xs
xsm
sm
md
lg

กรมเชื้อเพลิงฯ เร่งบริหารก๊าซฯ รับมือครั้งประวัติศาสตร์ เปลี่ยนผ่าน "เอราวัณ" จากสัมปทานสู่ PSC

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเร่งบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติเพื่อความมั่นคงของประเทศในระยะสั้น และกลางเพื่อรับการเปลี่ยนผ่าน "แหล่งก๊าซเอราวัณ" ที่ใหญ่สุดในไทยครั้งประวัติศาสตร์จากระบบสัมปทานสู่ PSC และเปลี่ยนคู่สัญญาใหม่ ลั่นไม่มีสะดุดแม้การผลิตก๊าซอาจไม่เป็นไปตามแผน เร่งเจรจาผู้ผลิตทุกรายในประเทศและ JDA เพิ่มผลิต รับซื้อ

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน เ
ปิดเผยว่า ปี 2565 กรมฯ ได้เตรียมแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติเพื่อสร้างความมั่นคงระบบพลังงานของประเทศที่จะรองรับการเปลี่ยนผ่านประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญจากระบบสัมปทานปิโตรเลียมที่ใช้มาเกือบ 50 ปีในแหล่งก๊าซเอราวัณ (G1/61) ที่จะสิ้นสุด เม.ย. 65 มาสู่สัญญาระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) และเปลี่ยนคู่สัญญาดำเนินการจากกลุ่มเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด มาเป็นรายใหม่คือ บริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด หรือ ปตท.สผ. อีดี และบริษัท เอ็มพี จี2 (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะผู้รับสัญญา PSC รายใหม่ คาดว่าแหล่งดังกล่าวจะยังเดินหน้าต่อไปได้ไม่มีสะดุดแม้อาจไม่เป็นไปตามเป้าหมายนักแต่การเพิ่มกำลังการผลิตจะดำเนินการให้ได้อย่างรวดเร็ว

“กรมฯ ได้ประสานการเจรจาผู้สัมปทานเดิมกับผู้ที่ชนะประมูลใหม่มาตลอด เรื่องการดำเนินงานช่วงเปลี่ยนผ่าน (Transition Period) ซึ่งมีรายละเอียดทั้งการเข้าพื้นที่ของแหล่งเอราวัณก่อนจะสิ้นอายุสัมปทาน และเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อไม่ให้กระทบประชาชน ซึ่งล่าสุด 20 ธ.ค. 64 ได้มีการลงนามร่วมกัน 3 ฉบับที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านแบบไร้รอยต่อแม้ว่ากำลังผลิตช่วงแรกอาจไม่เป็นไปตามแผนแต่ก็ยังเดินหน้าต่อไม่มีสะดุด ส่วนแหล่งบงกชทุกอย่างเป็นไปตามแผนไม่มีปัญหาอะไร ซึ่งการเปลี่ยนมาสู่ระบบ PSC ถือป็นครั้งแรกที่กรมฯ ได้ตั้งกองบริหารสัญญาและหาบุคลากรมารับภารกิจดังกล่าวด้วย” นายนราวุธกล่าว

ทั้งนี้ เพื่อการบริหารจัดการก๊าซฯ ให้มั่นคงระยะสั้นได้แจ้งไปยังผู้รับสัมปทานทุกรายขอให้ดูแลความพร้อมการผลิตปิโตรเลียมให้ดีสุด ไม่มีแผนชัตดาวน์ และผู้ซื้อโดยเฉพาะ บมจ.ปตท.สามารถเรียกรับก๊าซฯส่วนเกินจากความสามารถที่ผู้ขายรับรองว่าจะส่งก๊าซให้ได้ในแต่ละวัน (DCQ) ที่ส่วนใหญ่ระบุไว้ 5-15% ซึ่งเกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ขณะเดียวกัน กรมฯ ยังร่วมปตท.จัดหาก๊าซฯ ส่วนเพิ่มจากแหล่งอาทิตย์เข้ามาเพิ่มจากแปลง G2/61 อีก 60 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันเป็น 280 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน แปลง B8/32 อีก 16 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน ขณะที่แหล่งบงกชได้เร่งประสานกับ ปตท.สผ.ให้คงการผลิตเดิมไว้ก่อน รวมถึงร่วมกับ ปตท.ประสานไปยังแหล่งพัฒนาพื้นที่ไทย-มาเลเซีย (JDA) ขอซื้อก๊าซเพิ่มเติมจาก A18 และ B17 ซึ่งทั้งหมดเป็นการบริหารระยะสั้นและกลางเพื่อรอช่วงการประมูลรอบ 24 มาเติมความมั่นคงเพิ่มในระยะยาว


นายศุภลักษณ์ พาฬอนุรักษ์ โฆษกกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า กรมฯ ยังเตรียมความพร้อมในการสนับสนุนนโยบายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ รวมถึงการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางการค้าในอนาคต เพื่อมุ่งสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ โดยการร่วมมือกับบริษัทผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เริ่มทำการศึกษาและทดลองใช้เทคโนโลยี Carbon Capture and Storage (CCS) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลในการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากการประกอบกิจการต่างๆ เช่น การสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ลงไปเก็บในชั้นหินใต้ดินในระดับความลึกที่มีความเหมาะสมในการกักเก็บ CO2 อย่างปลอดภัย เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้มีการปล่อย CO2 ในปริมาณมากเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งนับเป็นหนึ่งในมาตรการที่จะสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถมุ่งสู่พลังงานสะอาดได้
กำลังโหลดความคิดเห็น