xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.ชี้ปี65รายได้โตขึ้นกว่า2.26ล้านล. ผลพวงราคาน้ำมัน-ก๊าซฯดีดขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปตท.ลั่นปี65รายได้โตกว่าปีก่อนที่ 2.26ล้านล้านบาท เนื่องจากราคาน้ำมันและปิโตรเคมีดีดตัวสูงขึ้น ยันสงครามรัสเซีย-ยูเครน ไม่ส่งผลกระทบให้ไทยขาดแคลนน้ำมันแต่ราคาปรับสูงขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ เผยเตรียมตัดสินใจขั้นสุดท้าย( FID)ตั้งโรงงานผลิตรถอีวีในไตรมาส 2 นี้ ด้านกลุ่ม ปตท. อัดงบลงทุน 5 ปีนี้ วงเงิน 9.44แสนล้านบาท รุกนวัตกรรมพลังงานและอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทปตท.จำกัด (มหาชน)หรือPTTเปิดเผยว่าในปี2565 ปตท.คาดว่าจะมีรายได้เติบโตขึ้นกว่าปีก่อนที่มีรายได้รวม 2.26 ล้านล้านบาท เนื่องจากแนวโน้มราคาน้ำมัน ก๊าซฯและปิโตรเคมีปรับตัวสูงขึ้นกว่าปี2564 รวมทั้งบริษัทเตรียมขายธุรกิจถ่านหินที่อินโดนีเซีย คาดว่าจะได้ข้อสรุปในครึ่งแรกปี2565


ทั้งนี้ ปตท.คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 81-86 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากปีก่อนเฉลี่ยอยู่ที่ 69.2เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ส่วนค่าการกลั่น(GRM)ปีนี้เฉลี่ย 5.4-6.4เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล สูงขึ้นกว่าปีก่อนที่GRMเฉลี่ย3.4เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติปรับสูงขึ้น เช่นเดียวกับราคาปิโตรเคมีทั้งสายอะโรเมติกส์และโอเลฟินส์ ยกเว้นราคาเม็ดพลาสติกชนิดPPที่ราคาปรับลดลงเล็กน้อย

นายอรรถพล กล่าวถึงผลกระทบราคาพลังงานจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนว่า หากสถานการณ์สงครามยืดเยื้อจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมีโอกาสแตะ100เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล แต่ถ้าการเจรจายุติสงครามลงได้ราคาน้ำมันจะอ่อนตัวลงมา ไม่ว่าสถานการณ์จะออกมาในรูปแบบใด ปตท.ยืนยันว่าไทยจะไม่เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำมัน แต่ราคาขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากแหล่งจัดหาน้ำมันอยู่ห่างไกลจากพื้นที่สู้รบ แต่หากสหรัฐฯเลิกมาตรการคว่ำบาตรประเทศอิหร่าน จะส่งผลให้อิหร่านส่งออกน้ำมันเข้ามาในตลาดทำให้ราคาน้ำมันอ่อนตัวลงได้บ้าง

ส่วนแนวโน้มที่ก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ในภูมิภาคเอเชียจะตึงตัวขึ้นจากสหรัฐฯและหลายประเทศได้ประกาศคว่ำบาตรรัสเซีย รวมทั้งบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ทั้งบีพี และเอ็กซอน ประกาศถอนตัวการลงทุนในรัสเซีย ซึ่งมีผลทางจิตวิทยาทำให้ราคาLNGขยับขึ้นได้

ทั้งนี้ จากราคาLNGตลาดจร(Spot)ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ปตท.ได้รับมอบหมายให้นำเข้าLNGตลาดจรเพิ่ม 4.5ล้านตันในปีนี้นอกเหนือจากปริมาณนำเข้าLNG ตามสัญญาระยะยาว 5.2 ล้านตันต่อปี เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ก๊าซฯที่เพิ่มขึ้นและรองรับปริมาณก๊าซฯที่หายไปส่วนหนึ่งจากโครงการเอราวัณ โดยบริษัทเอกชนที่ได้รับใบอนุญาตในการจัดหาและนำเข้า(Shipper)คงไม่มีใครนำเข้าLNGที่มีราคาสูง เบื้องต้นปตท.ได้มีการนำเข้าLNGช่วงเดือนม.ค.-ก.พ.2565 อยู่ที่ 6แสนตัน และเดือนมี.ค.อยู่ระหว่างพิจารณาปริมาณการนำเข้า ซึ่งราคาSpot LNG เดือนม.ค.2565 ที่ 30เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู และเดือนก.พ.2565 ราคาSpotที่26.5เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู


