผชิญภาวะ ศก.ชะงักงันและเงินเฟ้อหรือ Stagflation หลังน้ำมัน สินค้าพุ่งจากการสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน จับตาซ้ำเติมการจ้างงานปี 65 สภานายจ้างฯ มองรัฐแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแนะควรวางแผนรับมือในทุกระยะ
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) เปิดเผยว่า สิ่งที่กังวลขณะนี้คือไทยกำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะงักงันและเงินเฟ้อหรือ Stagflation จากระดับราคาน้ำมันและราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้นจากผลกระทบการสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และมาตรการคว่ำบาตรระหว่างรัสเซียกับสหรัฐฯ และพันธมิตร ซึ่งนับเป็นวิกฤตที่แทรกซ้อนเข้ามาเพิ่มจากการที่ไทยเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 ที่ขณะนี้สายพันธุ์โอมิครอนมีอัตราผู้ติดเชื้อสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ย่อมซ้ำเติมต่อภาวะการจ้างงานใหม่และอัตราการว่างงานในปี 2565
“ตัวเลขสะท้อนจากแรงงานมาตรา 33 ของระบบประกันสังคมเดือน ม.ค.-ธ.ค. 64 พบว่าอัตราการจ้างงานสุทธิในปี 2564 อยู่ที่เพียง 8.16 หมื่นคนเท่านั้น และปีนี้ก็คงต้องติดตามปัจจัยต่างๆ ที่อาจจะชะลอตัวหรือดีสุดก็น่าจะใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา โดยปี 2564 มีการว่างงานรวมแรงงานแฝงราว 1.16 ล้านคน ขณะที่ม.ค. 65 ตัวเลขแรงงานที่หายไปจากระบบมีประมาณ 5.96 แสนคน (ไม่รวมแรงงานแฝง) ก็ยังคงอยู่ระดับสูงและที่น่าวิตกคือแรงงานส่วนใหญ่กลายเป็นผู้ที่ตกงานเกิน 1 ปีแล้วซึ่งจะทำให้ตัวเลขผู้ตกงานระยะยาวเพิ่มขึ้นได้” นายธนิตกล่าว
ทั้งนี้ รัฐจำเป็นต้องมีมาตรการรับมือผลกระทบต่อวิกฤตการณ์ทั้งในระยะเฉพาะหน้าหรือระยะสั้น ระยะกลางและยาวที่มองไปข้างหน้า เนื่องจากแม้ระดับราคาน้ำมันดิบตลาดโลกจะเริ่มอ่อนตัวลงหลังมีความหวังการเจรจาของรัสเซียกับยูเครนและการเพิ่มผลผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปกพลัส แต่ก็ยังคงอยู่ในระดับสูงกว่า 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยหากรัฐจำเป็นต้องปรับขึ้นราคาพลังงาน เช่น ขึ้นราคาแอลพีจี (ก๊าซหุงต้ม) อีก 15 บาทต่อถัง (15 กก.) 1 เม.ย. 2565 และค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) งวด พ.ค.-ส.ค. 65 ฯลฯ รัฐควรหามาตรการที่มุ่งดูแลประชาชนกลุ่มเปราะบางอย่างแท้จริงเพื่อลดงบประมาณในการอุดหนุนค่าพลังงาน ขณะเดียวกัน ส่วนของผู้ประกอบการมุ่งดูแลธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ประสบภาวะหนี้สินโดยหากต้องการให้รัฐช่วยเหลือต้องยื่นบัญชีให้ดูว่าขาดทุนจริงหรือไม่ เป็นต้น
“ผมมองว่าวันนี้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งมาตรการแซงก์ชันไม่น่าจะจบเร็วจึงควรจะเร่งหามาตรการต่างๆ รองรับเอาไว้โดยเฉพาะในระยะต่อไปเพราะทุกครั้งที่เกิดวิกฤตพลังงานสิ่งที่ตามมาคือวิกฤตการณ์เศรษฐกิจและการเงินซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องระวังโดยเฉพาะปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ NPL หากเกิดปัญหาจะกระทบกันเป็นลูกโซ่” นายธนิตกล่าว