สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงานสัมมนาThailand Competitiveness Conference 2021:Creating Thailand Desirable Futureเพื่อร่วมเสนอแนะแนวทางยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศในบริบทสังคม และสภาพแวดล้อมของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปหลังวิกฤตการแพร่ระบาดของโรค COVID-19
วันนี้ (5 พ.ย.) สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA)ได้จัดงานสัมมนาThailand Competitiveness Conference 2021:Creating Thailand Desirable Futureเพื่อร่วมเสนอแนะแนวทางยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศในบริบทสังคม และสภาพแวดล้อมของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปหลังวิกฤตการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 โดยได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิหลากหลายสาขาจากประเทศไทยและนานาประเทศมาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ภายใต้หัวข้อ“Creating Thailand Desirable Future” : ร่วมสรรค์สร้างอนาคตประเทศไทยอย่างยั่งยืนใน 4 หัวข้อหลักคือ 1. ESG Leadership as competitive advantage , 2. Smart Agriculture 3. The Smart City opportunity for Thailand และ 4. People & Education
โดยจัดงานเป็น Virtual Conference ตามแนวทางการจัดงานของ TCEB แบบGreen Seminar ที่ลดการใช้ทรัพยากร รักษ์สิ่งแวดล้อมที่มุ่งเน้นความยั่งยืนให้สอดคล้องกับเป้าหมายการจัดงาน และการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ
รัฐตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจกพร้อมพลิกโฉมสมรรถนะทางเศรษฐกิจ
นายสุพัฒนพงศ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้เกียรติกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “Creating Thailand Desirable Future” มีใจความว่า “รัฐบาลมีเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกและลดคาร์บอนให้ได้ผลในปีค.ศ.2065 เพื่อมุ่งไปสู่การใช้ดิจิทัลและเทคโนโลยีให้เป็นรากฐานในการปรับประเทศไทยให้มีความทันสมัยมากขึ้น ซึ่งจะช่วยดึงดูดการลงทุน เพิ่มความพร้อมของการศึกษาและงานวิจัยด้านอุตสาหกรรมไฟฟ้า ส่วนอุตสาหกรรมดั้งเดิมจะยังคงเข้มแข็งมากขึ้นโดยเฉพาะการเกษตรสิ่งที่จะเกิดขึ้นในปี 2565 เป็นต้นไปคือการพลิกโฉมสมรรถนะทางเศรษฐกิจด้านเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าควบคู่กับพลังงานสะอาด ที่เพิ่มความยืดหยุ่นของสถานีประจุโดยสิ่งที่รัฐบาลทำได้คือ การสร้างโอกาสให้ภาคเอกชนอย่างยั่งยืน”
การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน
Mr. Vincent Chin, Boston Consulting Group กล่าวว่า “จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้รัฐบาลทุกประเทศ ต้องทุ่มเงินจำนวนมากเพื่อช่วยเหลือเยียวยาด้านเศรษฐกิจ ธุรกิจประชาชน และเตรียมรับมือกับความไม่แน่นอนที่อาจรุนแรงขึ้น ซึ่งประเทศในยุโรปได้ผลักดันการพัฒนาด้านดิจิตัล หรือแนวคิดเศรษฐกิจที่ลดความเหลื่อมล้ำ (Inclusive Economy) มากขึ้น เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่สร้างความเท่าเทียมกันให้คนทุกชนชั้นในสังคม โดยรัฐต้องคำนึงถึงความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ที่ดีของพลเมือง สุขภาพ การศึกษา และการสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ดี ไปพร้อมกัน โดยเฉพาะประเทศไทยและประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะนี่คือ ปัจจัยสำคัญของการพัฒนาประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ”
