คมนาคมลุยแผนปี 65 ลงทุน 36 โครงการ กว่า 1.98 ล้านล้านบาท เปิด PPP กว่า 5.117 แสนล้าน กระตุ้นเศรษฐกิจปีเสือ “ศักดิ์สยาม” สั่งหน่วยงานบูรณาการปรับใช้ PPP หรือ TFF ลดภาระงบประมาณ ชี้ลงทุนเพื่อสร้างระบบโลจิสติกส์ให้แข็งแรง เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในปี 2565 กระทรวงคมนาคมจะเร่งรัดการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ จำนวน 36 โครงการ มีมูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 1.98 ล้านล้านบาท ซึ่งมีทั้งโครงการที่ได้รับอนุมัติอยู่ระหว่างดำเนินการต่อเนื่อง และโครงการที่จะเสนอขออนุมัติเพื่อดำเนินการ ครอบคลุมทั้งคมนาคมทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ ซึ่งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของกระทรวงคมนาคมมีมูลค่าสูง แต่เป็นการลงทุนเพื่อสร้างศักยภาพของประเทศไทยในอนาคต เพราะหากสามารถสร้างระบบโลจิสติกส์ของประเทศให้แข็งแรง เป็นโอกาสที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการแข่งขันได้ โดยการลงทุนต่างๆ เป็นส่วนทำให้เกิดรายได้แก่ประเทศด้วย ไม่ใช่ลงทุนไปแล้วไม่ได้อะไรเลย
ส่วนมิติในการลงทุนมีหลายรูปแบบ ทั้งใช้งบประมาณปกติ ซึ่งทราบกันดีว่ามีข้อจำกัดค่อนข้างมาก ดังนั้นในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของกระทรวงคมนาคมต่อจากนี้จะพิจารณาเครื่องมือการลงทุนรูปแบบอื่นที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้วางไว้ ทั้งการร่วมลงทุนเอกชน (PPP) หรือใช้กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFF) รวมถึงการให้หน่วยงานบูรณาการทำงานร่วมกัน เช่น บางโครงการหน่วยงานราชการทำเองไม่ได้ ติดขัดงบประมาณ ก็บูรณาการกับรัฐวิสาหกิจ เช่น กรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) กับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ไปหารือ นำผลศึกษามาบูรณาการร่วมกัน เพื่อผลักดันโครงการขนาดใหญ่ให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้ อย่ากอดโครงการไว้เพราะไม่รู้จะได้ทำเมื่อไหร่
"โครงการขนาดใหญ่มักจะศึกษาไว้นาน บางโครงการเป็น 10 ปีแล้ว เวลาผ่านไปข้อมูลก็เปลี่ยนไป ไม่ตอบโจทย์กับสิ่งที่เป็นปัจจุบัน บางโครงการผลศึกษาทั้งโครงการอาจมีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) ต่ำ แต่ช่วยแก้ปัญหาการจราจรได้ จึงมีแนวคิดว่าอาจนำบางช่วงของโครงการที่มี EIRR ดี และแก้ปัญหาจราจรได้ มาทำโดยใช้ TFF ลงทุน เช่น โครงการวงแหวนรอบ 3 ที่เดิมมีทั้งส่วนของถนน และมีสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ-จ.สมุทรสาคร ซึ่งทั้งโครงการยังไม่ผ่านการพิจารณาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม( EIA) และ EIRR ไม่คุ้มค่า ก็ให้พิจารณาดูว่า หากตัดเฉพาะช่วงสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา จากแยกปู่เจ้าสมิงพราย มาถึงแยกพระสมุทรเจดีย์ จะมีผล EIRR คุ้มค่าหรือไม่ แล้วให้ กทพ.เป็นเจ้าของโครงการใช้กองทุน TFF ก่อสร้าง ได้หรือไม่ ส่วนกรณีที่ประชาชนต้องจ่ายค่าผ่านทาง นั้นจะเป็นเหมือนทางด่วน ซึ่งทุกวันนี้มีสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาหลายแห่ง มีทั้งแบบใช้ฟรี กับแบบเสียเงิน ก็ถือเป็นอีกทางเลือกเพื่อให้สามารถก่อสร้างได้ และใช้เงินให้คุ้มค่าและได้ผลประโยชน์ผลตอบแทน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และประชาชน"
@เปิด PPP บิ๊กโปรเจกต์กว่า 5.117 แสนล้าน กระตุ้นเศรษฐกิจปีเสือ
สำหรับโครงการขนาดใหญ่ที่จะเร่งรัดดำเนินการในปี 2565 มีวงเงินรวม 1.985 ล้านล้านบาท จำนวน 36 โครงการ โดยมีแหล่งเงินลงทุนจาก 5 ส่วน 1. งบประมาณ วงเงิน 2.177 แสนล้านบาท (11%) 2. เงินรายได้ วงเงิน 1.111 แสนล้านบาท (6%) 3. เงินกู้ 1.114 ล้านล้านบาท (56%) 4. PPP วงเงิน 5.117 แสนล้านบาท (26%) 5. TFF วงเงิน 3.437 หมื่นล้านบาท (1%)
