สสว. คาด GDP MSME ปี 2565 เติบโตได้ 3.2-5.4% คิดเป็นมูลค่า 5.66-5.78 ล้านบาทหาก "โอมิครอน" ไม่ระบาดรุนแรงทั้งในและต่างประเทศจากปัจจัยหนุนการส่งออก ท่องเที่ยวที่มีลุ้นฟื้นตัว หลังสัญญาณปี 2564 แนวโน้มเติบโตได้ 2.4% มูลค่ารวม 5.49 ล้านล้านบาท จับตาธุรกิจมาแรงปีหน้า อาหารแปรรูป ธุรกิจสันทนาการ เครื่องสำอาง ฯลฯ
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว.ได้ทำการวิเคราะห์เพื่อสรุปภาพรวมสถานการณ์วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (Micro-entrepreneurs, Small and Medium-sized Enterprises) หรือ MSME ปี 2565 หากสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์ โอมิครอนได้คาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมหรือ GDP MSME จะเติบโต 3.2-5.4% เมื่อเทียบกับปี 2564 หรือมีมูลค่าประมาณ 5.669-5.789 ล้านล้านบาทโดยมีปัจจัยบวกมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจประเทศ โดยเฉพาะภาคการส่งออก และมาตรการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาลที่จะมีผลบังคับใช้ในปี 2565
“ปีหน้าการส่งออกยังคงเติบโตได้ดี หากโอมิครอนไม่แพร่ระบาดรุนแรงเหมือนระลอกที่ผ่านๆ มายังทำให้การท่องเที่ยวต่างชาติและนักท่องเที่ยวไทยปีหน้าจะเพิ่มขึ้น 30-40% มีรายได้จากการท่องเที่ยว 0.59 ล้านล้านบาท ภาคบริการจะเติบโตระหว่าง 3.4-5.8% ประกอบมาตรการภาครัฐที่จะเพิ่มกำลังซื้อ เช่น ช้อปดีมีคืน โครงการคนละครึ่ง มาตรการลดภาระผู้ประกอบการ/ประชาชน รวมถึงมาตรการทางการเงิน ในโครงการของขวัญปีใหม่ปี 2565 ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจเพื่อเสริมสภาพคล่องและลดค่าใช้จ่าย ฯลฯ ที่จะส่งผลดีต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ MSMEs รวมถึงเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ให้มีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้นต่อไป” นายวีรพงศ์กล่าว
สำหรับธุรกิจที่น่าจับตามองในปี 2565 ได้แก่ ธุรกิจอาหารแปรรูป ธุรกิจให้ความบันเทิง (สันทนาการ) ธุรกิจที่พักแรม ธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจเครื่องสำอาง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจคลังสินค้า ธุรกิจโมเดิร์นเทรด ธุรกิจโลจิสติกส์ ธุรกิจแปรรูปยางพารา ที่ยังคงมีแนวโน้มการเติบโตต่อเนื่องจากปี 2564 โดย MSME ปี 2564 คาดว่า GDP MSME จะขยายตัว 2.4% เมื่อเทียบกับปี 2563 หรือมีมูลค่ารวม 5.49 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 34.6% ของ GDP รวมของประเทศ สาขาธุรกิจที่ GDP MSME มีการขยายตัวมากที่สุด ได้แก่ ธุรกิจด้านความบันเทิงและนันทนาการ รองลงมาคือ ธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจด้านการศึกษา ส่วนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวยังคงลดลง
ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามคือการแพร่ระบาดของโอมิครอนว่าจะมีสถานการณ์รุนแรงอย่างไรทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพราะจะส่งผลต่อนักท่องเที่ยวที่จะตัดสินใจเดินทางมาเยือนประเทศไทยด้วยและการส่งออก โดยแนวโน้มส่งออกขณะนี้ยังมีทิศทางดี โดยในรอบปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวได้ประมาณ 20% เมื่อพิจารณาในช่วง 11 เดือนแรกของปี (ม.ค.-พ.ย.) MSME มีการส่งออกคิดเป็นมูลค่ารวม 915,211.9 ล้านบาท ขยายตัว 19.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และคิดเป็นสัดส่วน 11.8% ของมูลค่าการส่งออกรวมของประเทศ ตลาดส่งออกหลักที่สำคัญของ MSME ขยายตัวทุกตลาด โดยเฉพาะจีนที่มีการขยายตัวสูงคิดเป็นร้อยละ 42.5 ขณะที่กลุ่มประเทศอาเซียน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป โดยสินค้าส่งออกที่ขยายตัวสูงสุด ได้แก่ อุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ 50%