นักวิชาการ สัตวแพทย์ จุฬาฯ ย้ำปัญหาเชื้อดื้อยาเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน ตั้งแต่ฟาร์มที่ให้ความสำคัญต่อการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างสมเหตุผล ควบคู่กับการจัดการด้านหลักสวัสดิภาพสัตว์ แนะผู้บริโภคตระหนักรู้เลือกเนื้อสัตว์ที่มาจากแหล่งผลิตและจำหน่ายที่ได้มาตรฐาน เพื่อความปลอดภัย
รองศาสตราจารย์ น.สพ.ดร. ณุวีร์ ประภัสระกูล รองคณบดีวิจัย นวัตกรรม และสื่อสารองค์กร คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่า เชื้อดื้อยานับว่าเป็นวิกฤตของทุกคนทั่วโลก ซึ่งปัญหานี้เกิดจากการพยายามปรับตัวของเชื้อแบคทีเรียให้สามารถอยู่บนโลกนี้ได้ การเกิดเชื้อดื้อยาจากการใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่จำเป็น จนยาปฏิชีวนะใช้รักษาแล้วไม่ได้ผล ทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากขึ้น ขณะที่องค์การสหประชาชาติ (United Nation; UN) คาดการณ์ว่าหากไม่มีการป้องกันและจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น ภายในอีก 30 ปีข้างหน้า (ค.ศ. 2050) จะมีผู้เสียชีวิตจากปัญหาเชื้อดื้อยาสูงถึง 10 ล้านคนต่อปี
สำหรับการใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงสัตว์ ยังมีความจำเป็นในการรักษา ตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ (animal welfare) เมื่อมีสัตว์เจ็บป่วย และช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อในฝูงของสัตว์ โดยอยู่ในความควบคุมของสัตวแพทย์ และตามมาตรฐานของการใช้ยาปฏิชีวนะควบคุมโดยกรมปศุสัตว์ ที่กำหนดให้มีการใช้อย่างสมเหตุสมผลและเหมาะสม
“หลักที่สำคัญคือ ระยะการหยุดยาปฏิชีวนะที่เหมาะสมก่อนส่งเข้าสู่กระบวนการผลิตถัดไป เพื่อลดโอกาสเสี่ยง และยังไม่มีหลักฐานชี้นำว่าเชื้อดื้อยาเป็นผลจากการบริโภคอาหารที่มาจากกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานส่งผลต่อสุขภาพผู้บริโภค” รองศาสตราจารย์ น.สพ.ดร.ณุวีร์ กล่าว
สำหรับการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้องสมเหตุผลในสัตว์ ควรเลือกใช้ยาปฏิชีวนะที่อนุญาตให้ใช้โดยกรมปศุสัตว์ ซึ่งจะมีมาตรการและข้อกำหนดต่างๆ ในการใช้ยาให้เหมาะสมกับชนิดของสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์น้ำ สัตว์เลี้ยง และปศุสัตว์ และควรเลือกให้เหมาะสมกับชนิดของยา คุณภาพของยา ความถี่ของการใช้ ควรจะใช้ให้ถูกต้องตามข้อแนะนำของฉลากยา
นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ยังมีข้อห้ามไม่ให้ใช้กลุ่มของยาที่ใช้รักษามนุษย์มาใช้ในสัตว์ ปัจจุบันวงการปศุสัตว์ไทยตื่นตัวกันมากในการลดใช้ยาปฏิชีวนะ และหาสารทางเลือกอื่นๆ มาใช้การทดแทนยาปฏิชีวนะ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของชาติที่กรมปศุสัตว์กำหนดเป้าหมายมุ่งลดการใช้ยาปฏิชีวนะ 30% ในวงการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งภาครัฐและภาคเอกชนได้ร่วมมือกันดำเนินการเพื่อยกระดับความปลอดภัยด้านอาหารให้แก่ผู้บริโภค
รองศาสตราจารย์ น.สพ.ดร.ณุวีร์ ประภัสระกูล กล่าวเพิ่มเติมว่า การตระหนักรู้ของผู้บริโภคเป็นเรื่องที่ดี และมีส่วนสำคัญในการลดปัญหาเชื้อดื้อยา โดยผู้บริโภคต้องให้ความสำคัญต่อการเลือกซื้อเนื้อสัตว์ การดูสีรวมถึงลักษณะของเนื้อเป็นหลัก เนื้อสุกรต้องเป็นสีชมพู ไม่มีสิ่งแปลกปลอม ไม่มีรอยเลือดจ้ำ หรือสีของเนื้อผิดปกติ และเลือกซื้อจากร้านจำหน่ายที่สะอาด ได้มาตรฐาน เชื่อถือได้ โดยสังเกตสัญลักษณ์ "ปศุสัตว์ OK" ซึ่งเป็นสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ที่ได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์ว่าจำหน่ายเนื้อสัตว์ที่ถูกสุขลักษณะ มีกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานทุกขั้นตอน และตรวจสอบย้อนกลับได้เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคว่าได้เลือกซื้อเนื้อสัตว์ที่ปลอดสารปนเปื้อน และปลอดภัยจากเชื้อดื้อยา