ผู้จัดการรายวัน 360 - “อาร์เอส กรุ๊ป” ปิดปากกระแสข่าวดีลซื้อขายตรงยูนิลีเวอร์ แต่ยอมรับมีการศึกษาลงทุนธุรกิจใหม่ๆ พร้อมงบการซื้อกิจการปีนี้ไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท อีกไม่น้อยกว่า 2 ดีล ชู 4 กลยุทธ์ขับเคลื่อน ปังธงรายได้ 5,100 ล้านบาทรับปี 65 ชู Popcoin ขับเคลื่อนเชื่อมต่อทุกธุรกิจ
จากกรณีที่มีกระแสข่าวว่า ทาง RS เปิดดีลเจรจาเข้าซื้อหน่วยธุรกิจขายตรงจากยูนิลีเวอร์ มูลค่ากว่า 900 ล้านบาท เพื่อเข้ามาเสริมธุรกิจ Omni Channel ของบริษัท ล่าสุดอาร์เอสแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแล้วลงนามโดย นายวิทวัส เวชชบุษกร กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน
โดยมีใจความสำคัญว่า ตามที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้สอบถามมายังบริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ("บริษัทฯ") และขอให้บริษัทฯ ชี้แจงถึงประเด็นเกี่ยวกับข้อมูลที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ข่าวหุ้น ฉบับลงวันที่ 24 มกราคม 2565 ว่าบริษัทฯเตรียมปิดดีลเจรจาซื้อกิจการยูนิลีเวอร์นั้น
บริษัทฯ ใคร่ขอเรียนชี้แจงว่า บริษัทฯ มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจบันเทิงที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน รวมทั้งการสร้างจุดยืนในฐานะผู้นำการผสมผสานความบันทิงและการค้าปลีกด้วยโมเดล Entertainmerce นอกจากนี้ จากการที่บริษัทฯ มีกลยุทธ์การทำ Mergers and Acquisitions (M&A) และ Joint Venture (JV) นั้น บริษัทฯ อยู่ในระหว่างการศึกษาการเข้าลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ เพื่อสร้างโอกาสในการเติบโตและขยาย Ecosystem ของอาร์เอส กรุ๊ป
อย่างไรก็ตาม หากมีข้อชี้แจงใดๆ ที่บริษัทฯ มีหน้าที่แจ้งสารสนเทศต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ บริษัทฯ จะแจ้งข้อมูลต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่อไป
***อาร์เอสเปิดแผนรุกปี 65
นายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า โควิด-19 ทำให้โลกเปลี่ยน ส่งผลให้เทคโนโลยีบล็อกเชนเติบโตอย่างรวดเร็ว บริษัทฯ จึงมองหาโซลูชันใหม่ๆ เพื่อทำให้ Entertainmerce สมบูรณ์ไร้รอยต่อยิ่งขึ้น จึงเป็นที่มาของ Popcoin ในฐานะเป็นสมาร์ทมาร์เกตติ้งแพลตฟอร์มที่จะเข้ามาทำให้ Ecosystem ของอาร์เอส กรุ๊ปนั้นขยายใหญ่ขึ้น มีประสิทธิภาพสูงสุด และสร้างการเติบโตใหม่ๆ
ปี 2565 นี้บริษัทยังคงให้ความสำคัญต่อผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลายสำหรับผู้บริโภคอยู่เหมือนเดิม แต่จะโฟกัสที่ดิจิทัลโปรดักต์ ดิจิทัลคอนเทนต์ และดิจิทัลเซอร์วิสมากขึ้น ผ่านการทำงานของ Popcoin ใช้เชื่อมลูกค้ากลุ่ม Baby Boomer, Gen X และ Gen Y ตอนต้นให้ได้รับ Benefits เพิ่มขึ้น รวมถึงใช้ Popcoin เข้าถึงกลุ่ม Gen Y ตอนปลาย Gen Z และ Alpha ซึ่งชื่นชอบการใช้เทคโนโลยี และ Adopt เทคโนโลยีได้รวดเร็ว ให้รู้จักอาร์เอส กรุ๊ปมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ อาร์เอส กรุ๊ป มี 4 กลยุทธ์สำคัญที่เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนการเติบโตของบริษัทในระยะยาว ซึ่งได้แก่ 1. การสร้างดิจิทัล อีโคโนมี บนโมเดลธุรกิจ Entertainmerce ที่แข็งแกร่ง, 2. เป็นองค์กรแห่งข้อมูล นำข้อมูลมาวิเคราะห์ และทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด, 3. ยกระดับบริษัทและผลิตภัณฑ์ของอาร์เอสให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เพื่อจับกลุ่มลูกค้า Mass Market และ 4. เพิ่มมูลค่าให้แก่บริษัท ผ่านการผนึกกำลังและจับมือกับพันธมิตรใหม่ๆ ในหลากหลายวงการ
