xs
xsm
sm
md
lg

เปิดกลยุทธ์ Collab แบบ BCG แจ้งเกิดสินค้าใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การตลาด - เปิดเคล็ดลับกลยุทธ์แนวคิด BCG (BIO-CIRCULAR-GREEN) ของสินค้า 5 กลุ่ม เผยคงไม่ใช่แค่คำที่ถูกนำมาใช้เพื่อให้สวยหรูดูดีอีกต่อไป เพราะขณะนี้ตลาดการค้าทั่วโลกต่างให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ทำให้ผู้ประกอบการสินค้าไลฟ์สไตล์และแฟชั่นไทยต้องหันกลับมาพิจารณากระบวนการสร้างสรรค์สินค้ากันใหม่ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง

โครงการพัฒนาสินค้าไลฟ์สไตล์ใหม่สำหรับงานแสดงสินค้า STYLE Bangkok” หรือ STYLE BANGKOK COLLABORATION 2021 ภายใต้แนวคิดเพื่อชีวิตและธุรกิจที่ยั่งยืนกว่า (Sustainable Life) ที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจัดขึ้นในปี 2564 นี้ มีผู้ประกอบการให้ความสนใจเข้าร่วมหลากหลายแบรนด์เพื่อสร้างพันธมิตรใหม่ๆ ที่จะร่วมกันสร้างสรรค์สินค้าที่ดึงดูดใจผู้ซื้อและยังสอดคล้องไปกับเทรนด์ของตลาดโลกอย่าง BCG


*** เริ่ม Collab เพื่อไปต่อ
นายจิรชัย ตั้งกิจงามวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อุตสาหกรรม ดีสวัสดิ์ จำกัด เจ้าของแบรนด์ Deesawat เล่าในฐานะผู้ที่เข้าร่วมโครงการมาตลอด 2 ปีว่า “ปีนี้แบรนด์ที่เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นแบรนด์น้องใหม่ที่เพิ่งสร้างแบรนด์ไม่นาน ได้ความรู้สึกเหมือนพี่จูงน้อง มีโอกาสให้คำแนะนำจากประสบการณ์ที่มากกว่า ขณะที่แบรนด์รุ่นน้องก็มีไอเดียใหม่ๆ มาแชร์หรือนำเสนอวัสดุที่แปลกออกไปเช่นกัน

ข้อดีของปีนี้คือมีคอนเซ็ปต์หลักของการสร้างสรรค์สินค้าคือเรื่อง BCG ทำให้มีเรื่องราวชัดเจนเพื่อสื่อสารกับลูกค้า หลังจากที่พูดคุยกันพบว่าหลายแบรนด์ไม่เข้าใจเรื่อง BCG ซึ่งทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้ จึงช่วยกันดึงเรื่องราวเหล่านี้ออกมาสื่อสาร ซึ่งเป็นสิ่งที่ง่ายที่สุดที่จะเริ่มตอบโจทย์ BCG คือการกำจัดหรือลดขยะที่เกิดจากการผลิตสินค้าของตัวเองให้ได้ก่อน

“ปี 2564 นี้ ดีสวัสดิ์ได้ Collab กับวาสุ (Wasoo) แปรรูปขี้เลื่อยไม้สักของโรงงานไปเป็นอิฐบล็อกในรูปแบบ Wall Art เนื่องจากปัจจุบันขี้เลื่อยจากโรงงานจะถูกส่งไปที่โรงงานผลิตธูป แต่อนาคตก็ไม่แน่ใจว่าโรงงานผลิตธูปจะยังอยู่ได้ไหม จึงต้องมองหาปลายทางใหม่ให้กับขยะจากดีสวัสดิ์ สิ่งที่เกิดขึ้นและเห็นได้ชัดในโครงการคือการเป็นจุดเริ่มต้นให้หลายๆ แบรนด์ได้มีโอกาสสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ ได้แลกเปลี่ยนแนวคิดเพื่อนำไปสู่การพัฒนาสินค้าร่วมกันในอนาคต ไม่ได้สิ้นสุดแค่การผลิตสินค้าสำหรับโครงการ แม้โครงการจะจบลงแต่เชื่อว่ารูปแบบของ Collaboration จะทำให้เกิดการต่อยอด นำไปสู่การสร้างสรรค์ความแปลกใหม่ของผลิตภัณฑ์ได้ในอนาคต”


