xs
xsm
sm
md
lg

เอสเอ็มอีระส่ำหนัก! เริ่มกู้นอกระบบส่อไปต่อไม่ไหว แนะรัฐปรับมาตรการดูแล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยเผยเอสเอ็มอียังคงประสบปัญหาขาดสภาพคล่องหนักแม้เปิดประเทศจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นก็ตาม พบ 1 ล้านรายกำลังส่ออาการไปต่อไม่ไหว NPL เริ่มขยับต่อเนื่อง แนะรัฐปรับมาตรการดูแลใหม่ให้สอดรับเหตุการณ์และเน้นกระตุ้นกำลังซื้อที่มุ่งเน้นกลุ่มเอสเอ็มอีปี 2565 มากขึ้น จับตา “โอไมครอน” ใกล้ชิด หวั่นซ้ำเติมหากทุกส่วนการ์ดตก

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย
เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ตลอดเวลาที่ผ่านมาจนนำมาสู่การล็อกดาวน์ เม.ย. 2563 และปี 2564 มีมาตรการคำสั่งห้ามออกนอกเคหสถาน (เคอร์ฟิว) และอื่นๆ ในการควบคุมการแพร่ระบาด ฯลฯ เหล่านี้ส่งผลให้วิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ประสบปัญหาต่อเนื่องเป็นเวลา 1 ปี 8 เดือนจนทำให้เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพิ่มขึ้น และพบว่าปัจจุบันเริ่มมีแนวโน้มที่เอสเอ็มอีหันไปพึ่งพิงเงินกู้นอกระบบมากขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาสภาพคล่อง ดังนั้น ปี 2565 รัฐต้องเร่งกระตุ้นกำลังซื้อโดยมุ่งเน้นกลุ่มเอสเอ็มอีซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ของโครงสร้างเศรษฐกิจฐานรากและบูรณาการดำเนินงานสนับสนุนเอสเอ็มอีอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนมาตรการพักต้น พักดอก เติมทุน และยกเว้นตรวจสอบข้อมูลเครดิต (เครดิตบูโร)

“มาตรการรัฐบาลที่ผ่านมาในการช่วยเอสเอ็มอีก็ถือว่าเป็นมาตรการที่ดีระดับหนึ่ง แต่บางอย่างยังไม่ตอบโจทย์เพราะปัญหาต่างๆ ก็เปลี่ยนไป เนื่องจากการระบาดโควิด-19 ทุกระลอกก็ล้วนทำให้เอสเอ็มอีได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นจนขาดสภาพคล่องเนื่องจากรายได้ลด ขณะที่รายจ่ายมีแต่เพิ่มขึ้น โดยพบว่าเอสเอ็มอีประมาณ 1 ล้านรายกำลังจะไปไม่ไหวจากที่มีทั้งหมด 3.1 ล้านราย จำเป็นต้องเร่งช่วยเหลือเพื่อประคองให้อยู่ได้ โดยรัฐต้องจัดกลุ่มเอสเอ็มอีในการช่วยเหลือ” นายแสงชัยกล่าว

ทั้งนี้ เอสเอ็มอีส่วนใหญ่กว่า 40% อยู่ในภาคท่องเที่ยวและบริการจึงได้รับผลกระทบค่อนข้างชัดเจนจากมาตรการล็อกดาวน์ และอื่นๆ ที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งเป็นรายได้หลักหายไปทั้งหมด และแม้ล่าสุดรัฐบาลจะมีการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเมื่อ 1 พ.ย. แต่นักท่องเที่ยวหลักอย่างจีนก็ยังไม่เข้ามาจึงทำให้สัดส่วนต่างชาติมาเที่ยวไทยยังไม่ได้มากนัก และคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยปี 2565 ราว 5-6 ล้านคนเท่านั้น แต่การเปิดประเทศก็เป็นสิ่งที่จะช่วยให้เอสเอ็มอีทยอยกลับมามีรายได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การมาของโควิดสายพันธุ์ “โอไมครอน” ล่าสุดที่ไทยพบผู้ติดเชื้อจากที่เดินทางมาจากต่างประเทศก็เป็นสิ่งที่ต้องติดตามใกล้ชิด ทุกฝ่ายต้องเตรียมตัวรับมือ การ์ดต้องไม่ตก หากไม่เช่นนั้นจะประสบกับความยากลำบากในการดำเนินธุรกิจ และจะยิ่งซ้ำเติมเอสเอ็มอีมากขึ้น ภาครัฐต้องเข้มงวดมาตรการต่างๆ ในการสกัดการแพร่กระจาย ทั้งการดูแลป้องกันการลักลอบเข้ามาของแรงงานตามแนวชายแดน การเข้มงวดตรวจสอบนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามา ฯลฯ

“หากดูข้อมูลจากสถาบันการเงินก็ส่งสัญญาณว่าโครงสร้างหนี้ใหม่ (re-entry) มีสัญญาณเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ส่วนหนึ่งมาจากผลกระทบโควิด-19 ระลอก 3 ลากยาวจนต้องมีมาตรการล็อกดาวน์ กระทบสภาพคล่องเอสเอ็มอีถดถอยมากยิ่งขึ้น บางรายแม้จะมีการปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้วพอเจออีกก็เข้ามาปรับหนี้ใหม่ และสินเชื่อเอสเอ็มอีในระบบธนาคารซึ่งเป็นหนี้ที่ต้องจับตามองพิเศษหรือ Special Mention มีสูงถึง 4 แสนล้านบาท หากไม่เร่งรัดการแก้ไขก็จะกลายเป็น NPL ได้” นายแสงชัยกล่าว

ทั้งนี้ นอกเหนือจากปัญหาการขาดสภาพคล่องที่รัฐต้องเร่งดูแลแล้ว สิ่งที่สะท้อนให้เห็นตั้งแต่เผชิญวิกฤตโควิด-19 จีดีพีของเอสเอ็มอีมีสัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เพียง 34% และมีปัญหาการขาดดุล (นำเข้ามากกว่าส่งออก) แม้ภาพรวมการส่งออกของประเทศจะขยายตัว แต่สัดส่วนการส่งออกของเอสเอ็มอีมีเพียง 13% ของมูลค่าทั้งหมด ดังนั้นภาครัฐต้องส่งเสริมให้เอสเอ็มอีพัฒนาขีดความสามารถ และลงทุนเพื่อลดการนำเข้า และขยายสัดส่วนการส่งออกจากเอสเอ็มอีด้วย ฯลฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น