บอร์ด รฟท.เคาะค่าโดยสารรถไฟสายสีแดงช่วง 3 ปีแรกที่ 12-42 บาท เริ่มจัดเก็บปลาย พ.ย. 64 เปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ ยอมรับอาจกระทบรายได้ หวังจูงใจประชาชนหันมาใช้บริการระบบรางเพิ่ม
แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. ที่มี นายจิรุตม์ วิศาลจิตร เป็นประธาน วันที่ 18 ต.ค. 2564 ได้มีมติเห็นชอบอัตราค่าโดยสารโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน ที่ 12-42 บาท โดยอัตราแรกเข้า 12 บาท บวกเพิ่ม กม.ละ 1.50 บาท โดยค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 42 บาท โดยจะเริ่มจัดเก็บค่าโดยสารพร้อมกับการเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ช่วงปลายเดือน พ.ย. 2564 โดยจะใช้อัตราค่าโดยสารนี้เป็นเวลา 3 ปี
ทั้งนี้ อัตราค่าโดยสารดังกล่าวถือว่าต่ำกว่าเกณฑ์อัตรารถไฟฟ้าสายอื่นที่จัดเก็บเฉลี่ยที่ กม.ละ 2 บาท และอาจจะมีผลกระทบต่อรายได้ของรถไฟสายสีแดงและวินัยทางการเงินของ รฟท. แต่เห็นว่าจะเป็นอัตราที่เหมาะสม และเพื่อเป็นการส่งเสริมการเดินทางของประชาชนด้วยระบบราง และช่วยลดค่าครองชีพให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 อีกด้วย
เบื้องต้นโครงสร้างอัตราค่าโดยสารจะคิดอัตราแรกเข้าบวกระยะทาง โดยสายบางซื่อ-รังสิต คือใช้บริการจากสถานีบางซื่อ-สถานีจตุจักร ราคา 16 บาท จากสถานีบางซื่อ-สถานีวัดเสมียนนารี ราคา 19 บาท จากสถานีบางซื่อ-สถานีบางเขน ราคา 20 บาท จากสถานีบางซื่อ-สถานีหลักสี่ ราคา 27 บาท และหากเดินทางถึงสถานีรังสิต ราคา 42 บาท เป็นต้น สายบางซื่อ-ตลิ่งชัน เดินทางจากสถานีบางซื่อ-สถานีบางซ่อน ราคา 18 บาท จากสถานีบางซื่อ-สถานีบางบำหรุ ราคา 20 บาท เป็นต้น
สำหรับการเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดงแบบ Soft-Opening ตั้งแต่วันที่ 2 ส.ค. 2564 พบว่าปัจจุบันมีจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยประมาณ 6,000 คนต่อวัน ซึ่งต่ำกว่าประมาณการผลการศึกษาที่คาดว่าในปีแรกจะมีผู้โดยสารประมาณ 80,000 คนต่อวัน ซึ่งสาเหตุหลักมาจากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19