xs
xsm
sm
md
lg

“ทรู” ผุดฐานผลิตเบเกอรี่รับโออีเอ็ม กรำศึกวิตะมินวอเตอร์ชิงตลาด5พันล.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการรายวัน360- “ทรูคอฟฟี่” กรำศึกวิตะมินวอเตอร์ สร้างซับเซกเมนต์ชิงตลาดที่จะทะลุ 5,000 ล้านบาทในปีหน้า เสริมทัพ เอฟเอ็มซีจี อีกขาหลักธุรกิจ ดันรายได้ควบคู่กับ ดีลิเวอเรีและทรูคอฟฟี่ช้อป

นายปพนธ์ รัตนชัยกานนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจอาหาร และคอฟฟี่เฮาส์ บริษัท ทรู ไลฟ์สไตล์ รีเทล จำกัด และบริษัท เบคเฮาส์ จำกัด  กล่าวว่า ทรูได้แตกไลน์สู่ตลาดเครื่องดื่มน้ำผสมวิตะมิน แบรนด์ True Vitamin Water ทรู วิตะมิน วอเตอร์ เนื่องจากมองเห็นศักยภาพของตลาดที่มีแนวโน้มในการเติบโตอย่างมาก และเป็นเทรนด์เกี่ยวกับสุขภาพที่ผู้บริโภคหันมาให้ความสนในกับผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับสุขภาพมากขึ้นด้วย

จากตลาดรวมน้ำผสมวิตะมินที่มีมูลค่าประมาณ 2,700 กว่าล้านบาท เติบโต 100% เมื่อปีที่แล้ว หรือมี่ปริมาณรวม 79 ล้านลิตร เติบโตถึง 204% เมื่อปีที่แล้ว และคาดว่าสิ้นปี2564นี้ตลาดรวมจะเพิ่มเป็น 3,000 ล้านบาท และคาดว่าในปีหน้าตลาดรวมยังคงเติบโตเพิ่มเป็น 5,000 ล้านบาท ได้ จากการที่ตลาดเติบโตและมีผู้เล่นรายใหม่ๆเข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้ก็มีผู้เล่นในตลาดวิตะมินวอเตอร์แล้วไม่ต่ำกว่า 10 แบรนด์ที่ทำตลาดอยู่และเริ่มแข่งขันรุนแรงขึ้นตามลำดับ


ทรูลงตลาดด้วยการเปิดตัวพร้อมกัน 2 เอสเคยู คือ True Vitamin Water กลิ่นเอ็กโซติก ฟรุ๊ต ด้วยแนวคิด ALIVE ปลุกพลังความสดชื่น จากส่วนผสมของวิตามิน B รวม และกลิ่นส้ม ด้วยแนวคิด CARE มีวิตามิน C,A, E ราคาขวดละ 25 บาท ประเดิมวางจำหน่ายที่ร้านเซเว่นอีเลฟเว่นและร้านทรูคอฟฟี่ก่อน พร้อมกับการเปิดตัวพรีเซ็นเตอร์คนแรกคือ “มิก้า ชูนวลศรี” นักฟุตบอลรูปหล่อจาก BU FC คาดว่าจะสามารถจำหน่ายได้ประมาณ 3 ล้านขวดในช่วงแรกนี้ถึงสิ้นปีนี้

จุดแตกต่างของวิตะมินวอเตอร์ของทรู ก็คือ การสร้างซับเซกเมนต์ขึ้นมาใหม่ที่เรียกว่า เครื่องดื่ม Energize Flavorful Vitamin ที่ผสมระหว่างน้ำวิตามิน และเครื่องดื่มให้พลังงาน

เพราะในตลาดวิตะมินวอเตอร์นั้นมีผู้เล่นมากรายแล้ว การลงไปในรูปแบบเดิมก็ไม่ได้สร้างความแปลกใหม่ในฐานะผู้มาทีหลัง ขณะที่ตลาดเครื่องดื่มให้พลังงานก็มีแบรนด์ที่แข็งแกร่งเช่นกัน จึงเป็นที่มาของการแตกซับเซกเมนต์นี้ออกมา

การเข้าสู่ตลาดเครื่องดื่มวิตะมินวอเตอร์ครั้งนี้ ถือเป็นการปรับตัวอีกแนวทางหนึ่งของทรูคอฟฟี่ ที่ทำตลาดเอฟเอ็มซีจี ให้มากขึ้นเพื่อสร้างให้เป็นอีกหนึ่งขาธุุรกิจหลักควบคู่ไปด้วยกับ การขยายตลาดบริการดีลิเวอรี่ ที่เป็นส่วนหนึ่งของแผนใหญ่ที่ต้องก็จะรุกตลาดโดยจากนี้ทรูคอฟฟี่ จะแตกเป็น 3 ขาธุรกิจและสัดส่วนรายได้ดังนี้คือ ร้านกาแฟทรูคอฟฟี่ 40% (ปัจจุบันมีทรูคอฟฟี่ที่เป็นช้อปประมาณ 100 สาขา และทรูคอฟฟี่โก 56 สาขา และเตรียมขายแฟรนไชส์ปีหน้าด้วย) , ธุรกิจเอฟเอ็มซีจี 40% และ ดีลิเวอรี่ 20%


