xs
xsm
sm
md
lg

“ศรีแสงธรรมโมเดล” ต้นแบบการขับเคลื่อนชุมชนด้วยพลังงานทดแทนอย่างยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ความมุ่งมั่นในการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด ทำให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซลาร์เซลล์กลายเป็นพระเอกของการผลิตไฟฟ้ายุคใหม่ เพราะไม่เพียงเป็นพลังงานสะอาด ต้นทุนต่ำ ที่สามารถนำมาใช้ได้อย่างไม่มีวันหมดแล้ว ยังเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความเท่าเทียมด้านพลังงานอีกด้วย

แม้เราจะอยู่ในพื้นที่ห่างไกลความเจริญกว่า 800 กิโลเมตร แต่เราไม่ได้อยู่ไกลจากแสงแดดมากกว่าคนอื่นเลย แสงแดดให้ความเท่าเทียมเราทุกคนเท่ากันหมด” แนวคิดของพระปัญญาวชิรโมลี เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี เปลี่ยนหมู่บ้านดงดิบที่เคยเป็นโคกอีโด่ยเต็มไปด้วยความแห้งแล้ง ห่างไกลความเจริญ ให้กลายเป็น “โคกอีโด่ยวัลเลย์” ด้วยนวัตกรรมการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ พัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนให้ดีขึ้น และมีความมั่นคงทางพลังงานที่สามารถพึ่งพาตนเองได้


ในช่วงแรกโซลาร์เซลล์ถูกนำมาใช้ผลิตไฟฟ้าสำหรับใช้ภายในโรงเรียนศรีแสงธรรมเพื่อลดค่าไฟฟ้า เนื่องจากโรงเรียนศรีแสงธรรมเป็นโรงเรียนที่ให้เรียนฟรี จากนั้นจึงนำโซลาร์เซลล์ไปต่อยอดเป็นสิ่งประดิษฐ์เพื่อใช้ในด้านการเกษตร อาทิ เครื่องสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ รถเข็นนอนนาพลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงพัฒนาเป็นอาชีพรับติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในนาม “ช่างขอข้าว” เพื่อนำรายได้กลับมาใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ ของโรงเรียน


แต่ด้วยข้อจำกัดของระบบผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ที่ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ ทำให้ผลิตไฟฟ้าได้เพียงบางช่วงเวลา ประกอบกับเมื่อมีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในจุดต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น ทำให้พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้มีมากเกินความต้องการ พระปัญญาวชิรโมลี เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม จึงได้ผสานพลังความร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ด้วยการนำระบบไมโครกริดและระบบบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าเข้ามาประยุกต์ใช้แก้ปัญหาข้อจำกัดดังกล่าวภายใต้โครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงาน (ERC Sandbox) ที่ดำเนินการร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เพื่อพัฒนาสู่ระบบสมาร์ทกริดศรีแสงธรรม ด้วยการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงานทั้งหมด 5 นวัตกรรม ได้แก่ 1) นวัตกรรมการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกัน (Peer to Peer) 2) นวัตกรรมการซื้อขายไฟฟ้ารูปแบบ Net Metering Net Billing 3) นวัตกรรมระบบบริหารจัดการพลังงานในไมโครกริด (Micro Grid) 4) นวัตกรรมระบบกักเก็บพลังงาน และ 5) นวัตกรรมระบบบริหารจัดการและรวบรวมโหลด (Load Aggregator) ในพื้นที่นำร่อง 4 แห่งของบ้านดงดิบ ซึ่งประกอบด้วยโรงเรียนศรีแสงธรรม วัดป่าศรีแสงธรรม โรงเรียนบ้านดงดิบ และศูนย์เด็กเล็กบ้านดงดิบ

พื้นที่ศึกษาของโครงการ ERC Sandbox - ศรีแสงธรรมโมเดล
สำหรับระบบไมโครกริด ที่ กฟผ. นำมาใช้ในโครงการนี้สามารถควบคุมสั่งการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์แบบอัตโนมัติให้เหมาะสมกับความต้องการใช้ไฟฟ้า รวมถึงวิเคราะห์พลังงานแสงอาทิตย์ที่จะผลิตได้ล่วงหน้า ส่วนพลังงานไฟฟ้าที่เกินความต้องการจะถูกนำมากักเก็บไว้ในแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานเพื่อกักเก็บไว้ใช้ในยามจำเป็น เช่น กรณีไฟฟ้าดับแต่ในพื้นที่จะยังคงมีไฟฟ้าใช้อยู่ หรือเมื่อมีความต้องการใช้ไฟฟ้ามากขึ้นแบตเตอรี่ที่ติดตั้งไว้ที่โรงเรียนศรีแสงธรรมยังสามารถส่งจ่ายกระแสไฟฟ้าไปให้กับวัดศรีแสงธรรม โรงเรียนบ้านดงดิบ หรือศูนย์พัฒนาเด็กเล็กได้


ระบบบริหารจัดการพลังงานที่ กฟผ. พัฒนาขึ้นยังสามารถควบคุมการเปิด-ปิดระบบปรับอากาศ การปรับอุณหภูมิแบบอัตโนมัติเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาพรวม ซึ่งพบว่าเมื่อติดตั้งเทคโนโลยีจัดการพลังงานแล้วสามารถช่วยลดค่าไฟฟ้าให้กับโรงเรียนศรีแสงธรรมได้มากถึงร้อยละ 40 หรือลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 8 ตันคาร์บอนต่อปี

ระบบบริหารจัดการพลังงานในไมโครกริดของโครงการ ERC Sandbox – ศรีแสงธรรมโมเดล
นอกจากนี้การทดสอบดังกล่าวยังมีการนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) เข้ามาใช้เพื่อรองรับการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันในชุมชน (Peer to Peer) เพื่อให้ผู้ใช้งานมั่นใจถึงความถูกต้องแม่นยำในการทำธุรกรรม เมื่อประชาชนสามารถผลิตไฟฟ้าใช้เองได้มากขึ้น โดย กฟผ. ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการผลิตไฟฟ้า การซื้อขายไฟฟ้า และผู้ควบคุมระบบไฟฟ้าในภาพรวม ได้ศึกษาโครงการเพื่อต่อยอดและคำนึงถึงการรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้า และนำข้อมูลที่ได้จากการศึกษาวิจัยมาพัฒนาระบบไฟฟ้าและต่อยอดนวัตกรรมที่เป็นของคนไทย เพื่อให้เป็นแนวทางที่เหมาะสมสำหรับการซื้อขายไฟฟ้ารูปแบบใหม่และการต่อยอดสู่นวัตกรรมดิจิทัลในอนาคต

ความสำเร็จของโครงการ ERC Sandbox – ศรีแสงธรรมโมเดลถือเป็นต้นแบบของระบบสมาร์ทกริดในอนาคตที่สนับสนุนให้ชุมชนเกิดการพึ่งพาตนเองด้านพลังงาน เป็นแหล่งเรียนรู้ “โคกอีโด่ยวัลเลย์” ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน ตามเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio -Circular-Green Economy : BCG Economy) สอดรับกับการเดินหน้าประเทศสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ของประเทศไทยในอนาคตอีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น