นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมประเทศไทย เปิดเผยว่า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร ภายใต้การกำกับกระทรวง อุตสาหกรรม ตามพระราชบัญญัติสภาอุตสาหกรรม พ.ศ. 2530 ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐที่ต้องการพัฒนาสถาบันธุรกิจภาคเอกชนของไทยให้แข็งแกร่ง อันจะทำให้กลไกการพัฒนาในภาคอุตสาหกรรมเป็นไปอย่างต่อเนื่อง สามารถประสานกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และพิทักษ์ผลประโยชน์ของชาติในวงการเศรษฐกิจโลก โดยมีวิสัยทัศน์ คือ เป็นแกนกลางเสริมสร้างความเข้มแข็ง และผลิตภาพอุตสาหกรรมไทย ให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของไทยให้ยั่งยืน
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประกอบด้วยสมาชิก 2 ประเภท คือ ประเภทสามัญ ซึ่งได้แก่ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่เป็นนิติบุคคล และประกอบการอุตสาหกรรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน ซึ่งรวมทั้งสมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม ประเภทสมทบ ได้แก่ บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลใดๆ ที่มิใช่โรงงานอุตสาหกรรมหรือสมาคมการค้า
“สภาอุตฯ มุ่งมั่นเดินหน้าที่จะอยู่เคียงข้างผู้ประกอบการ เพื่อช่วยแก้ปัญหาและอุปสรรคของอุตสาหกรรมในฐานะ “เพื่อนร่วมเศรษฐกิจ มิตรร่วมสร้าง” จึงหาแนวทางในการพัฒนาสมาชิกให้มีความรู้ ความสามารถเพื่อสร้างสมรรถนะการแข่งขันในตลาดโลก และสามารถนำพาอุตสาหกรรมไทยก้าวไกลสู่สากลอย่างเต็มภาคภูมิ จึงเล็งเห็นถึงโอกาสในการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มหาวิทยาลัยเปิดชั้นนำของโลกผู้ริเริ่มด้านการเรียนการสอนทางไกลเพื่อส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ตลอดชีวิต ในการพัฒนาหลักสูตรผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในยุคดิจิทัล โดยมีวัตถุประสงค์หลักที่มุ่งเน้นพัฒนาสมาชิกให้มีความรู้ สร้างความเข้มแข็งและความสามารถทางการแข่งขันให้ผู้ประกอบการรายย่อย และ/หรือผู้ประกอบการใหม่ และสร้างมาตรฐานสมรรถนะคุณวุฒิวิชาชีพผู้ประกอบการอุตสาหกรรม”
ล่าสุดได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกัน ซึ่งเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของสภาอุตสาหกรรม และ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ที่จะทำให้เกิดการพัฒนาสร้างผู้ประกอบการอุตสาหกรรมมือใหม่ให้ก้าวทันยุคดิจิทัล เราจะร่วมกันนำภาคอุตสาหกรรมไทยก้าวสู่การเป็นที่ยอมรับและเชื่อถือในระดับสากล และนำเศรษฐกิจไทยสู่ความรุ่งเรืองและมั่นคงอย่างยั่งยืน
ขณะที่ประเทศไทยมียุทธศาสตร์ชาติ ปี พ.ศ. 2561-2580 เป็นแผนแม่บทหลักระดับชาติ ครอบคลุมประเด็นการพัฒนาประเทศในทุกมิติ และถ่ายทอดลงไปสู่การปฏิบัติผ่านแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ขณะนี้อยู่ในระหว่างกระบวนการยกร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) ฉบับสมบูรณ์ เพื่อพลิกโฉมประเทศไทยสู่ “สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน” ซึ่งประเด็นหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จในการพลิกโฉมประเทศไทย คือ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างมีประสิทธิภาพด้วยระบบการศึกษาให้มีคุณภาพเอื้อต่อการสร้างสังคมการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับประชาชนทุกช่วงวัย รวมทั้งการพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีคุณภาพและได้มาตรฐาน
