การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทุกองค์กรต้องมีการปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์นี้อยู่ตลอดเวลา โดย แสงเดือน ตั้งธรรมสถิตย์ ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าผู้บริหารด้านปฏิบัติการของจ๊อบไทย (JobThai) ในฐานะผู้ให้บริการแพลตฟอร์มหางานและสมัครงานออนไลน์ เปิดเผยถึงข้อมูลภาพรวมการหางาน สมัครงาน และการจ้างงานปี 2564 พร้อมเผยผลสำรวจการเปลี่ยนแปลงของโลกการทำงานจากฝั่งขององค์กรและฝั่งของคนทำงาน
โดยภาพรวมของผู้ใช้บริการหางาน และสมัครงานในปี 2564 พบว่ามีการใช้งานมากกว่า 18.5 ล้านคน เติบโตขึ้น 12.38% มีการสมัครงาน 17,161,667 ครั้ง ด้านผลสำรวจรูปแบบการทำงานในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่า คนทำงานส่วนใหญ่กว่า 56.65% ไม่ได้ทำงานแบบ Work from Home ส่วนคนทำงานที่ได้ Work from Home กว่า 70.95% ให้ความคิดเห็นว่าการทำงานแบบนี้ทำให้ขาดการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน
*** ในปี 2564 ความต้องการแรงงานมีอัตราสูงขึ้น
ส่วนข้อมูลด้านความต้องการแรงงานขององค์กรในจ๊อบไทยแพลตฟอร์ม พบว่า องค์กรมีความต้องการแรงงานในปี 2564 ทั้งหมด 602,436 อัตรา มีอัตราการเปิดรับเพิ่มขึ้นจากปี 2563 คิดเป็น 24% โดย 5 สายงานที่เปิดรับมากที่สุด ได้แก่ 1.งานขาย 321,505 อัตรา 2.งานผลิต/ควบคุมคุณภาพ 183,903 อัตรา 3.งานช่างเทคนิค 175,083 อัตรา 4.งานธุรการ/จัดซื้อ 87,731 อัตรา 5.งานวิศวกร 81,982 อัตรา
ในส่วนของ 5 บริษัทที่คนสมัครงานเยอะมากที่สุดในปี 2564 ได้แก่ 1.บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) มีการสมัครงานถึง 90,727 ครั้ง 2.บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) มีการสมัครงาน 76,642 ครั้ง 3.บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) มีการสมัครงาน 64,558 ครั้ง 4.บริษัท โรม อินทิเกรเต็ด ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด มีการสมัครงาน 51,854 ครั้ง และ 5.บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) มีการสมัครงาน 48,265 ครั้ง
เป็นการนับจำนวนครั้งการสมัครที่เกิดขึ้นผ่านจ๊อบไทยแพลตฟอร์ม นอกจากตัวเลขดังกล่าวแล้ว ยังมีการสมัครผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น การส่งใบสมัครผ่านอีเมล
ส่วนด้านธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจโรงแรม ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่ได้ผลกระทบทางลบโดยตรงจากโควิดทำให้การเปิดรับคนลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ 2563 เริ่มกลับมามีแนวโน้มความต้องการของแรงงานเพิ่มมากขึ้นในช่วงไตรมาส 4 ปี 2564 และมีแนวโน้มดีขึ้นจนถึงปัจจุบัน
*** อุปสรรคในการสรรหาบุคลากรช่วงโควิด-19
นอกจากนี้ แสงเดือน ยังได้เผยผลสำรวจด้านอุปสรรคในการสรรหาบุคลากรในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งทำการสำรวจความคิดเห็นขององค์กรทั่วประเทศจำนวน 1,178 คน โดยองค์กรต่าง ๆ บอกว่าในช่วงสถานการณ์โควิด-19 สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงของการสมัครงานที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ดังนี้ ได้รับใบสมัครที่มาจากนักศึกษาจบใหม่ หรือผู้ที่ยังไม่มีประสบการณ์การทำงานเป็นจำนวนมากเพิ่มขึ้น ได้รับใบสมัครงานที่คุณสมบัติไม่ตรงกับความต้องการ และได้รับใบสมัครงานที่มาจากผู้สมัครที่ทำการย้ายสายงานตามลำดับ รวมทั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังทำให้องค์กรมีการยกเลิกสวัสดิการต่าง ๆ และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังทำให้องค์กรมีการยกเลิกสวัสดิการต่าง ๆ โดยมีการยกเลิกสวัสดิการเหล่านี้มากที่สุด ได้แก่ 1.กิจกรรมสันทนาการ เช่น งานกีฬาสี งานเลี้ยงสังสรรค์ปีใหม่ ท่องเที่ยวประจำปี 2.จัดคอร์สอบรมและพัฒนาความรู้ภายในองค์กร 3.โบนัส 4.ตรวจสุขภาพประจำปี และ 5.เงินรางวัลประจำปี /รางวัลพนักงานดีเด่น