*** เมื่อเซรามิกและพลาสติกมาเจอกัน
นางสาวณพกมล อัครพงศ์ไพศาล และนายนล เนตรพรหม เจ้าของแบรนด์ละมุนละไม (Lamunlamai) เล่าว่า สินค้าของละมุนละไมเป็นงานเซรามิกแฮนด์คราฟต์ซึ่งปั้นขึ้นรูปด้วยมือทั้งหมด ส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร และของประดับตกแต่งบ้าน มีจุดเด่นมาจากลวดลายและสีสันที่มาจากแร่ธาตุธรรมชาติ ได้ร่วมกับแบรนด์ Qualy ซึ่งเป็นแบรนด์สินค้าพลาสติกรักษ์โลก

โดยทั้งสองแบรนด์มีเป้าหมายร่วมกันในด้านความยั่งยืน ต้องการนำเศษเหลือจากการบริโภคในแต่ละวัน ได้แก่ บรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ขวดแก้ว และกากกาแฟ กลับมาเป็นวัสดุและส่วนผสมในการสร้างสรรค์ผลงาน ไม่ว่าจะเป็นชุดถ้วยกาแฟ ขวด ถาดใส่ขนม และกระถางต้นไม้ เพื่อลดปริมาณขยะในสิ่งแวดล้อมและลดการใช้ทรัพยากรใหม่ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “The Landscape on the table”

การจำลองภูมิทัศน์ธรรมชาติมาไว้บนโต๊ะทำงาน เพื่อให้ผู้ใช้ได้ตระหนักถึงผลกระทบจากการบริโภคในแต่ละวันที่มีต่อระบบนิเวศในธรรมชาติ โดยผลงานที่ออกแบบจะมีองค์ประกอบที่เป็นตัวแทนของก้อนหิน น้ำ สัตว์ (นก) และต้นไม้ มีการผสานวัสดุและรูปทรงของงานคราฟต์ที่ดูเป็นธรรมชาติจากละมุนละไมเข้ากับงานพลาสติกในระบบอุตสาหกรรมของ Qualy ได้อย่างลงตัว ทั้งหมดนี้ต้องการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำงานอยู่ที่บ้าน ให้อยู่แล้วมีความสุข สร้างบรรยากาศที่ดีให้กับบ้าน ซึ่งตั้งใจว่าจะพัฒนาต่อเพื่อวางตลาดจริงได้ทั้งในและต่างประเทศ

“ปัจจุบันโลกของการออกแบบไม่ได้ขึ้นอยู่กับการผลิตสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างเดียวไปตลอดเท่านั้น แต่อาศัยการทำงานร่วมกันระหว่างแบรนด์กับนักออกแบบมากขึ้นเพื่อขยายขอบเขตจากสิ่งที่แต่ละคนถนัด ได้ทำความเข้าใจกลุ่มลูกค้า และความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เพื่อต่อยอดเกิดการสร้างสรรค์สินค้าใหม่ที่ดีกว่าเดิม การเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้เป็นโอกาสดีที่ได้โฟกัสกับการออกแบบที่ตอบรับนโยบาย BCG Economy ซึ่งในต่างประเทศให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้มานานแล้ว ผู้ผลิตต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ในกระบวนการออกแบบและผลิตออกสู่ตลาด อีกทั้งมีโอกาสขยายศักยภาพของแบรนด์ รวมถึงกลุ่มลูกค้าสินค้าไลฟ์สไตล์และเฟอร์นิเจอร์ที่ไป collab ด้วย ได้เห็นมุมมองใหม่ว่าแบรนด์อื่นมองภาพสินค้าของละมุนละไมเข้าไปร่วมด้วยได้อย่างไร และได้ร่วมกันผลิตสินค้าที่มุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกันด้วยการคำนึงถึง people - planet และ profit อย่างยั่งยืน ซึ่งประสบการณ์ที่ได้เป็นสิ่งที่สามารถนำไปขยายต่อยอดทั้งกับแบรนด์ตัวเอง และการจะร่วมมือกับแบรนด์อื่นในอนาคตได้อีกด้วย” นางสาวณพกมลกล่าว