“ปีนี้เป็นปีที่น่าสนใจและท้าทาย โดย Popcoin จะเป็นอาวุธสำคัญในการเชื่อมโยงธุรกิจและฐานลูกค้าเข้าด้วยกัน รวมถึงเพิ่มโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ เช่น กลุ่มสินค้าและบริการในรูปแบบดิจิทัล ภายใต้การดำเนินธุรกิจด้วย 4 กลยุทธ์ ซึ่งทางอาร์เอสได้วางรากฐานไว้ตั้งแต่ปีก่อน ดังนั้นในปีนี้จึงเป็นปีแห่งการเก็บเกี่ยว ที่จะทำให้บริษัทเติบโตและยั่งยืนต่อไป”
ด้านนายวิทวัส เวชชบุษกร ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการเงิน บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่เป้าหมาย คือ การดำเนินธุรกิจตามกลยุทธ์ LEAP โดย L คือ Lifestyle Wellbeing Solution, E คือ Entertainment Uplift, A คือ Asset Monetization และ P คือ Popcoin ซึ่งทั้ง 4 กลยุทธ์สำคัญ จะนำไปสนับสนุนการทำงานของธุรกิจในเครือ อาร์เอส กรุ๊ป ให้เติบโตก้าวกระโดดไปอย่างแข็งแกร่งและมั่นคง
สำหรับการนำกลยุทธ์ LEAP ไปสนับสนุนการทำธุรกิจ ได้แก่ 1. Lifestyle Wellbeing Solution มุ่งเน้นไปที่ธุรกิจคอมเมิร์ซ อย่าง อาร์เอส มออล์ มุ่งมั่นเป็น Your Wellbeing Partner เพิ่มสัดส่วนสินค้ากลุ่มโซเชียลและทราเวล จากปัจจุบันอาร์เอส มอลล์ มีสมาชิก 8 แสนราย สิ้นปี 65 คาดว่าจะเพิ่มเป็น 1.2 ล้านราย ส่วนบริษัท ไลฟ์สตาร์ จำกัด จะรีแบรนด์ใหม่ ภายใต้ 4 แบรนด์ คือ well u, Vitanature+, CAMU C และ Lifemate
2. Entertainment Uplift ยกระดับธุรกิจสื่อและบันเทิง โดยในส่วนของช่อง 8 จะรุกช่องทางออนไลน์และสร้างฐานแฟนคลับใหม่ๆ ผลิตคอนเทนต์ออนไลน์ ให้เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ อายุ 8-24 ปี เพิ่มออริจินัลคอนเทนต์ สร้างฐานผู้ชมกลุ่มใหม่อายุ 18-30 ปี ด้วยซีรีส์จากหนังที่ประสบความสำเร็จในอดีต อย่าง เจนนี่กลางวันครับ กลางคืนค่ะ และรายการจากทางโฟร์ท แอปเปิ้ล คือ Vibe Global Audition Reality TV talent และ Food Truck Battle ซีซั่น 2
ขณะที่ COOLISM มุ่งเน้นสร้างฐานผู้ฟัง วางแผนจัด 3 คอนเสิร์ตใหญ่ ได้แก่ kemikaze Party 2022 ในช่วงเดือนมิถุนายน, Dance Marathon 2022 ในช่วงเดือนตุลาคม และปิดท้ายปี 2022 ด้วย 21st Anniversary D2B Festival ส่วน RS Music จะเน้นทำคอนเทนต์ใหม่ๆ บนแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น จับมือกับพันธมิตรออกซิงเกิลใหม่ๆ ขณะที่บริษัท โฟร์ท แอปเปิ้ล จำกัด นอกจากผลิต 2 รายการที่กล่าวมาแล้ว จะมีการผลิตคอนเทนต์และร่วมจัดอีเวนต์ระดับโลกตามมาอีกมากมาย
3. Asset Monetization การเพิ่มช่องทางรายได้ใหม่จาก Asset ในองค์กร โดยในส่วนของ RS Music จะเข้าสู่ตลาด NFT ภายใต้ความแปลกใหม่ที่แฟนคลับกว่า 50 ล้านบัญชีในทุกช่องทางออนไลน์จะได้ติดตาม ส่วนบริษัท เชฎฐ์ เอเชีย จำกัด เตรียมการ IPO ในไตรมาส2 และมีกำหนดซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ในไตรมาส 4 ปีนี้
4. Popcoin สมาร์ท มาร์เกตติ้ง แพลตฟอร์ม เทคโนโลยีบล็อกเชนที่จะเข้ามาเป็นแพลตฟอร์มที่แข็งแกร่ง และสามารถสร้างโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจให้แก่อาร์เอส กรุ๊ป รวมไปถึงพาร์ตเนอร์ได้อีกด้วย
จากแผนธุรกิจที่วางไว้ ปีนี้อาร์เอส กรุ๊ป มั่นใจว่าจะปิดรายได้รวมที่ 5,100 ล้านบาท มาจาก 2 กลุ่มธุรกิจหลัก คือ คอมเมิร์ซ 2,750 ล้านบาท และมีเดีย แอนด์ เอนเตอร์เทนเมนต์ 2,350 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วย ทีวี และวิทยุ 1,400 ล้านบาท, Popcoin 300 ล้านบาท, มิวสิก 325 ล้านบาท และคอนเสิร์ต 325 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ปีนี้อาร์เอส กรุ๊ป เตรียมทำ M&A อีก 1-2 ดีล ภายใต้งบแต่ละดีลราว 500-1,000 ล้านบาท เน้นโมเดลธุรกิจ Entertainmerce ให้แข็งแกร่ง เพื่อขยายช่องทางการขายและแพลตฟอร์มของธุรกิจคอมเมิร์ซรวมถึงการเพิ่มไลน์สินค้าและบริการ