xs
xsm
sm
md
lg

ศิลปิน OTOP รางวัลแห่งการสืบสานรากเหง้าภูมิปัญญาคู่ถิ่นไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หนังตะลุงเป็นศาสตร์และศิลป์ ซึ่งเป็นสมบัติ ของเรา...เราต้องรักษาไว้ถ้าชอบก็ให้แวะมาเยี่ยมชมได้” คำกล่าวของอาจารย์สมคิด ทองดี บิดาของประธานกลุ่มรักษ์คอน กลุ่มอาชีพผลิตภัณฑ์แกะหนังตะลุง ต.ปากนคร อ.เมือง นครศรีธรรมราช จ.นครศรีธรรมราช
หนังตะลุง เป็นศิลปะการแสดงประจำท้องถิ่นอย่างหนึ่งของภาคใต้ เชื่อกันว่าเลียนแบบมาจากหนังใหญ่แต่ย่อรูปหนังให้เล็กลง แสดงโดยการเชิดตัวหนังให้เคลื่อนไหวกิริยาให้เข้ารับบทพากย์ ผูกเรื่องให้สนุกสนาน สะท้อนสังคม การเมือง ในยุคแรก ๆ คงแสดงเรื่องรามเกียรติ์เหมือนกัน แต่เปลี่ยนบทพากย์มาเป็นภาษาท้องถิ่น เปลี่ยนเครื่องดนตรีจาก พิณพาทย์ ตะโพน มาเป็น ทับ กลอง ฉิ่ง โหม่ง ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีที่มีอยู่เดิมในภาคใต้ โดยมีตัวตลกหนังตะลุง เป็นตัวละครที่ขาดไม่ได้ ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งที่นายหนังจะสร้างความประทับใจให้กับคนดู ไม่ว่าจะเป็น อ้ายเท่ง อ้ายหนูนุ้ย นายยอดทอง ล้วนเลียนแบบมาจากบุคลิกของบุคคลที่เคยมีชีวิตอยู่จริงในจังหวัดภาคใต้ทั้งสิ้น

คุณป้าศิริมาศ สุวรรณสังข์ ประธานกลุ่มผลิตภัณท์แกะหนังตะลุง “รักษ์คอน” กล่าวด้วยความภูมิใจว่า หนังตะลุงเป็นศาสตร์และศิลป์ที่มีอัตลักษณ์และมีมนต์เสน่ห์ในตัวเอง กว่า 64 ปีมาแล้วที่ได้เติบโตมาพร้อมกับเสียงตอกหนังตะลุงของคุณพ่อสมคิด ทองดี ที่เป็นทั้งคนสร้างคนแสดงหนังตะลุง และยังเป็นศิลปินเพลงบอกของเมืองนครฯ ที่ได้ส่งเสริมกระบวนการผลิตตั้งแต่การเตรียมหนัง การร่างลวดลาย การแกะสลัก การลงสี และการประกอบ เรียกว่าได้รับการปลูกฝังและถ่ายทอดภูมิปัญญานี้ตั้งแต่เด็ก เกิดเป็นความผูกพันธ์ เห็นถึงคุณค่าและอยากจะสืบสานมรดกภูมิปัญญานี้ไว้ ซึ่งเมื่อกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย มีนโยบายส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น และคัดสรรผู้ประกอบการ OTOP ที่มีเรื่องราวความเป็นมา เปิดโอกาสให้ได้นำเรื่องราวของการแกะสลักหนังตะลุงเข้าสู่โครงการ “ศิลปิน OTOP” จนได้รับคัดเลือกให้เป็นศิลปินโอทอป ประเภท ของใช้ ของตกแต่ง ในปี 2559

“ภูมิใจทุกครั้งที่ได้ถ่ายทอดภูมิปัญญา วินาทีที่กรมการพัฒนาชุมชนติดต่อไปเพื่อมารับรางวัลเป็นช่วงเวลาที่หัวใจพองโต นี่คือผลตอบแทนของการรักในอาชีพที่เรามี” ศิริมาศ สุวรรณสังข์ กล่าว

สมัยก่อนหนังตะลุงนิยมเล่นในงานสมโภชหรืองานเฉลิมฉลองเท่านั้นด้วยการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยทำให้ต้องคิดอยู่ตลอดเวลาจะทำอย่างไรให้หนังตะลุงอยู่ต่อไปได้ จึงประยุกต์เอกลักษณ์ของศิลปะการแกะสลักหนังตะลุงให้เกิดความโดดเด่นและสวยงามมาประกอบกับเอกลักษณ์ของจังหวัดนครศรีธรรมราชที่มี “องค์พระบรมธาตุ” สถานที่ซึ่งเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจชาวนครศรีธรรมราช เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ นับเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนางานแกะสลักหนังตะลุง เพื่อใช้เป็นเครื่องประดับตกแต่งอาคาร ซึ่งการแกะสลักนั้นต้องใช้ประสบการณ์และความชำนาญ โดยความละเอียดของลายจะขึ้นอยู่กับความชำนาญของช่างแต่ละคน

นอกจากนี้ยังมีการประยุกต์การแกะสลักเข้ากับลาย “หัวนะโม” เครื่องรางของขลังที่คนคอน (นครศรีธรรมราช) รู้จักกันดี กลายเป็นเครื่องประดับที่โด่ดเด่นอีกอย่างของกลุ่มรักษ์คอน อย่างไรก็ตามคุณป้าศิริมาศตั้งใจถ่ายทอดภูมิปัญญานี้ให้แก่คนรุ่นหลังต่อไป เพื่อตอบแทนคุณแผ่นดินและ ขอบคุณกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ที่ให้โอกาสและสร้างความภาคภูมิใจในวันนี้

กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย นำโดย นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน มีเป้าหมายในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากมั่นคงและชุมชนพึ่งตนเองได้ ดำเนินโครงการเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากมาตั้งแต่ปี 2546 กับโครงการ “หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์” ที่เป็นแนวทางหนึ่งที่จะสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชนให้สามารถยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของคนในชุมชนให้ดีขึ้น โดยการผลิตหรือจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นให้กลายเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ มีจุดเด่น เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง สอดคล้องกับวัฒนธรรมในแต่ละท้องถิ่น เป็นการส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าชุมชนไปยังตลาดทั้งในและต่างประเทศ เป็นการสร้างอาชีพ สร้างรายได้จากผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากหมู่บ้านหรือตำบล และต่อมาในปี 2559 ได้มีการต่อยอดเพื่อยกย่อง เชิดชูเกียรติ “ศิลปิน OTOP” ผู้อนุรักษ์สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น ผสมผสานการสร้างสรรค์ เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ทรงคุณค่าอย่างต่อเนื่อง จนเป็นที่ประจักษ์และได้รับการยอมรับจากสังคมอย่างกว้างขวาง และมีการถ่ายทอดภูมิปัญญาสู่เยาวชนและผู้สนใจ อีกทั้งยังสร้างคุณค่าและมูลค่าของผลิตภัณฑ์ OTOP ก่อเกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ นับเป็นการสร้างสรรค์ชุมชน สร้างคน สร้างชาติอย่างยั่งยืน


กำลังโหลดความคิดเห็น