“กบน.” เคาะปรับเพิ่มเงินชดเชยดีเซลจากกองทุนน้ำมันฯ เป็น 4.08 บาทต่อลิตร จากเดิม 2.30 บาทต่อลิตรรับมือวิกฤตน้ำมันพุ่งจากผลกระทบการสู้รบรัสเซีย-ยูเครน ลั่นตรึงดีเซล 30 บาทต่อลิตร LPG 318 บาทต่อถุง 15 กก.ถึงสิ้น มี.ค. ท่ามกลางค่ายน้ำมันต่างชาติขยับราคาทะลุเพดาน 30 บาทต่อลิตรไปแล้ว
แหล่งข่าวกระทรวงพลังงานเปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานวันที่ 3 มี.ค. ได้มีมติปรับเพิ่มอัตราการชดเชยราคาน้ำมันดีเซลจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันชดเชยอยู่ที่ 2.30 บาทต่อลิตรเป็น 4.08 บาทต่อลิตร เพื่อรักษาระดับราคาดีเซลไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาทหลังจากที่ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกได้พุ่งสูงจากกรณีวิกฤตรัสเซียและยูเครน
“กระทรวงพลังงานยังคงพยายามที่จะรักษาระดับราคาดีเซลตามมติ กบง.เดิมที่ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร และตรึงราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ไว้ที่ 318 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม จนถึงสิ้น มี.ค. 2565 โดยการเพิ่มการชดเชยดีเซลเพื่อที่จะพยายามตรึงดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร โดยยอมรับว่าราคาน้ำมันหลังจากนี้ไปจะยังคงสูงขึ้นอีก แต่เชื่อว่าราคาที่สูงน่าจะเป็นระยะสั้นและจะคลี่คลายลงได้” แหล่งข่าวกล่าว
สำหรับสถานะกองทุน้ำมันฯ ณ วันที่ 27 ก.พ. 2565 กองทุนฯ ประสบปัญหาติดลบรวม 21,838 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันมีเงิน 4,988 ล้านบาท แต่บัญชี LPG ติดลบหนัก 26,826 ล้านบาท โดยแต่ละเดือนเงินไหลออก 7,000 ล้านบาท จากการชดเชยราคาดีเซลรวม 5,000 ล้านบาทต่อเดือน และชดเชย LPG 2,000 ล้านบาทต่อเดือน แต่เนื่องจากมีเงินไหลเข้ากองทุนฯ เดือนละ 3,000 ล้านบาทต่อเดือน จึงช่วยให้เงินไหลออกเหลือแค่ 4,000 ล้านบาทต่อเดือน
รายงานข่าวแจ้งว่า แม้ว่าล่าสุดค่ายน้ำมันต่างชาติจะได้มีการปรับขึ้นราคาดีเซลที่ทะลุเกินลิตรละ 30 บาทต่อลิตรไปแล้ว แต่ยังคงมี บมจ.ปตท.และ บมจ.บางจากที่รัฐถือหุ้นหลักยังคงยึดนโยบายราคาขายปลีกไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร แม้ว่าล่าสุด ปตท.และ บมจ.บางจากจะปรับขึ้นดีเซลอีก 20 สตางค์ต่อลิตรก็ยังอยู่ที่ราคา 29.94 บาทต่อลิตร หากรัฐไม่อุดหนุนเพิ่มดีเซลก็จะทะลุ 30 บาทต่อลิตรเช่นกับค่ายต่างชาติ