xs
xsm
sm
md
lg

สอน.รุดลงพื้นที่หนุน 9 โรงงานลุ่มแม่น้ำแม่กลองลงนามงดรับอ้อยสกปรก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

“สอน.” รุดแก้ไขปัญหาตัดอ้อยสกปรกป้อนโรงงานในกลุ่มโรงงานน้ำตาลลุ่มแม่น้ำแม่กลอง ล่าสุดจับโรงงาน 9 แห่งในกลุ่มลงนามงดรับอ้อยสกปรก มีผลตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค.เป็นต้นไป

นายเอกภัทร วังสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผยถึงกรณีที่นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ได้รับทราบปัญหาการเก็บเกี่ยวอ้อยโดยไม่มีการตัดยอดและไม่มีการสางใบอ้อย กลายเป็นอ้อยมีสิ่งปนเปื้อน และอ้อยยอดยาว ในเขตภาคกลาง สั่งการให้ สอน.ดำเนินการแก้ไขปัญหาอ้อยสดสกปรกอย่างเร่งด่วนเพื่อประโยชน์ของชาวไร่อ้อยที่จะมีรายได้จากระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเพิ่มขึ้น ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ในฐานะเป็นหน่วยงานหลักที่กำกับดูแลระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทย โดยวันที่ 19 มกราคม 2565 ได้ลงพื้นที่รับฟังปัญหาและสถานการณ์การหีบอ้อยของจังหวัดกาญจนบุรี ปรากฏว่าปัญหาอ้อยสดสกปรกในปีนี้รุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา

เพื่อแก้ไขปัญหา จึงเชิญเจ้าของโรงงานน้ำตาลลุ่มแม่น้ำแม่กลองทั้ง 9 โรงงานมาประชุมเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2565 เพื่อแก้ไขปัญหาอ้อยสดสกปรกที่เข้าโรงงาน ซึ่งทุกโรงงานเห็นด้วยที่จะไม่รับอ้อยสดสกปรกเข้าหีบ และได้ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการงดรับอ้อยสดสกปรกที่ไม่มีการตัดยอด ไม่สางใบอ้อย และมีสิ่งปนเปื้อน หากตรวจพบจะให้ชาวไร่นำอ้อยกลับไปปรับปรุงคุณภาพอ้อยให้เป็นไปตามเกณฑ์อ้อยสดคุณภาพดี แล้วนำกลับมาส่งโรงงานอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ มีผลตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2565 เป็นต้นไป

การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้เพื่อแก้ไขปัญหาอ้อยสดสกปรกที่ไม่มีการตัดยอด ไม่สางใบอ้อยและมีสิ่งปนเปื้อน ที่เป็นสาเหตุทำให้เปอร์เซ็นต์น้ำตาลต่อตันอ้อยลดลง ป้องกันความเสียหายของเครื่องจักร และไม่ให้โรงงานต้องหยุดการผลิต ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งอ้อยของชาวไร่ที่ต้องรอคิวเทอ้อยเป็นเวลานาน และจะเกิดความเสียหายต่อรายได้ของระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย รวมถึงการร่วมมือไม่รับอ้อยไฟไหม้ที่เกิดจากการเผาอ้อยก่อนตัด ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดฝุ่น PM 2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อปัญหาด้านสุขภาพของประชาชนและภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวของจังหวัด






กำลังโหลดความคิดเห็น