***ม.สุโขทัยฯ ยกระดับทักษะตอบสนองผู้เรียน
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมประเทศไทย กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ผู้นำและผู้ริเริ่มการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาทางไกลเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ด้วยตนเองตลอดชีวิต นอกเหนือจากหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอกแล้ว ยังมีหลักสูตรในระดับต่ำกว่าปริญญา (Non-degree Programs) ระบบโมดูลการเรียน (Modular System) ที่มุ่งเน้นการพัฒนาสมรรถนะในการทำงานควบคู่กับคุณภาพชีวิตด้านต่างๆ เพื่อเสริมสร้างทักษะใหม่ (Re-Skill) และยกระดับทักษะเดิมให้ดีขึ้น (Up-Skill) ตอบสนองการเรียนรู้ตามความต้องการของแต่ละบุคคลและหน่วยงาน
“มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ผู้ริเริ่มและผู้นำการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาทางไกลเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ด้วยตนเองตลอดชีวิต สอดคล้องและสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พันธกิจหลักในการจัดการการเรียนรู้ตลอดชีวิต ประกอบด้วยหลักสูตรการเรียนในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก และยังมีการจัดหลักสูตรในระดับต่ำกว่าปริญญา (Non-degree Programs) ในระบบโมดูลการเรียน (Modular System) ที่มุ่งเน้นการพัฒนาสมรรถนะในการทำงานควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านต่างๆ เพื่อเสริมสร้างทักษะใหม่ (Re-Skill) และยกระดับทักษะเดิมให้ดีขึ้น (Up-Skill) ตอบสนองการเรียนรู้ตามความต้องการของแต่ละบุคคลและหน่วยงาน ตามปณิธานของ มสธ. ที่ไหน เวลาใด ใครก็เรียนได้”
***เผยจุดเด่นหลักสูตรเก็บสะสมหน่วยกิตเข้าเรียนต่อ มสธ.
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในฐานะมหาวิทยาลัยเปิดชั้นนำระดับโลก ผู้ริเริ่มและผู้นำการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาทางไกลเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ด้วยตนเองตลอดชีวิต สอดคล้องและสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พันธกิจหลักในการจัดการการเรียนรู้ตลอดชีวิต ประกอบด้วยหลักสูตรการเรียนในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก และยังมีการจัดหลักสูตรในระดับต่ำกว่าปริญญา (Non-degree Programs) ในระบบโมดูลการเรียน (Modular System) ที่มุ่งเน้นการพัฒนาสมรรถนะในการทำงานควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านต่างๆ เพื่อเสริมสร้างทักษะใหม่ (Re-Skill) และยกระดับทักษะเดิมให้ดีขึ้น (Up-Skill) ตอบสนองการเรียนรู้ตามความต้องการของแต่ละบุคคลและหน่วยงาน ตามปณิธานของ มสธ. ที่ไหน เวลาใด ใครก็เรียนได้
ล่าสุดมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชได้ร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในการออกแบบการเรียนรู้หลักสูตรต่างๆ และจัดรูปแบบการเรียนการสอนตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง เพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ทั้งผู้ประกอบการรายใหม่ ผู้ประกอบการรายใหญ่หรือรายย่อย รวมไปถึงบุคลากรในองค์กร ซึ่งจะเป็นหลักสูตรที่จะเข้าถึงผู้ประกอบการในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศที่ตรงตามความต้องการ และความจำเป็นของอุตสาหกรรมในแต่ละภาค แต่ละจังหวัด เรียกว่า tailored made ให้กับภาคอุตสาหกรรมในแต่ละส่วน นอกจากนี้ การออกแบบหลักสูตรของ มสธ.เป็นการรวมผู้ทรงคุณวุฒิทั้งภายใน และภายนอกมาช่วยประกอบองค์ความรู้
