xs
xsm
sm
md
lg

“ศักดิ์สยาม” วางโมเดล "สายเดินเรือแห่งชาติ" เร่ง กทท.ตั้ง 3 บริษัทลูกถือหุ้นไม่เกิน 50% เน้นคล่องตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ศักดิ์สยาม” ควง "อธิรัฐ"" มอบนโยบาย กทท.เร่งไทม์ไลน์ตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ ชง ครม.ในปีนี้แยก 3 บริษัทลูก ร่วมทุนเอกชน รัฐถือหุ้นต่ำกว่า 50% เน้นคล่องตัว ชู "ทลฉ.-แลนด์บริดจ์" เสร็จครบปี 72 ดันท่าเรือไทยขึ้นท็อป 10 ของโลก

วันที่ 3 มี.ค. 2565 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ตรวจเยี่ยมพร้อมให้นโยบายการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ในการพัฒนาการขนส่งทางน้ำ ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ต้องการพัฒนาโลจิสติกส์ทุกรูปแบบ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโลจิสติกส์ทางน้ำมีความสำคัญ โดยต้องบูรณาการกันระหว่างภาครัฐกับเอกชนในการพัฒนาศักยภาพของการขนส่งสินค้าทางน้ำให้เต็มความสามารถ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมขนส่งของภูมิภาคอาเซียน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชน

นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ได้ให้เร่งรัดการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ ในรูปแบบ Domestic และ International เพื่อส่งเสริมและพัฒนากองเรือพาณิชย์ไทย เพิ่มสัดส่วนการขนส่งสินค้าทางน้ำ ลดต้นทุนการขนส่งโลจิสติกส์ สนับสนุนการส่งออกและนำเข้า เพิ่มสัดส่วนการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยกองเรือไทย รวมทั้งลดการขาดดุลบริการด้านค่าระวางเรือ และเสริมศักยภาพการแข่งขันให้กับกองเรือไทย

ที่ผ่านมา นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม ได้มีการประชุมร่วมกับผู้เกี่ยวข้อง 4 ครั้ง โดยหลักการจะมีการจัดตั้งบริษัทลูก 3 บริษัท คือ 1. สายการเดินเรือภายในประเทศ 2. สายการเดินเรือระหว่างประเทศ (ตะวันออก) ฝั่งอ่าวไทย 3. สายการเดินเรือระหว่างประเทศ (ตะวันตก) ฝั่งอันดามัน ซึ่งรูปแบบจะเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง กทท.กับภาคเอกชน โดย กทท.อาจจะถือหุ้นต่ำกว่า 50% ไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ ลักษณะเหมือน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น และมีความสามารถในการระดมทุนด้วย โดยให้สรุปความชัดเจนในการจัดตั้งบริษัทสายเดินเรือในประเทศเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายในปี 2565 ก่อน ส่วนสายเดินเรือระหว่างประเทศ การจัดตั้งจะสอดคล้องกับการพัฒนาแลนด์บริดจ์เพื่อสนับสนุนในด้านปริมาณสินค้า

โดยให้พิจารณากลยุทธ์ในการพัฒนาท่าเรือเพิ่มในจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญภายในประเทศ จากภาคใต้ขึ้นมาถึงท่าเรือชุมพร และท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อให้เกิดการเพิ่มสัดส่วนการขนส่งสินค้าทางน้ำ ช่วยแก้ปัญหาจราจร ลดอุบัติเหตุ ลดปัญหาฝุ่น PM 2.5

นอกจากนี้ ได้ให้ กทท.บูรณาการความเห็นร่วมกับ สนข. จท. ทล. ขบ. และ รฟท. ในการพัฒนาโครงการ แลนด์บริดจ์ (ท่าเรือชุมพร-ระนอง) การพัฒนารูปแบบ การลงทุนและ Business Model พื้นที่หลังท่า และในการพัฒนาท่าเรือทั้งสอวฝั่งของแลนด์บริดจ์ให้เชื่อมต่อระบบการขนส่งอื่นอย่างไร้รอยต่อ (Seamless) เพื่อลดเวลาและต้นทุนการขนส่ง เมื่อเทียบกับท่าเรืออื่นในอาเซียน เพื่อดึงดูดให้ผู้ประกอบการจากทั่วโลกหันมาใช้เส้นทาง Landbridge เป็นเส้นทางหลักในการขนส่งสินค้า เชื่อมโยงมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิกแทนเส้นทางการค้าเดิม

