บอร์ด รฟท.เห็นชอบปรับวิธีล้างหินจากทำเองเป็นจ้างเอกชน วงเงิน 599 ล้านบาท สัญญา 3 ปี นำร่องทางช่วงนครสวรรค์ เหตุถูกน้ำท่วมบ่อย ประเมินประสิทธิภาพเพิ่ม 4 เท่า หรือจาก 25 กม./ปี เป็น 100 กม./ปี ลดต้นทุนถึง 7.2% เผยรถล้างหินเดิมเก่า เสียบ่อย ซื้อใหม่ไม่คุ้ม
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2565 ได้มีมติเห็นชอบให้ใช้วิธีคัดเลือกสำหรับการจ้างบำรุงทางรถไฟด้วยรถล้างหิน ระยะเวลา 3 ปี (2565-2567) ในเขตนครสวรรค์ ศูนย์บำรุงทางภาคเหนือ ทั้งนี้ หลังจากมีการเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียกับรูปแบบเดิมในการทำความสะอาดหินที่ รฟท.ได้ดำเนินการเอง ซึ่งมีรถล้างหินเพียงคันเดียว อายุใช้งานเกือบ 40 ปี พบว่า สามารถทำความสะอาดหินได้ประมาณ 25 กม./ปี หรือ 100 เมตร/วันเท่านั้น เนื่องจากรถล้างหินเสียบ่อย ส่วนวิธีจ้างเอกชนดำเนินการ พบว่าสามารถทำความสะอาดหินได้ถึง 100 กม./ปี และประหยัดต้นทุนได้ถึง 7.52% ประเมินแล้วมีประสิทธิภาพดีกว่าการทำเองแบบเดิม 4 เท่า
โดยจะดำเนินการช่วงดอนเมือง-พรหมพิราม ระยะทางประมาณ 300 กม. ระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี วงเงินค่าจ้าง 599 ล้านบาทเขตนครสวรรค์ ศูนย์บำรุงทางภาคเหนือ เนื่องจากเป็นเส้นทางอยู่ในพื้นที่ราบลุ่ม ถูกน้ำท่วมบ่อย มีสภาพเก่า จึงเป็นเส้นทางเร่งด่วนที่ต้องทำความสะอาดหิน
นายนิรุฒกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นยุทธศาสตร์ที่จะเพิ่มประสิทธิภาพด้านการบำรุงทางเพื่อความปลอดภัยในการเดินรถ ซึ่งคาดว่าจะลงนามสัญญากับผู้รับจ้างในเดือน มี.ค. 2565 โดยจะเป็นโครงการนำร่อง เพราะยังไม่เคยใช้วิธีนี้มาก่อน หากได้ผลตามที่ประเมินไว้ รฟท.จะปรับสัดส่วนงานล้างหินเป็นจ้างเอกชน 70% และดำเนินการเอง 30% และพิจารณางานซ่อมบำรุงในด้านอื่นๆ ด้วย เพราะนอกจากจะทำให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้นแล้ว จะโยกพนักงานไปทำงานส่วนอื่นๆ ที่มีความจำเป็นมากกว่าได้อีกด้วย
สำหรับรถล้างหินนั้น ปัจจุบันหากจัดซื้อพบว่ามีราคาอยู่ที่ประมาณ 280 ล้านบาท/คัน ซึ่งขั้นตอนในการทำความสะอาดหินนั้นจะดูดหินใต้รางขึ้นมาเพื่อทำความสะอาด เอาดินและสิ่งสกปรกออก รวมถึงมีตะแกรงคัดกรองหินที่มีขนาดที่เหมาะสม เพื่อนำกลับไปใช้ใหม่ และหากหินแตกหัก หรือมีชิ้นเล็ก จะถูกคัดทิ้งออกไป และนำหินใหม่ที่มีขนาดเหมาะสมเข้ามาทดแทน และเมื่อทำความสะอาดหินแล้วจะอยู่ได้อีกประมาณ 10 ปีจะถึงวงรอบในการทำความสะอาดอีกครั้ง
@เห็นชอบแก้สัญญา 3 รถไฟสีแดง เพิ่มค่า VAT นำเข้ากว่า 1.2 พันล้าน
นอกจากนี้ บอร์ด รฟท.ยังเห็นชอบการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขสัญญา งานสัญญาที่ 3 งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกลรวมตู้รถโดยสารโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วง บางซื่อ-ตลิ่งชัน (สัญญา 3A) โดยปรับกรอบวงเงิน สัญญาเพิ่มเติมในส่วนของภาษีมูลค่าเพิ่ม จากการใช้แหล่งเงินกู้ ECP จำนวน 288,554,736.49 บาท และปรับกรอบวงเงินสัญญาเพิ่มเติม ในส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้า (Import VAT) จำนวน 4,311,535,926 เยน หรือคิดเป็น 1,265,996,293.95 บาท ซึ่งจะดำเนินการบันทึกแนบท้ายสัญญา ปรับขยายกรอบวงเงิน สัญญาที่ 3 ให้ครอบคลุมภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้า ต่อไป โดยยังเหลือการปรับสัญญา 1, 2
ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2565 ที่เห็นชอบและอนุมัติปรับกรอบวงเงินลงทุนและจัดหาแหล่งเงินเพิ่มเติม กรณีภาษีมูลค่าเพิ่มจากการใช้แหล่งเงินกู้ ECP กรณีภาษีมูลค่าเพิ่มงวด 27 ถึง 29 กรณีความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และกรณีค่าภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรจากการนำเข้า (Import VAT & Import Duty ) พร้อมทั้งอนุมัติจัดหาแหล่งเงินรองรับโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน