xs
xsm
sm
md
lg

กยท.เผยผลผลิตยางปี 65 ราคายางฉลุย แถมปัจจัยบวกเพียบ ยกระดับสู่องค์กรดิจิทัล เปิดตัว 2 แอปฯ เด่นเพื่อชาวสวนยาง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การยางแห่งประเทศไทย หรือ กยท.ได้จัดกิจกรรม "Talk About Rubber" ผ่านการประชุมออนไลน์ระบบ Zoom และออฟไลน์แบบ On site โดยมีนายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เป็นประธานเปิด พร้อมบรรยายสรุปประเด็นการบริหารงาน กยท. ภายใต้การขับเคลื่อนสู่องค์กรดิจิทัล และ น.ส.อธิวีณ์ แดงกนิษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจยาง นำเสนอประเด็นวิเคราะห์สถานการณ์ยางพาราไทย ไตรมาส 2/256

นายณกรณ์กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ราคายางพาราในวันนี้ถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจ ด้วยมีปัจจัยสนับสนุนหลายประการ เช่น การเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลปิดกรีด โดยพื้นที่ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคตะวันออก คาดว่าจะเริ่มปิดกรีดตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้มีปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดลดลง และทาง ANRPC คาดว่าในปี 2565 ปริมาณผลผลิตยางมีน้อยกว่าความต้องการใช้ประมาณ 300,000-500,000 ตัน นับเป็นปัจจัยเชิงบวกต่อราคา อีกทั้งยังมีปัจจัยสนับสนุนเรื่องของราคาน้ำมัน และอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงิน เป็นต้น ขณะเดียวกัน กยท.ยังมีมาตรการคู่ขนานเพื่อสนับสนุนในเรื่องของราคายาง ทั้งมาตรการส่งเสริมการใช้ยาง และการชะลอขายยางเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา

ขณะที่การส่งออกยางและสต๊อกยาง จากการวิเคราะห์ของ กยท. ชี้ว่าปี 2565 จะมีการส่งออกยาง 4.218 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.03% โดยในช่วงไตรมาสที่ 1 คาดว่าจะมีการส่งออกยางประมาณ 1.107 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 4.29% ในขณะที่สต๊อกยางมีแนวโน้มลดลง จากปริมาณสต๊อกชิงเต่าที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยหนุนให้การส่งออกเพิ่มขึ้น

ส่วนโอกาสของยางพาราในปี 2565 ทาง กยท.มองว่าการแพร่ระบาดของ COVID- 19 ทำให้มีความต้องการใช้ถุงมือยางและชุด PPE มากขึ้น ขณะเดียวกันกระแสการลดโลกร้อนทำให้มีความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในจีนขยายตัวเพิ่มขึ้น และความต้องการยางล้อสำหรับรถไฟฟ้าก็เพิ่มขึ้นด้วย พร้อมกันนี้ยังมีประเด็นของเศรษฐกิจจีนที่เติบโต มีการขยายโรงงาน มีการลงทุนด้านอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น และการเปิดใช้เส้นทางรถไฟจีน-ลาว ในอนาคต เป็นโอกาสของการส่งออกยางทางรถไฟ ด้วยใช้เวลาจากลาวไปจีนประมาณ 3 วัน จากเดิมขนส่งจากท่าเรือแหลมฉบังถึงชิงเต่าใช้เวลาประมาณ 14-16 วัน ขณะที่ประเทศญี่ปุ่นมีความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ยางพารา เช่น ยางยานพาหนะ ถุงมือยาง สายยางในปริมาณเพิ่มมากขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น