เป็นโครงการทางบก 11 โครงการ วงเงินลงทุน 2.615 แสนล้านบาท ประกอบด้วย
1. โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จ.เชียงราย วงเงินรวม 2,864.73 ล้านบาท (งบประมาณ 2,834.61 ล้านบาท/PPP 30.12 ล้านบาท)
2. โครงการศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม วงเงินรวม 1,159.82 ล้านบาท (งบประมาณ 842.29 ล้านบาท / PPP 317.53 ล้านบาท)
3. มอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา วงเงินรวม 65,621.24 ล้านบาท (งบประมาณ 59,410.24 ล้านบาท /PPP 6,211 ล้านบาท)
4. มอเตอร์เวย์ สายบางใหญ่-กาญจนบุรี วงเงินรวม 43,582.07 ล้านบาท (งบประมาณ 38,578.07 ล้านบาท/PPP 5,004 ล้านบาท
5. มอเตอร์เวย์ สายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว วงเงินรวม 2,317.44 ล้านบาท (งบประมาณ 10,479.29ล้านบาท / เงินรายได้ 197 ล้านบาท/ PPP 1,641.15 ล้านบาท)
6. มอเตอร์เวย์ ส่วนต่อขยายอุตราภิมุข ตอนรังสิต-บางปะอิน วงเงินรวม 27,742.80 ล้านบาท ( PPP 27,742.80 ล้านบาท)
7. มอเตอร์เวย์ สายวงแหวนรอบนอก กทม. ด้านตะวันตก ตอนบางขุนเทียน-บางบัวทอง วงเงินรวม 56,035.26 ล้านบาท (PPP 56,035.26 ล้านบาท)
8. โครงการก่อสร้างสะพานเกาะลันตา วงเงินรวม 1,800 ล้านบาท (งบประมาณ 540 ล้านบาท/เงินกู้ 1,260 ล้านบาท)
9. โครงการก่อสร้างสะพานทะเลสาบสงขลา วงเงินรวม 4,700 ล้านบาท (งบประมาณ 1,410 ล้านบาท/เงินกู้ 3,290 ล้านบาท)
10. ทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกฯ วงเงินรวม 31,244 ล้านบาท (งบประมาณ 807 ล้านบาท/TFF 30,437 ล้านบาท)
11. ทางด่วน จ.ภูเก็ต ตอนกะทู้-ป่าตอง วงเงินรวม 14,469.84 ล้านบาท (งบประมาณ 5,792.24 ล้านบาท/PPP 8,677.60 ล้านบาท)
ทางราง 20 โครงการ วงเงินลงทุน 1.529 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย
1. โครงการรถไฟไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา วงเงินรวม 179,412.21 ล้านบาท (งบประมาณ 5,637.85 ล้านบาท/เงินกู้ 173,774.36 ล้านบาท)
2. โครงการรถไฟไทย-จีน ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย วงเงินรวม 304,723.41 ล้านบาท (งบประมาณ 6,204.20 ล้านบาท/เงินกู้ 298,519.21 ล้านบาท)
3. รถไฟชานเมืองสายสีแดง (ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน) วงเงินรวม 102,652.74 ล้านบาท (งบประมาณ 105 ล้านบาท/เงินกู้ 102,547.74 ล้านบาท) ปัจจุบันแล้วเสร็จเปิดให้บริการแล้ว
4. รถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้มช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต วงเงินรวม 6,570 ล้านบาท (งบประมาณ 310 ล้านบาท/เงินกู้ 6,260 ล้านบาท)
5. รถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา และสถานีเพิ่มเติม 3 สถานี (สถานีพระราม 6 สถานีบางกรวย-กฟผ. และสถานีบ้านฉิมพลี) วงเงินรวม 10,202.18 ล้านบาท (งบประมาณ 10 ล้านบาท/เงินกู้ 10,192.18 ล้านบาท)
6. รถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช วงเงินรวม 6,645.03 ล้านบาท (งบประมาณ 10 ล้านบาท/เงินกู้ 6,635.03 ล้านบาท)
7. รถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง (Missing Link) วงเงินรวม 44,157.76 ล้านบาท (งบประมาณ 211.92 ล้านบาท/เงินกู้ 43,945.84 ล้านบาท)
8. ศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าและย่านกองเก็บตู้สินค้าเพื่อรองรับการขนส่งทางราง จ.หนองคาย (อยู่ระหว่างของบการศึกษา) วงเงินรวม 4,553.65 ล้านบาท (งบประมาณ 1,076.11 ล้านบาท/เงินกู้ 3,477.54 ล้านบาท
