กลุ่มยานยนต์ ส.อ.ท.ยังมองเป้าหมายผลิตรถยนต์ 2 ล้านคันได้ในอีกไม่เกิน 2 ปีข้างหน้า ลั่นแพกเกจ EV ไม่กระทบเหตุยังต้องใช้ระยะเวลาในการเปลี่ยนผ่าน ด้านสมาคมผู้ประกอบการ NGV หนุนส่งเสริม LNG กับกลุ่มรถใหญ่ดีกว่าไป EV ชี้ตอบโจทย์รับมือโลกร้อนได้ดีกว่า รับธุรกิจ NGV เข้าสู่ภาวะ Sunset
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ปี 2565 กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท.ได้ตั้งเป้าหมายการผลิตรถยนต์ในประเทศไว้ 1.8 ล้านคัน และคาดว่าไม่เกิน 2 ปีจะก้าวไปสู่ระดับ 2 ล้านคันได้โดยไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) 15 ก.พ.เห็นชอบส่งเสริมการใช้อีวี 3 ประเภท ได้แก่ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ และรถกระบะที่จะมีผลบังคับใช้ในเดือน พ.ค.แต่อย่างใด
“ปีนี้เราตั้งเป้าการผลิตรถยนต์ซึ่งก็คือเป็นเครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) ไว้ 1.8 ล้านคัน เนื่องจากมองว่าภาคการท่องเที่ยวของไทยยังคงไม่ฟื้นตัวมากนักเพราะต่างชาติยังไม่เข้ามาอย่างมีนัยสำคัญแต่จะค่อยๆ ดีขึ้นในอีก 1-2 ปีจากนี้ไป ดังนั้นจึงมองว่าในอีก 2 ปีโอกาสการผลิตรถยนต์จะไปสู่ระดับ 2 ล้านคันได้แม้ว่ารัฐจะส่งเสริมการใช้ EV แต่ราคา EV เองภาพรวมแม้ว่ารัฐจะมีการส่งเสริมระยะแรกให้นำเข้าโดยมีการอุดหนุนเงินให้สูงสุด 1.5 แสนบาทและลดอากรนำเข้าแต่ราคารวมๆ ก็ยังคงอยู่ระดับ 7-8 แสนบาทต่อคันหากเทียบกับอีโคคาร์ก็ยังคงสูง ขณะที่สถานีชาร์จเองก็ยังคงไม่เพียงพอ ยังต้องอาศัยเวลาในการพัฒนาตลาด“ นายสุรพงษ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม คาดว่าตลาดรถ EV จะเติบโตขึ้นต่อเนื่องและจะเห็นภาพชัดเจนปลายไตรมาส 3-4 ปีนี้ และคาดว่าจะเกิดการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงปี 2567-68 เมื่อมีการตัดสินใจการผลิตในประเทศอย่างเป็นระบบซึ่งก็เป็นไปตามแนวทางที่รัฐบาลวางไว้ที่จูงใจการนำเข้ามาทำตลาดในระยะแรกเพื่อเป็นเงื่อนไขในการนำไปสู่การผลิตภายในประเทศ
นายศักดิ์ชัย ลีสวรรค์ นายกสมาคมผู้ประกอบการก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) กล่าวว่า การที่รัฐส่งเสริมการใช้รถ EV สมาคมฯ เห็นว่ารถขนาดใหญ่ ทั้งรถบรรทุก รถบัส รถดัมป์ ควรส่งเสริมการใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) แทน ซึ่งขณะนี้บมจ.ปตท.ส่งเสริมให้ส่วนลดราคา 40% ของดีเซลตลอดสัญญา 10 ปีโดยต้องรวมตัวกันเป็นนิติบุคคลเนื่องจากกฎหมายยังไม่เปิดให้เป็นการจำหน่ายแบบสาธารณะ โดย ปตท.จะลงทุนสถานีให้เพียงแต่ต้องเปลี่ยนถังรองรับราว 4 แสนบาทต่อคันสำหรับรถใหม่ เนื่องจากคุณสมบัติของ LNG เป็นของเหลวมีความบริสุทธิ์ 100% ต่างจาก NGV หรือต่างประเทศเรียก CNG มีคุณสมบัติเป็นก๊าซและมีการผสมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไป
“รถเล็กรัฐส่งเสริมไป EV แต่รถขนาดใหญ่ เช่น บรรทุกหัวลาก รถบัส รัฐควรมองไปที่ LNG โดยตรงเลยจะดีกว่าแทนที่จะไปส่งเสริมใช้ EV เพราะที่สุดรถจะต้องย้อนกลับไปใช้ไฟฟ้าที่ส่วนหนึ่งก็ยังคงเป็นฟอสซิล แล้วรัฐก็ไปส่งเสริมการใช้ LNG ที่ไฟฟ้าอีก การใช้ LNG ตรงในรถจะดีกว่าในการรับมือกับภาวะโลกร้อนภายใต้ข้อตกลงการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2564 หรือ COP26” นายศักดิ์ชัยกล่าว
นายศักดิ์ชัยกล่าวยอมรับว่าขณะนี้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ NGV ได้เข้าสู่ภาวะธุรกิจไร้อนาคตหรือ Sunset Industry แล้วเนื่องจากผู้ใช้มีจำนวนที่ลดลงต่อเนื่องโดยเฉพาะกลุ่มรถยนต์ขนาดใหญ่โดยเฉพาะรถบรรทุกที่เดิมได้ลงทุนในการติดตั้งอุปกรณ์ในการใช้ NGV จำนวนมาก แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาราคา NGV ได้ปรับสูงขึ้นเพื่อให้สะท้อนตลาดโลกขณะที่น้ำมันกลับถูกกว่าจึงทำให้กลุ่มรถบรรทุกและรถขนาดใหญ่ถอดถังและอุปกรณ์ใช้ NGV ออกไปแล้วใช้ดีเซลแทนเมื่อดีเซลราคาแพงขณะนี้จึงทำให้กลุ่มรถบรรทุกเผชิญต้นทุนที่สูงขึ้น