NEX มั่นใจปี 64 กลับพลิกกำไร หลังทยอยส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้า 500 คัน และปีหน้าคาดรายได้เติบโต 100% หลังเดินเครื่องจักรโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเต็มที่ เน้นเจาะกลุ่มลูกค่ารถขนส่ง บขส. ขสมก.
นายคณิสสร์ ศรีวชิระประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) หรือ NEX เปิดเผยว่า ทิศทางธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV) จากนี้ไปจะเติบโตเพิ่มขึ้นตลอดในช่วง 5 ปีข้างหน้า ขณะที่การผลิตรถยนต์สันดาป หรือรถยนต์ที่ใช้น้ำมันจะลดลง คาดว่าในระยะ 10 ปีจะมีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเกือบ 100% เนื่องจากหลายประเทศทั้งสหรัฐฯ จีน และยุโรปได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้น
ขณะที่ประเทศไทย คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ได้ออกแนวทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ตามนโยบาย 30/30 คือการตั้งเป้าผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี 2573
นายคณิสสร์กล่าวว่า ทิศทางผลการดำเนินงานในปี 2564 มีแนวโน้มเติบโตที่ดี โดยมั่นใจว่าจะกลับมาพลิกเป็นกำไรได้ จากที่ขาดทุนต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2561 ที่ขาดทุนสุทธิ 55 ล้านบาท ปี 2562 ขาดทุนสุทธิ 146 ล้านบาท ปี 2563 ขาดทุนสุทธิ 213 ล้านบาท ส่วนสิ้นงบไตรมาส 2/2564 นั้นยังขาดทุนสุทธิอยู่ 70 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทได้ทยอยส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้าประมาณ 500 คันภายในปีนี้ ล่าสุดได้ส่งมอบให้แก่รถร่วม ขสมก.แล้ว 120 คัน
ส่วนปีหน้ามั่นใจว่าจะได้รับคำสั่งซื้อรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากหน่วยงานภาครัฐได้ส่งเสริมให้ใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ขณะที่เอกชนก็สนใจเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะรถยนต์ที่ใช้สำหรับขนส่ง ซึ่งรถขนส่งตั้งแต่ 6 ล้อขึ้นไปมีประมาณ 40,000 คันต่อปีที่ต้องการเปลี่ยนรถใหม่ ขณะที่รถเมล์ร่วม บขส.ที่ต้องการเปลี่ยนรถใหม่ประมาณ 6,000 คันต่อปี ยังไม่นับรถ บขส. ส่วนรถเมล์ ขสมก. ประมาณ 3,000 คันที่ต้องการเปลี่ยนเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ดังนั้น ในปี 2565 NEX จึงมีโอกาสที่จะได้รับออเดอร์ในจำนวนนี้ ซึ่งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของบริษัทฯ ที่ร่วมกับ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA สามารถดำเนินการผลิตได้เต็มกำลังการผลิต 2 กะได้จำนวน 6,000 คันต่อปี ดังนั้น NEX จึงมั่นใจว่าในปี 2565 จะมีรายได้เติบโต 100% หรือประมาณ 24,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ โรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า โดย NEX ที่ลงทุนในสัดส่วน 45% กับ EA ในสัดส่วน 55% นั้น ส่วนใหญ่จะเจาะกลุ่มรถยนต์เพื่อเชิงพาณิชย์ เช่น รถขนส่ง รถโดยสารประจำทาง เป็นต้น เฉลี่ยราคา 6 ล้านบาทต่อคัน ซึ่งให้ผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) ประมาณ 12-20%