xs
xsm
sm
md
lg

ส.กุ้งไทยคาดปี 65 ผลผลิตเพิ่มแตะ 3 แสนตัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส.กุ้งไทยคาดปี 65 ไทยผลิตกุ้งได้ 3 แสนตัน เพิ่มขึ้น 4% จากปีนี้ที่ผลิตกุ้งราว 2.8 แสนตัน แม้ว่าเจอปัญหาโรคโควิด-19 พร้อมจี้รัฐปรับบทบาทและมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการพัฒนาอุตสาหกรรมกุ้งไทยร่วมกับภาคเอกชนเพื่อความอยู่รอดอย่างยั่งยืน  

นายสมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทย เปิดเผยถึงสถานการณ์กุ้งของไทยปี 2565 ว่า ในปีหน้าคาดว่าผลผลิตกุ้งเลี้ยงจะเพิ่มขึ้นราว 4% มาอยู่ที่ 3 แสนตัน จากปี 2564 มีผลผลิตกุ้งอยู่ที่ 2.8 แสนตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนเล็กน้อย

“ผลผลิตกุ้งของไทยปีนี้คาดจะผลิตได้ 280,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วเล็กน้อย เป็นผลผลิตกุ้งจากภาคใต้ตอนล่าง ร้อยละ 33 จากภาคใต้ตอนบน ร้อยละ  32  จากภาคตะวันออก ร้อยละ 24  และจากภาคกลาง ร้อยละ 11 ส่วนผลผลิตกุ้งทั่วโลกคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 4.24 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 ส่วนการส่งออกกุ้งเดือน ม.ค.-ต.ค. ปีนี้ปริมาณ 128,758 ตัน มูลค่า 39,251 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 ที่ส่งออกปริมาณ 123,297 ตัน มูลค่า 35,872 ล้านบาท เพิ่มขึ้นทั้งปริมาณ และมูลค่า ที่ร้อยละ 4 และร้อยละ 9 ตามลำดับ แม้ประสบปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน ค่าขนส่งราคาสูง” นายสมศักดิ์กล่าว  

นายบรรจง นิสภวาณิชย์ อุปนายกสมาคมกุ้งไทย ประธานสมาพันธ์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย และผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ กล่าวว่า การเลี้ยงกุ้งของไทยในปีนี้ เกษตรกรทุกพื้นที่ยังคงเผชิญหน้ากับปัญหาโรคระบาด ทั้งอาการขี้ขาว ตัวแดงดวงขาว และโรคตายด่วน ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพการเลี้ยงและเป็นต้นทุนแฝงของเกษตรกร ทุกวันนี้อุตสาหกรรมกุ้งเปลี่ยนไปมากจากเดิมที่ไทยเป็นอันดับต้นๆ ในด้านการผลิตกุ้ง เพราะเรามีปัจจัยที่เหมาะสมไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศ เรื่องพันธุ์กุ้ง อาหาร และผู้แปรรูปส่งออกที่มีฝีมือ แต่ปัจจุบันสถานการณ์กุ้งเปลี่ยนไปมาก เราตกไปอยู่อันดับ 6 หรือ 7 ซึ่งเกิดจากการไม่มีการวางแผนในการนำสินค้ากุ้งไปสร้างตลาดในต่างประเทศอย่างจริงจัง ดังนั้นทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันทั้งเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง บริษัทอาหาร ปัจจัยการผลิต ผู้ส่งออก และภาครัฐ นำคำว่ากุ้งไทยกลับมาสู้กับตลาดโลก เพื่อเป็นผู้ผลิตอันดับต้นๆ ของโลกอีกครั้ง

นายเอกพจน์ ยอดพินิจ อุปนายกสมาคมกุ้งไทย กล่าวถึง “7 แนวทาง-1 ความร่วมมือ-รัฐปรับบทบาท” เพื่อความยั่งยืนของอุตสาหกรรมกุ้ง ว่า 1) ต้องกำหนดเป้าหมายการผลิตกุ้งในประเทศที่ชัดเจน 2) มีรูปแบบแนวทางการเลี้ยงที่เหมาะสมกับเกษตรกรทุกกลุ่ม 3) ปัญหาโรคระบาดได้รับการแก้ไขป้องกันได้เบ็ดเสร็จ 4) เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุน-ภาครัฐและสถาบันการเงินสนับสนุนดอกเบี้ยพิเศษสำหรับเกษตรกร เพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่เกษตรกร มีเงินทุนในการปรับโครงสร้างฟาร์ม และโมเดลการเลี้ยงที่ตอบโจทย์สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน

5) สร้างช่องทางการขายและความได้เปรียบในการแข่งขันและการประชาสัมพันธ์เชิงรุก รวมถึงการเจรจา FTA 6) สร้างระบบมาตรฐานการผลิตตลอดห่วงโซ่อุตสาหกรรม และ 7) นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ส่วน 1 ความร่วมมือนั้นเกษตรกรต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ด้านการเลี้ยง สิ่งแวดล้อมและอื่นๆ มีความร่วมมือที่ใกล้ชิดมากขึ้น และที่สำคัญ ภาครัฐต้องเปลี่ยนแปลง/ปรับบทบาท (Transform) จากการสนับสนุนและบริการซึ่งทำดีมาก และต้องทำต่อไป มาร่วมกันพัฒนาและฟื้นฟูอุตสาหกรรมอย่างจริงจังมากขึ้น ที่กล่าวเช่นนี้ ด้วย 30 ปีที่ผ่านมา ภาคเอกชนพยายามอย่างเต็มที่ในการนำพาและพัฒนาอุตสาหกรรมกุ้งของประเทศ เพื่ออุตสาหกรรมที่มีมูลค่ากว่าแสนล้าน จนไม่เหลืออะไรให้เล่นแล้ว ถึงวันนี้ภาครัฐต้องมีส่วนในความรับผิดชอบในการพัฒนาฟื้นฟูอุตสาหกรรมกุ้งไทยร่วมกับเอกชนในเรื่องเทคโนโลยีการเลี้ยง ฯลฯ


กำลังโหลดความคิดเห็น