นายวิโรจน์ นรารักษ์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกล่าวว่า “การจัดอันดับความสามารถของประเทศไทยปี 2563 มีอันดับที่ลดลงนั้นมีผลกระทบมาจาก COVID-19 โดยเฉพาะตัวชี้วัดสมรรถนะทางเศรษฐกิจ ภาพการผลิตภาคเกษตรกร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการค่อนข้างต่ำ โครงสร้างพื้นฐานด้านศึกษายังถือว่าเป็นจุดอ่อนของประเทศไทยสำหรับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (ปี 2566-2569) มีทิศทางการพัฒนาไปสู่ความยั่งยืน เป้าหมายหลักคือภาคการเกษตร สถานบริการฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ระบบสาธารณสุขเทคโนโลยี การขับเคลื่อนธุรกิจ SMEsการลดก๊าซเรือนกระจก 15% และยกระดับการแข่งขันอย่างยั่งยืน”
นายธีระนันท์ ศรีหงส์ ประธานสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “บริษัทสินทรัพย์ขนาดใหญ่ที่นำหลัก ESG มาเป็นแนวทางดำเนินธุรกิจมักจะได้รับผลตอบแทนที่ดีขึ้นในมิติต่าง ๆ จากวิกฤติโควิด - 19 ทำให้ทุกบริษัทเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่า ไม่สามารถอยู่ได้โดยลำพัง องค์กรจำเป็นต้องอยู่ในระบบนิเวศน์ที่ดี มีส่วนร่วมในการส่งเสริมให้ระบบนิเวศน์อยู่ในสภาพที่มั่งคั่งและแข็งแรงเพียงพอการที่รัฐบาลให้ความสำคัญต่อเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว จึงมีความเหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพมาก แต่มีปัญหาทางสิ่งแวดล้อมมากเนื่องจากพึ่งพาธุรกิจการท่องเที่ยว จึงมีความจำเป็นต้องสนับสนุนอุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมชีวภาพเพื่อตอบสนองเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากต่อการลดปัญหามลภาวะ ส่วนความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงการศึกษานั้น อาจจะใช้เทคโนโลยีมาช่วยแก้ปัญหาได้ แต่ล้วนต้องได้รับการผลักดันด้วยงบประมาณ และการตัดสินใจที่ชัดเจนของภาครัฐ จะช่วยส่งสัญญาณให้ภาคเอกชนเข้ามาให้ความร่วมมือ ซึ่งDigital Transformation จะทำให้การดำเนินการต่าง ๆ มีความโปร่งใสมากขึ้น”
เมื่อเผชิญกับความไม่แน่นอน จะขับเคลื่อนประชาชาติให้เติบโตอย่างไร
Professor Arturo Bris, IMD World Competitiveness Center ชี้ว่า “ประเทศที่เป็นผู้นำด้านดิจิทัลของโลก เช่น ประเทศเดนมาร์คได้ผลักดัน Digital Transformation ให้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คน และองค์กรทางธุรกิจจำนวนมากสามารถเข้าถึงระบบดิจิทัลได้อย่างแท้จริง ล้วนเกิดจากความร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชน”
ความยั่งยืนมีอิทธิพลต่อผู้บริโภคยุคใหม่
ในหัวข้อ “ESG Leadership as competitive advantage” ซึ่ง Dr.Hogel Ruble ,Boston Consulting Group กล่าวว่าSustainability หรือความยั่งยืนได้กลายเป็นแนวคิดของทุกภาคส่วนในการทำธุรกิจที่กลายเป็นกระแสสำคัญระดับโลก ซึ่งช่วยสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน และทำให้เกิดโมเดลทางธุรกิจใหม่ ๆ ที่ช่วยลดการใช้พลังงาน ลดค่าใช้จ่ายและดึงดูดความน่าสนใจให้บริษัทได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลสำรวจพบว่า ผู้บริโภคยินดีจ่ายในราคาสูงให้กับสินค้าที่ก่อมลพิษน้อยลง ผลิตจากวัสดุรักษ์โลก เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และแม้แต่การว่าจ้างก็ยังอ้างอิงความยั่งยืน
คุณธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงแรงจูงใจในการลงทุนเพื่อความยั่งยืนซึ่งเป็นที่มาของการสร้างมูลค่าธุรกิจที่เพิ่มขึ้นในปีที่ผ่านมานั้น เป็นเพราะวิสัยทัศน์ของบริษัทที่มุ่งมั่นสู่การเป็นผู้นำในธุรกิจอาหารทะเลที่น่าเชื่อถือที่สุดของโลกตลอดจนใส่ใจดูแลและรักษาทรัพยากรต่างๆเพื่อรักษาให้คงไว้แก่คนรุ่นหลัง ในปี ค.ศ. 2014 ประเทศไทยได้ถูกโจมตีเรื่องความยั่งยืนของอาหารทะเล และปีต่อมารายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ของสหรัฐอเมริกาได้ลดสถานประเทศไทยอยู่ในรายชื่อประเทศที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งรัฐบาลไทยได้มีมาตรการดำเนินการบังคับใช้กฎหมาย และปฏิรูปเพื่อแก้ไขต้นตอของปัญหาจากการถูกปรับลดอันดับจากรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ บริษัทจึงจัดทำกลยุทธ์และสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างรอบด้าน เพื่อดึงความมั่นใจของตลาดกลับคืนมา จนทำให้ได้รับการยอมรับว่า เป็นบริษัทชั้นนำในแง่ของความยั่งยืนของอาหารทะเล และได้รับการจัดอันดับที่ดีติดต่อกันหลายปีจากองค์กรระดับโลกด้านความยั่งยืน นอกจากนั้นการที่องค์กรขนาดใหญ่ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ และประสบการณ์ ให้องค์กรขนาดเล็กกว่า คือ การร่วมกันสร้าง Capacity ให้แก่บริษัทอื่นในห่วงโซ่คุณค่า และ SMEs สามารถนำแนวทางของความยั่งยืนมาใช้ในการดำเนินธุรกิจได้อย่างแน่นอน
การเกษตรรูปแบบใหม่ Smart Agriculture
Ms.Sushma Vasudevan,Boston Consulting Group เผยว่า “ภาคการเกษตรสามารถนำดิจิทัลและเทคโนโลยีมาช่วยบริหารจัดการเชิงระบบนิเวศโดยภาครัฐต้องมีบทบาทหลัก เช่น กระทรวงเกษตรประเทศอินเดีย ได้จัดทำแอพลิเคชั่นและสร้างแพล็ตฟอร์มซื้อขายสินค้าเกษตรออนไลน์ ร่วมกับภาคเอกชนที่ช่วยจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ ทำให้เกษตรกรได้ร่วมกันแชร์ข้อมูลและวิธีการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ หากประเทศไทยให้ความสำคัญกับการสร้างระบบนิเวศของภาคเกษตรกรรม จะช่วยส่งเสริมศักยภาพของเกษตรสมัยใหม่ได้”
คุณวสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ เครือเบทาโกร กล่าวว่า “ในฐานะบริษัททางการเกษตร การทำ Digital Transformation คือการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 สำหรับเบทาโกร แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การก้าวออกจากวิถีเดิมที่ปฏิบัติมาเป็นเวลา 40 ปีที่ต้องตัดสินใจไปสู่ระบบใหม่และบนฐานข้อมูลใหม่ ระยะที่ 2 Digital Transformation ซึ่งระบุหมวดหมู่และจัดลำดับความสำคัญที่เกี่ยวข้อง และระยะที่ 3 Smart Transformation ที่เริ่มคำนึงถึงการใช้งานปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยีการคาดการณ์ต่าง ๆ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการทำงานขององค์กรเพื่อให้ขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายได้ ปัจจุบันผู้บริโภคมีอิทธิพลมาก ลูกค้าเปลี่ยนจากรุ่นเก่ามาสู่รุ่นใหม่ การเป็นผู้นำอุตสาหกรรม ควรเรียนรู้เส้นทางลูกค้าใหม่ และเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศของลูกค้า ดังนั้น Digital Transformation จึงไม่เพียงแต่เปลี่ยนแปลงการทำงาน แต่ต้องทำให้องค์กรสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมบนความเข้าใจในเส้นทางของลูกค้าด้วย”
คุณณัฏฐ์ ถุงทรัพย์ , บริษัท Artificial Anything กล่าวว่า “ เกษตรกรขนาดเล็กแบบเดิมมีข้อจำกัดมากคือแรงงานคนและเครื่องจักร การสร้างชุมชนชาวนาด้วย Digital transformationจึงสร้างโอกาสการกระจายอำนาจและบูรณาการด้านการตลาดเข้ากับกระบวนการผลิต ทำให้เข้าถึงผู้บริโภคโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ซึ่งบริษัทขนาดใหญ่ไม่สามารถเข้ามาแบ่งส่วนแบ่งทางการตลาดตรงนี้ไปได้ เพราะสายการผลิตที่ไม่สามารถปรับได้ทัน ความท้าทายคือ การนำแนวคิดไปใช้ในทางปฏิบัติ ซึ่งผู้นำองค์กรมีส่วนอย่างมาก หากนโยบายภาครัฐมองเกษตรกรในฐานะที่เท่าเทียม ช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เป็นผู้จัดหาเทคโนโลยี จัดเก็บข้อมูลองค์ความรู้ และฐานข้อมูลทางการเกษตรเพื่อเปิดให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้คือ ปัจจัยความสำเร็จของการเดินทางร่วมกันไปสู่ดิจิทัลของประเทศไทย”