นายอรรถพล กล่าวถึงกรณีที่โททาลฯตัดสินใจถอนตัวจากโครงการยาดานา ประเทศเมียนมาว่า เหตุการณ์ในประเทศเมียนมาทั่วโลกกำลังจับตาดูอยู่ ในฐานะที่กลุ่มปตท.ถือหุ้นในโครงการยาดานานั้นเห็นว่าการโครงการยาดานามีความสำคัญเพื่อใช้ผลิตไฟฟ้าให้กับคนไทยและคนเมียนมา ดังนั้นการถอนตัวไม่ได้มีผลแค่แซงชั่นทหารเมียนมาเท่านั้น แต่กระทบต่อมนุษยธรรมและความเป็นอยู่ของคนทั้งสองประเทศ เพราะก๊าซฯจากโครงการยาดานานำไปใช้ผลิตไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วน 10% ของการผลิตไฟฟ้าในไทย ขณะที่เมียนมาคิดเป็นสัดส่วน 50% ของการผลิตไฟฟ้า

สำหรับงบลงทุนของกลุ่มปตท. 5ปี(2565-2569)อยู่ที่ 944,000 ล้านบาทหรือราว29,000ล้านเหรียญสหรัฐ ใช้ในธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้น 54% ธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย 31 % ธุรกิจไฟฟ้า4% และ ธุรกิจที่ปตท.ดำเนินการเอง 11%

ส่วนงบลงทุน 5ปีนี้ของปตท.และบริษัทย่อยที่ปตท.ถือหุ้น100% อยู่ที่ 102,165 ล้านบาท โดย 80% ใช้ขยายการลงทุนในธุรกิจหลัก เช่น โรงแยกก๊าซฯ,ท่อส่งก๊าซฯ คลังLNG และท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 ส่วนลงทุนที่เหลือราว 20% เป็นการลงทุนในธุรกิจใหม่ โดยปีนี้ ปตท.มีแผนขยายการลงทุนทั้งการร่วมทุน การเข้าซื้อหรือควบรวมกิจการ(M&A)เพิ่มเติมด้วย


โดยตามแผนลงทุน 5 ปีตามวิสัยทัศน์ใหม่” Powering Life with Future Energy and Beyond ขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังแห่งอนาคต” ในส่วนของ Future Energy ปตท.จะมุ่งสู่ธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งการรุกธุรกิจไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในต่างประเทศมี บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เป็นแกนหลัก ด้วยเป้าหมาย 12 กิกะวัตต์ ในปี 2573 (ค.ศ.2030) พร้อมจัดตั้ง บริษัท อรุณ พลัส จำกัด เดินหน้าธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร (EV Value Chain) โดยร่วมมือกับฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn) ตั้ง บริษัท ฮอริษอน พลัส จำกัด บริษัทร่วมทุนเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายตลาดและสร้างฐานการผลิต EV ในไทย คาดว่าจะตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย(FID)ในไตรมาส2นี้ และก่อสร้างโรงงานในไทยปี2566 คาดว่าเริ่มการผลิตรถอีวีในปีไตรมาส1/2567 กำลังผลิตเฟสแรก 50,000 คัน และผลิตเฟส 2 ราว 150,000 คันต่อปีในปี2573 ส่วนลูกค้าที่จะเข้ามาใช้บริการขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาร่วมกันซึ่งมีอยู่หลายรายที่สนใจ


นอกจากนี้ปตท. จัดตั้งบริษัท นูออโว พลัส จำกัด (NUOVO PLUS) เพื่อเป็น หลักขับเคลื่อนการลงทุนด้านแบตเตอรี่ของกลุ่ม ปตท. โดยร่วมทุนกับ GPSC ในการสนับสนุนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในห่วงโซ่ธุรกิจแบตเตอรี่ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง (Battery Value Chain) นอกจากนี้ ได้จัดตั้งบริษัท อีวี มี พลัส จำกัด (EVME PLUS) เพื่อให้บริการด้านดิจิทัลแพลตฟอร์ม ส่งเสริม และสร้างระบบนิเวศธุรกิจให้เกิดการใช้ EV อย่างแพร่หลายในประเทศ อาทิ บริการให้เช่า EV บริการข้อมูลเกี่ยวกับสถานีอัดประจุไฟฟ้า และสถานีซ่อมบำรุง EV


ส่วนBeyond : รุกธุรกิจใหม่ มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทย ทางปตท.รุกสู่ธุรกิจวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต (Life Science) โดยมี บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจ เพื่อส่งเสริมสาธารณสุขคนไทยให้มั่นคง ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา อินโนบิก ได้ร่วมนำเข้าและบริจาคยาเรมเดซิเวียร์ 12,000 ขวด และยาฟาวิพิราเวียร์ 1.2 ล้านเม็ดให้กับประเทศเพื่อดูแลประชาชน นอกจากนี้ กลุ่ม ปตท. ยังมุ่งเข้าสู่กลุ่มผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง (High Value Business) ต่อยอดจากธุรกิจปิโตรเคมี ด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง เสริมสร้างความแข็งแกร่งธุรกิจน้ำมันและเสริมสร้างธุรกิจไลฟ์สไตล์ ตลอดจนการเข้าสู่ธุรกิจโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐาน (Logistics & Infrastructure) ระบบปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ และเทคโนโลยีดิจิทัล (AI, Robotics & Digitalization)


กำลังโหลดความคิดเห็น