xs
xsm
sm
md
lg

JP ลุย OEM ผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารสกัดจากกัญชง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการรายวัน 360 - JP’ เฮ หลัง อย.ไฟเขียวใบอนุญาตผลิตผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารสกัดจากกัญชงเป็นวัตถุดิบ พร้อมเร่งยื่นขอใบอนุญาตสินค้าที่ใช้สารสกัดจากกัญชาเพิ่มเติม ชูเป็นเอกชนอันดับต้นๆ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มีฐานผลิตเข้าเกณฑ์การกำกับภาครัฐ

ดร.สิทธิชัย แดงประเสริฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงงานเภสัชอุตสาหกรรม เจเอสพี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ JP ผู้ดำเนินธุรกิจพัฒนา ผลิตและจำหน่าย ยาแผนปัจจุบัน ยาแผนโบราณ ผลิตภัณฑ์สมุนไพรและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแบบครบวงจร เปิดเผยว่า หลังจากบริษัทฯ ได้ยื่นขอใบอนุญาตผลิต (ที่มิใช่การปลูก) ยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข รองรับแผนรุกขยายตลาดผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารสกัดจากกัญชงในกลุ่มธุรกิจรับจ้างผลิตภายใต้แบรนด์ของลูกค้า (OEM)
 
ล่าสุด อย.ได้ให้ใบอนุญาตแก่ทาง JP เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และในขั้นตอนต่อไปนั้น บริษัทฯ จะเตรียมการผลิตสินค้าตัวอย่างให้แก่ลูกค้าที่จ้างผลิต (OEM) ทั้งในกลุ่มผลิตภัณฑ์สมุนไพรและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ควบคู่กับการยื่นขอจดทะเบียนหรือจดแจ้งเลขสารบบอาหารกับทาง อย. และผลิตสารสกัดจากกัญชง Full Spectrum, Broad Spectrum, CBD Isolate ละลายน้ำให้บริษัท อัลฟ่า ไบโอเทค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บริษัท อัลฟ่า ดิวิชั่นส์ จำกัด (มหาชน) (“ALPHAX”)
 
ขณะเดียวกัน บริษัทฯ อยู่ระหว่างการเตรียมยื่นเอกสารเพื่อขอใบอนุญาต ครอบครอง ผลิต จำหน่าย ผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารสกัดจากกัญชา คาดว่าจะสามารถยื่นได้ในเร็วๆ นี้ หลังจากที่ภาครัฐได้ประกาศ พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. 2565 โดยปลดล็อกกัญชาให้พ้นจากยาเสพติดประเภท 5 เพื่อให้เกิดการนำกัญชามาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดทางการแพทย์ โดยสามารถนำสารสกัดจากกัญชามาเป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปเพื่อนำมาใช้ด้านการแพทย์ เช่น ยาแผนปัจจุบัน ยาสมุนไพรและยาแผนโบราณ
 
ทั้งนี้ JP ถือเป็นบริษัทภาคเอกชนอันดับต้นๆ ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มีศักยภาพการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารสกัดจากกัญชา จากข้อกำหนดของกฎหมายสำหรับผู้ขอใบอนุญาตการผลิตสินค้านั้น ต้องเป็นโรงงานที่ได้มาตรฐานการผลิตยา (GMP PIC/s) จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งสอดคล้องและทัดเทียมกับมาตรฐานของสหภาพยุโรปและมาตรฐาน GMP จึงเป็นโอกาสนำความสามารถด้านการผลิตของโรงงานที่จังหวัดลำพูนเพื่อเข้าไปตอบสนองความต้องการของลูกค้า OEM เพื่อพัฒนาและผลิตผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารสกัดจากกัญชา เมื่อได้รับใบอนุญาตจากทาง อย.ต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น