xs
xsm
sm
md
lg

ส.อ.ท.หนุนรัฐเร่งนำเข้าแรงงานต่างด้าวรับความต้องการพุ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส.อ.ท.หนุนรัฐนำเข้าแรงงานต่างด้าวเร่งด่วน! หลังความต้องการทั้งภาคการผลิต ท่องเที่ยวและบริการมีสูงถึง 8 แสนคนจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจไทยเริ่มกลับมาทยอยฟื้นตัวมากขึ้น โดยเฉพาะภาคส่งออก

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ได้หารือกับกระทรวงแรงงานถึงความต้องการแรงงานต่างด้าวของภาคการผลิตที่มีจำนวน 5 แสนคน ภาคท่องเที่ยวและบริการ 3 แสนคนหรือรวมประมาณ 8 แสนคน โดยต้องการให้ภาครัฐเร่งผลักดันการนำเข้าให้เร็วขึ้นเพื่อรองรับความต้องการในการดำเนินธุรกิจซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่เริ่มมีการฟื้นตัว โดยทางกระทรวงแรงงานระบุจะเร่งดำเนินการโดยให้ภาคเอกชนไปลงทะเบียนหรือยื่นคำร้องขอนำเข้าคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (เมียนมา กัมพูชา และลาว) ตาม MOU ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

“ทางเอกชนได้ทยอยไปลงทะเบียนไว้แล้ว แต่ปัญหาการขาดแคลนยังคงไม่คลี่คลายเท่าที่ควรจะเป็นนัก โดยคาดหวังว่ารัฐจะทยอยนำเข้ามาเพื่อแก้ไขปัญหาได้ในระยะต่อไป ซึ่งผมในฐานะรองประธานที่ดูแล 45 กลุ่มอุตสาหกรรมล่าสุดทางกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอก็มาหารือว่ามีปัญหาการขาดแคลนแรงงานหลายหมื่นคน ก่อนหน้านี้ก็มีอุตสาหกรรมอื่นๆ ระบุถึงความต้องการแรงงานที่เพิ่มขึ้น เช่น กลุ่มอาหาร เพราะเศรษฐกิจโลกและไทยกำลังฟื้นตัวโดยเฉพาะภาคการส่งออกมีคำสั่งซื้อเข้ามาต่อเนื่อง” นายเกรียงไกรกล่าว

ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันว่าก่อนหน้านี้ที่ไทยเกิดการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้แรงงานจากเพื่อนบ้านกลับภูมิลำเนา เมื่อไทยคลายล็อกดาวน์และการเปิดประเทศเพื่อรับต่างชาติ รวมถึงการให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น ผับ บาร์ ฯลฯ กลับมาดำเนินการได้ภายใต้มาตรการที่กำหนด ส่งผลให้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานไร้ทักษะมีปริมาณสูงขึ้น แม้รัฐไม่เปิดให้นำเข้าแรงงานต่างด้าวก็มีขบวนการลักลอบนำเข้ามาแบบผิดกฎหมายโดยมีผลตอบแทนจูงใจในการนำเข้าต่อหัวในอัตราที่สูง ซึ่งขบวนการเหล่านี้นอกจากผู้ประกอบการจะต้องจ่ายเงินสูงขึ้นแล้วยังไม่มีกระบวนการคัดกรองผู้ที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อีกด้วยซึ่งอาจนำมาสู่ปัญหาการแพร่ระบาดเป็นคลัสเตอร์เช่นที่เคยเกิดขึ้นได้

“การนำเข้าแบบถูกกฎหมายจะต้องผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองตามจุดที่รัฐกำหนด เช่น จังหวัดสระแก้ว ที่นำร่องนำเข้าล็อตแรกแล้วตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 และกักตัวในสถานที่กักกันรูปแบบเฉพาะองค์กร (organization quarantine) ในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว ณ อาคารอินโดจีน Grand Residence ศูนย์ OQ บริษัท สุวรรณภูมิอินเตอร์เฮลท์เมด จำกัด ต้องกักตัวอย่างน้อย 7 วัน ตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากแรงงานกลุ่มนี้ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มจากประเทศต้นทาง และมีการซื้อกรมธรรม์ที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพและรักษาพยาบาล ซึ่งคุ้มครองการรักษาโรคโควิด-19 เมื่อครบกำหนดจะให้นายจ้างรับคนต่างด้าวไปยังสถานประกอบการ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้จะเป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจไทย ดังนั้นหากรัฐบาลเร่งให้เร็วขึ้นก็จะทำให้ขบวนการลักลอบนำเข้าลดลงหรือไม่มีในที่สุด” นายเกรียงไกรกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น