9. โครงการรถไฟทางคู่ระยะที่ 1 จำนวน 7 งาน วงเงินรวม 78,946.48 ล้านบาท (งบประมาณ 581.98 ล้านบาท/เงินกู้ 78,364.50 ล้านบาท)
10. โครงการรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 จำนวน 2 งาน วงเงินรวม 67,275.10 ล้านบาท (งบประมาณ 495.10 ล้านบาท/เงินกู้ 66,780 ล้านบาท) ได้แก่ รถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย วงเงิน 29,748 ล้านบาท และรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี วงเงิน 37,527.10 ล้านบาท
11. โครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ 2 โครงการ วงเงินรวม 152,190.49 ล้านบาท (งบประมาณ 21,072.49 ล้านบาท/เงินกู้ 131,118.00 ล้านบาท) ได้แก่ รถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ วงเงิน 85,343.96 ล้านบาท และสายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม วงเงิน 66,846.53 ล้านบาท
12. รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี วงเงินรวม 51,152.67 ล้านบาท (งบประมาณ 5,392.67 ล้านบาท/PPP 45,760 ล้านบาท)
13. รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง วงเงินรวม 48,398.08 ล้านบาท (งบประมาณ 5,296.13 ล้านบาท/PPP 43,101.95 ล้านบาท)
14. รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี วงเงินรวม 228,873.43 ล้านบาท (งบประมาณ 21,352.56 ล้านบาท/เงินรายได้ 18.72 ล้านบาท/เงินกู้ 79,375.15 ล้านบาท/PPP 128,127 ล้านบาท)
15. รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) วงเงินรวม 124,955.35 ล้านบาท (งบประมาณ 16,109.35 ล้านบาท/เงินกู้ 85,167.00 ล้านบาท/PPP 23,679 ล้านบาท)
16. รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) วงเงินรวม 48,478 ล้านบาท (งบประมาณ 7,254 ล้านบาท/เงินรายได้ 92 ล้านบาท/เงินกู้ 79,375.15 ล้านบาท/PPP 41,132 ล้านบาท)
17. ระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง วงเงินรวม 35,344.56 ล้านบาท (งบประมาณ 1,549 ล้านบาท/เงินรายได้ 93.56 ล้านบาท/PPP 33,702 ล้านบาท)
18. ระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ (สายสีแดง) ช่วงโรงพยาบาลนครพิงค์-แยกแม่เหียะสมานสามัคคี วงเงินรวม 25,736.95 ล้านบาท (งบประมาณ 2,862 ล้านบา/เงินรายได้ 98.20 ล้านบาท/PPP 22,776.75 ล้านบาท)
19. ระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา (สายสีเขียว) ช่วงตลาดเซฟวัน-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ วงเงินรวม 7,218.08 ล้านบาท (งบประมาณ 1,197.21 ล้านบาท/เงินรายได้ 85.60 ล้านบาท/PPP 5,935.27 ล้านบาท) 20. ระบบขนส่งมวลชนจังหวัดพิษณุโลก (สายสีแดง) ช่วงมหาวิทยาลัยพิษณุโลก-ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพิษณุโลก วงเงินรวม 1,671.76 ล้านบาท (งบประมาณ 240.55 ล้านบาท/เงินรายได้ 100 ล้านบาท/PPP 1,331.21 ล้านบาท)
ทางอากาศ 3 โครงการ วงเงินรวม 80,698.89 ล้านบาท ได้แก่
1. โครงการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 สนามบินสุวรรณภูมิ วงเงิน 28,050.88 ล้านบาท (เงินรายได้ทั้งหมด)
2. โครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 วงเงิน 36,829.50 ล้านบาท (เงินรายได้ 21,829.50 ล้านบาท/เงินกู้ 15,000 ล้านบาท)
3. โครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระยะที่ 1 วงเงิน 15,818.51 ล้านบาท (เงินรายได้ 7,308.51 ล้านบาท/เงินกู้ 8,510 ล้านบาท
ทางน้ำ โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 วงเงินรวม 114,046.93 ล้านบาท (เงินรายได้ 53,489.58 ล้านบาท/PPP 60,557.35 ล้านบาท) โครงการสะพานเศรษฐกิจ (แลนด์บริดจ์) ค่าที่ปรึกษา วงเงิน 67.82 ล้านบาท