"ศักดิ์สยาม" สั่งด่วนเข้มมาตรการสกัด "โอมิครอน" เดินทางปีใหม่ 65 "รถไฟ-บขส." สุ่มตรวจ ATK พร้อมปล่อยแถวเจ้าหน้าที่รถไฟ และรณรงค์ “ปีใหม่ปลอดโควิด-19 ปลอดอุบัติเหตุทางถนน” คาดรถยนต์ออก กทม. 8 ล้านคัน ประชาชนใช้ระบบขนส่ง 1.7 ล้านเที่ยว
วันที่ 28 ธ.ค. 2564 ที่สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดงานรณรงค์ลดอุบัติเหตุ “ปีใหม่ปลอดโควิด-19 ปลอดอุบัติเหตุทางถนน” ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ร่วมจัดกิจกรรมกับมูลนิธิเมาไม่ขับ โดยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการย้ำเตือนในเรื่องความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนในช่วงเทศกาล ซึ่งปัจจุบันนอกจากความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินแล้ว จะต้องควบคู่กับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยการรถไฟฯ ได้เตรียมความพร้อมทั้งเจ้าหน้าที่ ขบวนรถ และตำรวจรถไฟ เพื่อดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกประชาชน
จากข้อมูลจากมูลนิธิเมาไม่ขับ พบว่าในเทศกาลสำคัญจะเกิดอุบัติเหตุจำนวนมาก โดยสถิติปีใหม่ 2564 ช่วง 7 วันอันตราย มีผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุกว่า 3,000 คน เสียชีวิตกว่า 300 ราย และผู้ที่เสียชีวิตจะอยู่ช่วงอายุ 15-25 ปี และขอให้ระวังบริเวณจุดตัดทางรถไฟกับถนน ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้บูรณาการกับหน่วยงานท้องถิ่น อาสาสมัครในการเฝ้าระวังจุดตัดทางรถไฟต่างๆ
ทั้งนี้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้คาดการณ์ปริมาณรถยนต์ที่จะออกจากกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ มีประมาณ 8 ล้านคัน ส่วนระบบขนส่งจะมีการใช้บริการจำนวน 1.7 ล้านเที่ยว อย่างไรก็ตาม ก่อนออกเดินทางขอให้ตรวจสอบยานพาหนะ ความพร้อมของผู้ขับขี่ เพื่อเดินทางกลับภูมิลำเนา พบปะญาติพี่น้องและฉลองเทศกาลปีใหม่ด้วยความปลอดภัย
นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ล่าสุดได้รับการประสานจากกระทรวงสาธารณสุข ในการบริหารจัดการระบบขนส่งสาธารณะ ป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอน โดยเฉพาะการเดินทางที่ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 4 ชั่วโมง ให้เพิ่มมาตรการ สุ่มตรวจแบบเร่งด่วน Antigen Test Kit (ATK) ซึ่งได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานไปปฏิบัติแล้ว
ขณะที่เบื้องต้นระบบขนส่งสาธารณะทุกแห่งมีมาตรการคัดกรองตรวจวัดอุณหภูมิ entry scan อยู่แล้ว หากพบผู้มีอุณหภูมิสูงกว่า 37.3 องศาเซลเซียสต้องนำตัวมาตรวจ ATK ทันที รวมถึงขอให้สวมใส่หน้ากากอนามัยในขณะใช้บริการระบบขนส่งมวลชนตลอดเวลา รวมถึงปฏิบัติตามมาตรการอื่นๆ ของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เช่น การเว้นระยะห่าง โดยจะเน้นย้ำในระบบขนส่งมวลชนของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ไปก่อน เนื่องจากทั้ง 2 ระบบจะมีผู้เดินทางออกต่างจังหวัดในช่วงเทศกาลปีใหม่ เป็นจำนวนมาก
“เรื่องรายละเอียดการสุ่มตรวจ ATK คัดกรองนั้น ให้ประสานงานกับกระทรวงสาธารณสุขว่าจะเป็นอย่างไร เพราะหากเป็นการเพิ่มภาระให้ประชาชนก็ไม่ควรทำ เช่น การตรวจ ATK บนสถานีรถไฟฟ้าที่คนเร่งรีบจะเดินทาง การไปสุ่มตรวจจะทำให้ประชาชนเสียเวลาเพิ่มเติมหรือไม่ ก็ให้แต่ละหน่วยไปประสานรายละเอียดกับกระทรวงสาธารณสุข” นายศักดิ์สยามกล่าว
สำหรับสถิติการแพร่ระบาดของเชื้อโอมิครอนนั้น กระทรวงสาธารณสุขรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อมีพอสมควร ซึ่งนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี แจ้งว่า ในประเทศไทยยังไม่มีผู้เสียชีวิตจากเชื้อโอมิครอน ส่วนต่างประเทศพบว่ามีผู้เสียชีวิต ซึ่งเป็นผู้ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน โดยเรื่องนี้อยู่ระหว่างการเก็บข้อมูล ผู้ติดเชื้อจะสามารถรักษาเป็นปกติได้หรือไม่ ซึ่งนายกรัฐมนตรีให้ประเมินผลไปถึงวันที่ 4 มกราคม 2565
ส่วนมาตรการอื่นๆ ตอนนี้กระทรวงสาธารณสุขมีเพียงการประกาศสถานการณ์ในระดับที่ 3 (สีส้ม) คือให้จำกัดการรวมกลุ่ม ปิดสถานบริการ ทำงานจากที่บ้าน คัดกรองก่อนเดินทาง และเปิดระบบแซนด์บอกซ์ต้องรอกระทรวงสาธารณสุขประกาศมาตรการที่ชัดเจนก่อน เพราะกระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 เมื่อมีมาตรการออกมาแล้ว กระทรวงคมนาคมจึงจะออกมาตรการปฏิบัติต่อไป