โดยเป้าหมายการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะ 3 ในส่วนของท่าเรือ F เฟสแรก เสร็จปี 68 จะเพิ่มขีดความสามารถรองรับสินค้าได้ 18 ล้านทีอียู ซึ่ง กทท.จะต้องทำ Acrtion Plan เพื่อส่งสัญญาณให้ภาคเอกชนรับรู้ เพื่อทำแผนใช้ท่าเรือให้เต็มประสิทธิภาพ ส่วนโครงการแลนด์บริดจ์ เฟสแรก จะเสร็จปี 2572 มีเป้าหมายดึงเรือสินค้าจากช่องแคบมะละกาประมาณ 10% มาใช้ ซึ่งปัจจุบันช่องแคบมะละกามีเรือประมาณ 8 หมื่นลำ/ปี จากการประมาณการ คาดว่าอีก 10 ปีจะเพิ่มเป็น 1.2 แสนลำ ซึ่งช่องแคบมะละกาจะแน่น ดังนั้นการพัฒนาแลนด์บริดจ์ของไทยคือนำวิกฤตดังกล่าวมาสร้างโอกาส

“ปัจจุบันท่าเรือแหลมฉบังอยู่ในอันดับ 20 ของโลก โดยมีปริมาณสินค้าที่ 8 ล้านทีอียู การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 เสร็จในปี 2568 ขีดความสามารถรองรับเป็น 18 ล้านทีอียู ส่วนแลนด์บริดจ์เสร็จปี 2572 รองรับประมาณ 19-21 ล้านทีอียู รวม 2 แห่งรองรับได้เพิ่มอีกเท่าตัว หรือประมาณ 40 ล้านทีอียู คาดหวังว่าไทยจะขึ้นเป็นท่าเรืออันดับ 1 ใน 10 ของโลก” นายศักดิ์สยาม กล่าว

ทั้งนี้ เพื่อให้ กทท.มีความสามารถและความพร้อมในการรองรับการบริหารท่าเรือระดับเวิลด์คลาส ให้กทท.พิจารณาศึกษาการปรับรูปแบบโครงสร้างของการบริหาร กทท.ให้ดำเนินการบริหารจัดการที่ทันสมัยทันต่อเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและความผันผวนของเศรษฐกิจ โดยต้องศึกษาให้รอบด้านและคำนึงถึงผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนทั้งสหภาพแรงงานและภาคเอกชน

สำหรับปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ต้องดำเนินการให้เป็นระบบ โดยมีการประชุมระดมความคิดเห็นร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง และวางแผนบริหารจัดการทั้งด้าน Demand และ Supply เพื่อลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ

พร้อมกับเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ โดยการเบิกจ่ายงบลงทุนของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจไม่น้อยกว่า ร้อยละ 95 ของกรอบวงเงินที่ได้รับอนุมัติเบิกจ่ายลงทุนตามมติคณะรัฐมนตรี โดยดำเนินการให้ถูกต้องตามระเบียบกฎหมาย มติคณะรัฐมนตรี หลักธรรมาภิบาล และการคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน

สำหรับผลการดำเนินงานด้านการเงินในปี 2564 กทท. มีรายได้โดยรวมเฉลี่ย 15,613 ล้านบาท กำไรสุทธิ 6,270 ล้านบาท และค่าใช้จ่าย 9,343 ล้านบาท ซึ่ง กทท.มีรายได้สูงสุดเกี่ยวกับสินค้าร้อยละ 70.75 รายได้เกี่ยวกับเรือร้อยละ 11.91 รายได้เกี่ยวกับค่าเช่าที่ดิน อาคารและคลังสินค้า ร้อยละ 9.54 รายได้เกี่ยวกับบริการ ร้อยละ 2.91 และรายได้อื่นๆ ร้อยละ 4.98






กำลังโหลดความคิดเห็น