- ปัญหาที่ HR มักจะพบมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ 1.ผู้สมัครงานไม่มาสัมภาษณ์งานโดยไม่แจ้งให้ทราบ 72.92% 2.ผู้สมัครงานเรียกเงินเดือนสูงกว่าคุณสมบัติที่ตัวเองมี 42.11% 3.ทักษะของผู้สมัครงานไม่ตรงหรือมีไม่มากเท่าที่ระบุไว้ในประกาศงาน 39.39% 4.ผู้สมัครงานที่ผ่านการคัดเลือกแต่ไม่มาเริ่มงานตามกำหนด 33.11% และ 5.ผู้สมัครงานไม่ศึกษาข้อมูลองค์กร 30.05%
- สิ่งที่ HR ให้ความสำคัญในการพิจารณาใบสมัครงานมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ 1.ทักษะของผู้สมัครที่ตรงกับตำแหน่งงาน 2.คุณสมบัติของผู้สมัครที่ตรงกับประกาศงาน 3.ประสบการณ์เดิมจากที่ทำงานเก่า 4.ทักษะอื่น ๆ ที่ส่งเสริมกับตำแหน่งงาน และ 5.ความถูกผิดของการสะกดต่าง ๆ ในใบสมัครงาน
- สิ่งที่ HR ให้ความสำคัญในการพิจารณาใบสมัครงานน้อยที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ 1.ศาสนาของผู้สมัคร 2.เพศของผู้สมัคร 3.ตัวตนในโลกออนไลน์ 4.สถาบันที่จบการศึกษา และ 5.ความสวยงามของ Resume
- ทักษะที่ HR มองหานอกจากทักษะเฉพาะทาง 5 อันดับ ได้แก่ 1.ทักษะการรับมือกับปัญหา สามารถปรับตัวเพื่อฟื้นฟูตัวเองเมื่อเจอกับปัญหาหรือความล้มเหลว (Resilience and Adaptability) 2.ทักษะการคิดวิเคราะห์ (Analytical Thinking) 3.ทักษะการคิดเชิงเหตุผลและตัดสินใจเพื่อแก้ไขปัญหาที่มีความซับซ้อน 4.ทักษะในการรับมือและจัดการกับความเครียด เมื่อเจอกับปัญหา หรือความเปลี่ยนแปลง และ 5.ทักษะในการเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ด้วยตนเอง (Active Learning)
*** ปัจจัยที่ส่งผลต่อการหางาน และการสมัครงาน
ส่วนด้านผลสำรวจเรื่องการหางาน สมัครงานจากคนทำงานทั่วประเทศจำนวน 12,511 คน พบว่า ในครึ่งปีแรกของปี 2565 กลุ่มคนทำงานประจำและสัญญาจ้าง 53.60% จะยังไม่จริงจังกับการหางานใหม่มากแต่เป็นการเปิดโอกาสไว้และถ้ามีงานน่าสนใจกลุ่มจะลองสมัครงานนั้นดู และคนทำงานอีกกว่า 26.76% จะทำการหางานใหม่อย่างจริงจัง กลุ่มที่ไม่ได้หางานใหม่ แต่ถ้าได้รับการเสนองานให้ก็จะพิจารณา 14.58% และกลุ่มที่บอกว่าจะไม่หางานใหม่อย่างแน่นอน 5.05% ซึ่งปัจจัยที่คนทำงานใช้พิจารณาเลือกย้ายงานหรือทำงานในองค์กรเดิมต่อ ได้แก่ 1.เงินเดือน 2.สวัสดิการ 3.โบนัส 4.ความก้าวหน้าในอาชีพ และ 5.การเดินทางที่สะดวก
คนหางานจะหาข้อมูลก่อนการสมัครงานผ่านช่องทางดังนี้ 1.เว็บไซต์หางาน สมัครงาน 2.เว็บไซต์บริษัท 3.โซเชียลมีเดียขององค์กร และคนทำงานยังเผยสิ่งที่ทำให้รู้สึกไม่อยากสมัครงานกับองค์กรหากมีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในขั้นตอนสมัครงาน คือ 1.ต้องมีผู้ค้ำประกัน 2.ค้นหาข้อมูลบริษัทได้น้อย เช่น ค้นหาไม่เจอบน Maps 3.มีการสัมภาษณ์งานมากกว่า 2 รอบขึ้นไป 4.ไม่มีความเคลื่อนไหวบน Social Media ของบริษัท และ 5.ต้องมีบุคคลรับรอง
จะเห็นได้ว่า 2 ใน 5 เรื่องที่คนทำงานให้ความสำคัญเป็นเรื่องของข้อมูลองค์กร ยิ่งในยุคที่ข้อมูลมากมายความน่าเชื่อถือเป็นสิ่งสำคัญที่องค์กรไม่ควรมองข้าม ดังนั้นฝั่งองค์กรเองควรทำเรื่องภาพลักษณ์นายจ้าง (Employer Branding) ให้มีความน่าสนใจดึงดูดให้คนอยากร่วมงานด้วย โดยการสร้างตัวตนให้คนสามารถค้นหาเจอบนออนไลน์ และต้องสื่อสารเรื่องราวขององค์กรในด้านต่าง ๆ อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็น วัฒนธรรมองค์กร บรรยากาศในการทำงาน สวัสดิการที่น่าสนใจ อัปเดตข่าวสารและผลงาน รวมไปถึงกิจกรรมภายใน ภายนอกองค์กร