“สิ่งที่ทำให้เราต้องปรับตัวมาทำแบบนี้ก็คือ โควิด-19 ที่่ระบาดอย่างหนักมา 2 ปีแล้ว ช่วง 2 ปีที่่ผ่านมาเราคิดใหม่มาก สิ่งที่เราไม่เคยทำก็ต้องมาทำ ทั้ง ตลาดเอฟเอ็มซีจี และการจัดส่งดีลิเวอรี่ เราต้องปรับตัวเองให้สอดรับกับสถานการณ์ และทำเพื่อการสร้างธุรกิจให้เติบโต มีศักยภาพในการสร้างรายได้มากขึ้น ถ้าเราทำแต่ร้านกาแฟอย่างเดียวคงไม่ได้ในสถานการณ์แบบนี้ เพราะเรามีแผนที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในอนาคตด้วยช่วงปี 2568 ซึ่งจะต้องมียอดขายในขณะนั้นไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท"

เขามองด้วยว่า ช่วงที่มีการล็อกดาวน์ ร้านอาหารปิด ร้านกาแฟปิดเหมือนอีกหลายธุรกิจหรือเปิดแล้วก็ยังขายและบริการได้ไม่เต็มที่ด้วยข้อจำกัดของมาตรการต่างๆ แต่ธุรกิจที่ไม่ต้องปิดร้านเพราะโควิดก็เช่น คอนวีเนียนสโตร์ ซูเปอร์มาร์เก็ต และ การจัดส่งดีลิเวอรี่ ดังนั้นหากเรามีสินค้าที่ขายได้ในช่องทางเหล่านี้นอกจากร้านกาแฟของเราเองก็เป็นสิ่งแล้วที่่ดี หรือแม้แต่ดีลิเวอรี่เองตอนนี้พวกร้านเครื่องดื่มหรืออาหารต่างๆ ก็มีสัดส่วนจากดีลิเวอรี่ไม่ต่ำกว่า 25% กันแล้ว

ก่อนนี้ ทรูคอฟฟี่เริ่มต้นทำเอฟเอ็มซีจีมาแล้วช่วงต้นปีนี้ด้วยการนำสิ่งที่มีอยู่คือกาแฟมาต่อยอดทำเป็นกาแฟบรรจุถ้วยพร้อมดื่มออกวางจำหน่าย โดยเป็นการร่วมมือกับทาง บริษัท นัมยัง แดรี่ โปรดักส์ จำกัด เกาหลีใต้ ให้เป็นผู้ผลิตและนำเข้ามาจำหน่าย ช่วงแรกมี 2 รสชาติคือ อเมริกาโน่ และลาเต้ ราคา 39 บาทต่อถ้วย และภายในปีหน้าจะออกใหม่อีก 3 รสชาติ ส่วนใหญ่สินค้าจะเริ่มวางจำหน่ายในช่องทางค้าปลีกเครือข่ายของซีพีเป็นหลักก่อนเช่น ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น โลตัส แม็คโคร ทรูคอฟฟี่เองด้วย และเริ่มขยายไปนอกเครือบ้างตามลำดับ


อนาคตยังมีแผนที่จะรุกตลาดอาหารแช่แข็ง และแช่เย็นอีกด้วย โดยวางเป้าหมายที่จะมีสินค้าใหม่ๆวางตลาดอย่างน้อย 2 รายการต่อปี ไม่นับสินค้าตัวเดิมที่จะมีการเพิ่มรสชาติหรือเมนูใหม่ๆเพิ่มเติมอีก

อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆนี้ ทรูคอฟฟี่ ยังได้เข้าไปลงทุนด้วยการเช่าโรงงานผลิตเบเกอรี่แห่งหนึ่งที่รามคำแหง เพื่อนำมาบริหารจัดการเอง ด้วยการผลิตเบเกอรี่สดใหม่ป้อนให้กับร้านทรูคอฟฟี่ แเละร้าน กองแทรน เชอริเออ ที้เป็นลิขสิทธิ์แฟรนไชส์จากฝรั่งเศสที่ทรูบริหารอยู่มีสาขาเดียวที่สิงห์คอมเพล็กซ์ และขยายธุรกิจด้วยการรับผลิตแบบโออีเอ็มให้กับผู้ที่ต้องการว่าจ้างผลิตด้วย

ทั้งนี้เป้าหมายรายได้รวมของบริษัทฯในปี2564นี้ที่เดิมตั้ืงไว้ที่ 500 ล้านบาท แต่จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและมีการล็อกดาวน์ ทำให้คาดว่าปีนี้ทั้งปีคงทำยอดขายได้ประมาณ 400 กว่าล้านบาท หรือตกลง 20% ซึ่งก็เป็นไปตามสภาพตลาดรวม และคาดว่าสิ้นปีนี้กลุ่มธุรกิจเอฟเอ็มซีจีจะมีรายได้ประมาณ 125 ล้านบาท หรือ 20% ส่วนยอดขายจากร้านทรูคอฟฟี่ ประมาณ 70% และสัดส่วนรายได้จากดีลิเวอรี่ 10%


กำลังโหลดความคิดเห็น