ดังนั้น การจัดหลักสูตรผู้ประกอบการก็เช่นกัน มสธ.เชื่อว่าหลักการนี้จะช่วยสนับสนุนให้การจัดการเรียนการสอนจะประกอบไปด้วยผู้มีความรู้ทั้งในภาคทฤษฎี และปฏิบัติ มาร่วมกันสร้างให้ผู้ประกอบการได้มีความรู้ ทักษะ และเจตคติที่จำเป็น เพื่อสร้างความได้เปรียบในเชิงการแข่งขันให้แก่อุตสาหกรรมของไทยต่อไป ทั้งนี้ หลักสูตรที่จัดขึ้นนั้นจะมีความสอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพตามกลุ่มอุตสาหกรรม ที่สำคัญ สมาชิกสภาอุตสาหกรรมที่เข้าเรียนผ่านโครงการความร่วมมือนี้จะสามารถเก็บสะสมหน่วยกิตสำหรับการศึกษาต่อในหลักสูตรการศึกษาของ มสธ.ได้อีกด้วย นับเป็นมิติใหม่ในการพัฒนาบุคลากรภาคอุตสาหกรรมสำหรับยุค Next Normal เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและสร้างโอกาสความสำเร็จที่สูงยิ่งขึ้น
“ชัชนันท์” ชี้คนอุตฯ ต้องก้าวทันนวัตกรรมสร้างองค์ความรู้
ดร.ชัชนันท์ ถนอมวรสิน กรรมการบริหาร บจก.ไทยเอเย่นซี เอ็นยีเนียริ่ง กรรมการกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โครงการความร่วมมือของสภาอุตฯ กับ ม.สุโขทัยฯ นับว่าเป็นโครงการที่ยกระดับองค์ความรู้ให้คนในวงการอุตสาหกรรม ที่ต้องมีการพัฒนาศักยภาพให้มีความเชี่ยวชาญ และดึงให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเข้ามาเป็นสมาชิกสภาอุตฯมากขึ้น ซึ่งจะเห็นว่าได้รับประโยชน์จากการพัฒนาศักยภาพบุคลากรในวงการอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ได้ยกตัวอย่างงานในการเกษตร และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับบริษัทตนเองว่าปีนี้บริษัทจะนำเครื่องหีบปาล์มน้ำมัน ประกอบด้วย เครื่องหีบปาล์มน้ำมันจากผลปาล์ม และเครื่องหีบจากเมล็ดในปาล์มวางจำหน่ายตลาดในประเทศเพื่อป้อนโรงงานน้ำมันปาล์ม โดยเครื่องหีบปาล์มน้ำมันของบริษัทแทบจะเรียกได้ว่าเป็นเครื่องหีบที่ผลิตโดยบริษัทคนไทยร้อยเปอร์เซ็นต์เป็นเจ้าแรก เพราะว่าเครื่องหีบที่โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มใช้กันอยู่ในขณะนี้ส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศมาเลเซีย
สำหรับคุณสมบัติเครื่องหีบปาล์มน้ำมันของบริษัท เหมาะสำหรับโรงงานที่มีขนาดกำลังผลิตตั้งแต่ 15-60 ตันทะลายปาล์มต่อชั่วโมง และชิ้นส่วนสกรูสำหรับหีบสามารถใช้งานได้นานถึง 1,500 ชั่วโมงจากปกติเครื่องสกรูในเครื่องหีบปาล์มน้ำมันจะมีอายุประมาณ 800 ชั่วโมง นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างเตรียมนำเครื่องหีบปาล์มน้ำมันรวมสำหรับนำน้ำมันปาล์มไปผลิตไบโอดีเซลอีกด้วย
“บริษัทได้รับการสนับสนุนทุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) วิจัยและพัฒนาเครื่องเก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง โดยจะเป็นเครื่องที่สามารถดึงหัวมันสำปะหลังขึ้นจากดินแล้วเครื่องสามารถช่วยแยกเหง้าและหัวออกจากกัน ทั้งเครื่องเกี่ยวมันสำปะหลังและเครื่องตัดอ้อย คาดว่าจะวางตลาดได้ปีหน้า สิ่งเหล่านี้ล้วนต้องการบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถมาช่วยทำงาน เนื่องจากภาคแรงงานภาคเกษตรเริ่มขาดแคลนและหายากมากขึ้น แถมค่าจ้างแรงงานสูงขึ้น จึงต้องมีการนำเทคโนโลยีมาช่วยลดเวลาและค่าใช้จ่าย”
ดังนั้น สิ่งที่กล่าวนั้นจะเห็นได้ว่าคนในวงการอุตสาหกรรมจำเป็นต้องมีการพัฒนาและต้องได้รับองค์ความรู้เพื่อก้าวให้ทันนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งตลาดแรงงานไทยยังขาดแคลน หากได้รับการฝึกอบรมและขยายวงร่วมกับสถาบันการศึกษาอื่นๆ ยิ่งขึ้นก็นับว่าจะเป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมมากขึ้นในอนาคต