ย้ำการพัฒนาเมืองอัจฉริยะต้องพัฒนาเมืองเก่าให้มีจุดแข็งมากขึ้น
การบรรยายเรื่อง “การขับคลื่อนประเทศไทยให้เป็นเมืองอัจฉริยะเต็มรูปแบบ” โดย นายนิธิ ภัทรโชค กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจีและ ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ให้ความเห็นร่วมกันว่าเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart Cityต้องตอบโจทย์ของเมือง ซึ่งกรุงเทพฯ ยังมีปัญหาหลายอย่าง เช่น Health & Hygiene และ Comfort &Convenience โดยเมืองท่องเที่ยวที่ดีต้องตอบโจทย์ของนักท่องเที่ยวนักเดินทางและผู้อยู่อาศัยในชุมชนได้พร้อมกันเพราะการย้ายเมืองเป็นเรื่องใหญ่ที่ใช้งบประมาณมากเราจะควรพัฒนาเมืองให้มีจุดแข็งมากขึ้นเช่น การเก็บขยะ สำหรับเมืองเล็กต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปจะคุ้มค่ากว่า โดยเริ่มต้นจากหมู่บ้าน เทศบาล ตำบล จนถึงระดับจังหวัด
การศึกษา กุญแจสำคัญสู่การยกระดับการแข่งขันในโลกอนาคต
ในหัวข้อ “People and Education” ได้รับเกียรติการบรรยายจาก ฯพณฯ ยูริ ยาร์วียาโฮ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฟินแลนด์ ประจำประเทศไทยกล่าวว่า “หัวใจสำคัญในการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาของประเทศฟินแลนด์คือ การให้ความเชื่อมั่น เชื่อถือ และให้อิสระการทำงานกับคุณครูในโรงเรียน ซึ่งผ่านการฝึกฝนอย่างดี มีคุณภาพและการศึกษาสูง โดยทุกชุมชน ครูคือบุคลากรที่ได้รับความเชื่อถือให้ความเคารพมีเครือข่ายช่วยหลือกันระหว่างโรงเรียน และสามารถสร้างสรรค์หลักสูตรที่เหมาะสมกับคนในท้องถิ่นได้ “
คุณเทวินทร์ วงศ์วาณิช กรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้กล่าวเพิ่มเติมว่า“สำหรับประเทศไทยต้องมุ่งเน้นการกระจายอำนาจทางการศึกษาให้มากขึ้น เช่น การกระจายงบประมาณไปยังโรงเรียนท้องถิ่น เพิ่มอำนาจครูในระบบในการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงหลักสูตรวิธีการเรียนการสอนโดยคัดเลือกครูให้มีคุณภาพมากขึ้นการเพิ่มเงินเดือนค่าตอบแทนการปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ให้สอดคล้องกับในระบบเพราะการศึกษาคือรากฐานสำคัญของการสร้างโอกาสและการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ”
บทสรุปภาพรวมของการสร้างอนาคตในโลกของเศรษฐกิจและสังคมแบบใหม่
หัวข้อ “Shaping the Future of the new economy and society” Mr. Guillaume Hingel , World Economics Forum กล่าวว่า “โควิด-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ด้านเศรษฐกิจ ตลาดแรงงานโลกและการสร้างงานยุคใหม่ จากผลสำรวจ พบว่า ร้อยละ 84 ของบริษัทได้ปรับปรุงการทำงานให้มีรูปแบบเป็นดิจิทัลมากขึ้น มีการทำงานระยะไกล การทำงานที่บ้าน และการนำเครื่องจักรมาใช้แทนคน การสูญเสียตำแหน่งงานจากการมาของเทคโนโลยี ปัญหาแรงงานที่มีทักษะไม่เพียงพอในการทำงานจึงจำเป็นต้องเพิ่มพูนทักษะฯ ให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต ได้แก่ ทักษะคิดวิเคราะห์และนวัตกรรม ทักษะการแก้ไขปัญหาที่มีความซับซ้อน และทักษะการเรียนรู้แบบลงมือปฏิบัติและกลยุทธ์ การทำให้ประชากรโลกทุกคนเข้าถึงโอกาสที่เท่าเทียมกัน ต้องอาศัยความร่วมมือในการทำงานร่วมกันของภาครัฐและเอกชนเพื่อผลักดันความเจริญและการเติบโตของนวัตกรรมระดับชาติเพื่อสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่แท้จริง”