xs
xsm
sm
md
lg

“อสมท” ทุ่ม 500 ล้าน คว้า 47 คลื่นวิทยุ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการรายวัน 360 - อสมท ยืนหนึ่งเครือข่ายวิทยุระดับชาติ คว้า 47 คลื่นวิทยุครอบคลุมทั่วประเทศ ด้วยงบลงทุน 500 ล้านบาท พร้อมเดินหน้าขยายดิจิทัล แพลตฟอร์มควบคู่พัฒนาคอนเทนต์ ตอบโจทย์ผู้ฟังทุกกลุ่ม มั่นใจจ่ายค่าสัมปทานครบภายใน 5 ปี ส่วนรายได้เชื่อทำได้ต่อเนื่องที่ปีละ 25% ของรายได้รวม

รศ.เกษมศานต์ โชติชาครพันธุ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า อสมท มีความตั้งใจในการยื่นประมูลคลื่นความถี่วิทยุระบบเอฟเอ็มมากที่สุด รวมทั้งสิ้น 55 คลื่น แบ่งเป็นคลื่นความถี่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล จำนวน 6 คลื่น และพื้นที่ภูมิภาค จำนวน 49 คลื่น

โดยเหตุผลของการยื่นประมูลในครั้งนี้ ประกอบด้วย 1. ความสามารถในการสร้างกำไร 2. ความแข็งแกร่งด้านเครือข่ายที่มีสถานีครบทั้ง 5 ภาคทั่วประเทศ และ 3. ความรับผิดชอบต่อสังคมในแง่ของการเป็นรัฐวิสาหกิจ


ผลของการประมูลในครั้งนี้ อสมท ใช้งบในการลงทุน 500 ล้านบาท มาจากเงินหมุนเวียนของบริษัทและสถาบันการเงินบางส่วน คาดว่าจะชำระครบภายใน 5 ปี จากสัญญาสัมปทานทั้งหมด 7 ปี ซึ่งทาง อสมท เป็นผู้เสนอในราคาสูงสุดรวม 47 คลื่น แบ่งเป็น 1. กรุงเทพมหานครและปริมณฑล 6 คลื่น 2. ภูมิภาค 41 คลื่น ได้แก่ ภาคกลางและตะวันออก 6 จังหวัด, ภาคเหนือ 11 จังหวัด, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10 จังหวัด และภาคใต้ 14 จังหวัด

ทั้งนี้ หากสำนักงาน กสทช.รับรองผลการประมูลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อสมท จะเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ระดับชาติเพียงรายเดียว เนื่องจากมีเครือข่ายครอบคลุมพื้นที่ (Network Coverage Area) ทุกภูมิภาคตามเกณฑ์ที่สำนักงาน กสทช.กำหนด

“อสมท มีความตั้งใจที่จะเข้าร่วมประมูลทั้งหมด 55 คลื่น จาก 71 คลื่น และได้มา 47 คลื่น โดยคลื่นที่ไม่ได้มาและที่ไม่ได้ประมูลรวม 8 คลื่นนั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อแผนการดำเนินธุรกิจวิทยุแต่อย่างใด หลังจากได้คลื่นวิทยุมาแล้ว จากนี้จะเน้นสร้างการรับรู้ ตอกย้ำจุดแข็งเครือข่ายระดับชาติ จากที่ อสมท มีสถานีครบทั้ง 5 ภาค ครอบคลุมทั่วประเทศเพียงรายเดียว” รศ. เกษมศานต์กล่าว

สำหรับแผนการดำเนินงานจากนี้ จะเน้นใน 5 ส่วนหลัก คือ 1. ปรับปรุงรูปแบบโครงสร้างการทำงานของธุรกิจวิทยุ 2. ปรับเปลี่ยนผังรายการ การจัดการต่างๆ รวมถึงบริหารงานในรูปแบบใหม่ๆ 3. จัดสรรเวลาการออกอากาศ 4. ออกอากาศในรูปแบบคู่ขนาน และ 5. จัดกิจกรรมเฉพาะกลุ่ม


รศ.เกษมศานต์ กล่าวต่อว่า วิทยุถือเป็นธุรกิจหนึ่งที่สำคัญของ อสมท เฉลี่ยต่อปีทำรายได้ให้ อสมท ไม่ต่ำกว่า 24-25% ของรายได้รวม เช่น ปี 2563 ทำรายได้อยู่ที่ 447 ล้านบาท คิดเป็น 31% จากรายได้รวม 1,511 ล้านบาท ส่วนในปี 2564 รายได้วิทยุ 3 ไตรมาส (ม.ค-ก.ย) ทำได้ 297 ล้านบาท คิดเป็น 26% จากรายได้รวม 1,141 ล้านบาท ซึ่งการประมูลคลื่นวิทยุในครั้งนี้ อสมทยังประมาณการรายได้วิทยุปี 2565 ไว้ไม่ต่ำกว่า 24-25% ตามแผนเดิม อีกทั้งยังเน้นก้าวสู่โลกออนไลน์โดยยังคงผสานกับสื่อเดิม มุ่งสู่ดิจิทัลแพลตฟอร์มควบคู่พัฒนาคอนเทนต์

อย่างไรก็ตาม จากการประมูลในครั้งนี้มองว่าจะมีผู้เล่นใหม่ๆ เข้าสู่ธุรกิจนี้เพิ่มขึ้น ทำให้ภาพการแข่งขันจะรุนแรงมากขึ้นเช่นกัน โดยมองว่ากลยุทธ์การแข่งขันของวิทยุไม่ได้แตกต่างกัน แต่ต่างกันที่เรื่องของการบริหารจัดการ มีการยกระดับของกลยุทธ์ธุรกิจ มุ่งเน้นในเรื่องบริหารจัดการที่รวดเร็ว ให้ตรงเป้าหมายมากที่สุด

ส่วนภาพรวมมูลค่าสื่อวิทยุในปีนี้จะเป็นไปในทิศทางใดนั้นขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยหลัก คือ 1. การประมูลคลื่นวิทยุที่ต้องใช้งบลงทุนและทำให้มีผู้เล่นในตลาดมากขึ้น 2. โรคระบาด ที่รายได้ส่วนหนึ่งจากอีเวนต์ตลอด 2 ปีไม่มีเลย ถ้าปีนี้ดีขึ้นจัดกิจกรรมได้เงินในส่วนของอีเวนต์ก็จะเพิ่มเข้ามา 3. ในส่วนของผู้ใช้บริการคลื่นที่มีอยู่ ถ้าผลการประมูลชัดเจนขึ้นจะเห็นภาพการดำเนินธุรกิจว่าจะออกมาเป็นอย่างไร






กำลังโหลดความคิดเห็น