xs
xsm
sm
md
lg

“เซ็นทรัลแล็บไทย” พร้อมสร้างมาตรฐานคุณภาพ “พืชกระท่อม” เพื่อขยายผลเชิงพาณิชย์-ส่งออก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด หรือ เซ็นทรัลแล็บไทย เดินหน้าเตรียมความพร้อมด้านเครื่องมือ และการตรวจทดสอบทางห้องปฏิบัติการในการตรวจสอบหาสารสำคัญในพืชกระท่อม หลังประเทศไทย มีผลบังคับใช้ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 8 พ.ศ. 2564 ปลดล็อกพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติด ประเภทที่ 5 ส่งผลให้ประชาชนโดยทั่วไปสามารถ ปลูกพืชกระท่อม เอาไว้ครอบครอง และสามารถซื้อ ขาย หรือนำมาบริโภคได้อย่างเสรี โดยไม่ผิดกฎหมาย ตามนโยบายรัฐบาลต้องการผลักดันให้เป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ สามารถส่งขายเชิงพาณิชย์ หรืออุตสาหกรรมได้ เพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไทย


นางชม้อย ทองลือ ผู้อำนวยการสำนักงานสาขากรุงเทพ บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า เซ็นทรัลแล็บไทย ได้รับใบอนุญาตในการตรวจคุณภาพพืชกระท่อมถูกต้องตามกฎหมายแล้ว โดยสามารถตรวจหาสารสำคัญในพืชกระท่อม คือ ไมทราไจนีน (Mitragynine) และ เซเว่นไฮดรอกซี่ไมทราไจนีน (7-hydroxymitragynine) ซึ่งเป็นกลุ่มสารที่ผู้ผลิตสามารถไปนำใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆได้ เช่น ทางการแพทย์ หรือนำไปเป็นส่วนส่วนผสมในผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น นอกจากยังสามารถให้การตรวจคุณภาพระหว่างกระบวนการปลูกตั้งแต่ ต้นน้ำ ถึง ปลายน้ำ เพื่อให้เกษตรกร ผู้ประกอบการ มีความมั่นใจในคุณภาพของผลผลิตจากพืชกระท่อม


“ขณะนี้ตัวอย่างที่นำมาทดสอบ มีทั้งของหน่วยงานรัฐ และเอกชน ที่มีวิธีการปลูกที่แตกต่างกัน ทั้งนี้เพื่อต้องการทราบว่าสารสำคัญของแต่ละสายพันธ์ุวิธีการปลูก ดินที่ปลูก พื้นที่การเพาะปลูกส่งผลให้พืชกระท่อมสามารถให้สารสำคัญในใบกระท่อมมากน้อยอย่างไร เพื่อนำไปเป็นฐานข้อมูลในการส่งเสริมเกษตรกรในการปลูก หรือ นำไปใช้ผลิต เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ รวมไปถึงการทดสอบผลิตภัณฑ์จากส่วนผสมใบกระท่อม ส่วนใหญ่ผู้ส่งตัวอย่างอยากทราบปริมาณสารสำคัญว่าเมื่อผสมไปแล้วจะมีประโยชน์ และได้สรรพคุณตรงตามที่กำหนดหรือไม่” ผู้อำนวยการสาขากรุงเทพ เซ็นทรัลแล็บไทย กล่าว


นายอารยะ โรจนวณิชชากร ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า แม้ปัจจุบันกฎหมายจะอนุญาตให้ประชาชนใช้พืชกระท่อมโดยเสรี แต่ยังไม่ได้อนุญาตให้ใช้ในทางพาณิชย์ โดยเฉพาะการแปรรูปเป็นผลิตอาหาร หรือ เครื่องดื่ม ยังจำเป็นต้องขออนุญาตจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการร่างข้อกำหนดของกฎหมายกำกับการใช้พืชประท่อมในประเด็นต่างๆ ซึ่งอาจต้องระยะเวลาหลังจากนี้ไม่ต่ำกว่า 1 ปี แต่เชื่อว่าร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพืชกระท่อม จะมีแนวทางที่ชัดเจนโดยเร็ว เพราะมีตัวอย่างจากการออกกฎหมายกำกับกัญชง-กัญชา ไปก่อนหน้านี้แล้ว


“เราห่วง 2 เรื่อง คือ ปริมาณ และ การกล่าวอ้าง ถ้าเรากินใบประท่อม บางทีเรากินเราเคี้ยว เราจะรู้ว่าเรากินไปมากน้อยแค่ไหน แต่พอเป็นอาหาร เราเอาใบกระท่อมไปสกัดเป็นสารสำคัญ เอาไปใส่ในผลิตภันฑ์ต่างๆ เราไม่รู้เลยว่ามีมากน้อยแค่ไหน ตรงนี้กระทรวงสาธารณสุขเป็นห่วง จึงต้องเข้ามากำกับดูแล” ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว


สำหรับสรรพคุณของพืชกระท่อม สมัยก่อนจะใช้เป็นตัวยาในตำรับประเภทยาแก้ท้องเสีย ในสูตรยาของหมอพื้นบ้านหรือหมอแผนโบราณ เช่น ตำรับยาประสะกระท่อม เป็นต้น โดยเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 8 พ.ศ. 2564 และประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 เป็นการกำหนดยกเลิกพืชกระท่อมจากการเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ซึ่งมีผลให้พืชกระท่อมไม่ถูกควบคุมเป็นยาเสพติดให้โทษ โดยกระทรวงยุติธรรมได้มีการยกร่างพระราชบัญญัติพืชกระท่อม พ.ศ. … เพื่อควบคุมพืชกระท่อมเป็นการเฉพาะ ทั้งนี้การนำพืชกระท่อมมาแปรรูปหรือนำมาใช้เป็นวัตถุดิบหรือเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยา อาหาร เครื่องสำอาง ผู้ผลิตจะต้องดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องของผลิตภัณฑ์นั้นๆ












กำลังโหลดความคิดเห็น