จับตาราคาน้ำมันดิบตลาดโลกไตรมาส 4 ถึงไตรมาสแรกปี 2565 ยังอยู่ในช่วงขาขึ้นคาดเฉลี่ย 80-90 เหรียญฯต่อบาร์เรล และมีโอกาสขยับถึง 100 เหรียญฯต่อบาร์เรลได้ ลุ้นประชุมโอเปกพลัส 4 พ.ย.ชี้ชะตา ด้านสถาบันปิโตรเลียม-นักวิชาการแนะลดภาษีสรรพสามิต1-2 บ./ลิตรลดผลกระทบน้ำมันแพง
นายดิษทัต ปันยารชุน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานเสวนา เจาะลึกราคาน้ำมันไทย แพงจริงหรือ? “จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจว่า สถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลก ยังคงมีแนวโน้มตึงตัวอยู่ในระดับสูง จากปัจจัยหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกหลังสถานการณ์โควิด , กำลังการผลิตน้ำมันดิบ , การเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว , หรือการเปิดประเทศให้มีการเดินทางท่องเที่ยวดังนั้นคาดว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ จนถึงไตรมาส 1ปี 2565 จะมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 80-90 เหรียญสหรัฐ / บาร์เรล และมีสิทธิจะมีการขยับขึ้นไปถึง 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ได้กรณีปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นมีแนวโน้มที่ขยับไปในทางที่ดีขึ้น
“ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยในปีนี้จะอยู่ที่ราวๆ 67-69 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งสูงกว่าปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 43 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล แต่
สำหรับปีหน้า บรรดานักวิเคราะห์มองว่า ราคาน้ำมันในตลาดโลก อาจจะพุ่งมาอยู่ที่ 75-85 เหรียญสหรัฐ /บาร์เรล ซึ่งเป็นผลมาจากการตึงตัวทางด้านการผลิตที่มีน้อยกว่าความต้องการใช้ ดังนั้นจึงชัดเจนว่า ราคาน้ำมันในปีหน้าจะยืนอยู่ในระดับสูงอย่างแน่นอน และคงต้องติดตาม การประชุมกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน(โอเปกพลัส) 23 ประเทศ 4 พ.ย. จะมีทิศทางในเรื่องกำลังการผลิตอย่างไรหากปรับตัวเลขการผลิตเพิ่มขึ้นย่อมทำให้ราคาตลาดโลกสูงต่อเนื่อง”นายดิษทัตกล่าว
นายคุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ราคาน้ำมันขายปลีกในไทย ปรับขึ้นตามราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปช่วยพยุงราคามาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น อยากให้ประชาชนเข้าใจว่ารัฐบาลพยายามดูแลราคาน้ำมันมาโดยตลอด ขณะเดียวกัน โครงสร้างราคาน้ำมันของไทยมีการจัดเก็บภาษีต่างๆ และการปรับเพิ่มสัดส่วนผสมน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพโดยเฉพาะไบโอดีเซลที่มีผลให้ราคาขายปลีกสูงขึ้นอีก ดังนั้นเห็นว่าระยะต่อไปควรจะ ยกเลิกเพดานราคาน้ำมันดีเซล ที่ใช้มานานถึง 15 ปีที่ 30 บาทต่อลิตรเป็น 34 บาทต่อลิตรให้สอดคล้องกับเงินเฟ้อ และสถานการณ์น้ำมันในตลาดโลก นอกจากนี้ ควรปรับลดภาษีสรรพสามิตลง 2 บาทต่อลิตร จากปัจจุบันจัดเก็บอยู่ที่ 5.99 บาทต่อลิตร รวมทั้ง ปรับลดการผสมไบโอดีเซลลงเหลือ 5% จากที่กำหนดไว้ 7-10% เพื่อช่วยลดภาระของการใช้เงินจากกองทุนน้ำมันฯ
นายพรายพล คุ้มทรัพย์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า หากลดราคาน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 5 บาท ซึ่งปัจจุบันใช้น้ำมันดีเซลวันละ 60 ล้านลิตร เงินภาษีของรัฐจะหายไปเดือนละประมาณ 10,000 ล้านบาทหรือปีละ 120,000 ล้านบาท คิดเป็นกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้สรรพสามิตจากน้ำมันดังนั้นส่วนตัวเห็นว่าไม่ควรจะดำเนินการทั้งหมดแต่หากจะบรรเทาผลกระทบระยะสั้นสามารถลดได้ 1-2 บาทต่อลิตรก็น่าจะเพียงพอ