***ใครว่าสินค้า Mass Production จะใส่ความครีเอทีฟไม่ได้
ฐากร เท็กซ์ ไทล์ สตูดิโอ (Takorn Textile Studio) สตูดิโอผู้สร้างสรรค์สิ่งทอซึ่งเน้น Innovative Textile การทดลองโครงสร้างทางสิ่งทอใหม่ๆ เพื่อให้เกิด texture และ visual ที่แปลกออกไป

นายฐากร ถาวรโชติวงศ์ (ผู้บริหาร ฐากร เท็กซ์ ไทล์ สตูดิโอเล่าว่า “ได้ร่วมพัฒนาสินค้ากับแบรนด์ชูส์เฮาส์ (Shoes House) ผู้ผลิตรองเท้าเพื่อส่งออก ซึ่งเห็นว่าวัสดุของฐากรน่าจะไปต่อยอดรองเท้าที่เจาะตลาดยุโรปได้ โดยออกแบบเป็นรองเท้าบูต 3 คอลเล็คชั่น ภายใต้คอนเซ็ปต์ futuristic และ exotic เพราะมองว่าในยุคหลังโควิด

สิ่งที่เกิดขึ้นใหม่หรือวัฒนธรรมที่เกิดหลังจากนี้น่าจะก้าวล้ำมากๆ คนโหยหาการแต่งตัวและแฟชั่น จึงต้องดีไซน์สิ่งที่ล้ำจริงๆ ขณะเดียวกันยังเป็นการ upcycle ของวัสดุเหลือใช้ด้วย โดยทางชูส์เฮาส์นำเศษหนังที่เหลือจากโรงงานมาผลิตร่วมกับเส้นใยของฐากรซึ่งมีการผสมเส้นใยรีไซเคิลจากขวดน้ำพลาสติกใช้แล้วเข้าไปด้วย ถือเป็นความร่วมมือที่ท้าทายเพราะเป็นการทำร่วมกันแบบออนไลน์ 100% ผ่านการสเกตช์แบบกันทางออนไลน์ แล้วนำไปตัดเย็บขึ้นเป็นต้นแบบ

“การเข้าร่วมโครงการนี้เป็นการเปิดโอกาสที่ดีในการนำเอาความคิดสร้างสรรค์ไปผนวกเข้ากับโรงงานผลิตสินค้าในเชิง Mass Production ซึ่งก็สามารถทำเพื่อจำหน่ายได้จริง” นายฐากรกล่าว


*** แนวคิดตรงกัน สินค้าใหม่ก็เกิดขึ้นได้ไม่ยาก
นายชนน วระพงษ์สิทธิกุล และนางสาวณัฐฏิยา รัชตราเชนชัย จากฮาร์ฟแบรนด์ (HARVBRAND) ผู้ผลิตสินค้าตกแต่งบ้านที่ขยายตัวจากโรงงานเฟอร์นิเจอร์ปาร์ติเคิลบอร์ด เน้นการออกแบบและผลิตสินค้าที่ใช้วัสดุอย่างคุ้มค่า ให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพผู้ใช้ เล่าว่า ปาร์ติเคิลบอร์ดเป็นวัสดุที่เกิดจากไม้เหลือใช้หมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ โดยมาจากต้นยางที่ลำต้นถูกนำไปผลิตเฟอร์นิเจอร์แล้ว เหลือกิ่งก้านต่างๆ ซัปพลายเออร์จึงนำมาย่อยให้เล็กลงผสมกาวคุณภาพดีที่มีการปล่อยสารฟอร์มัลดิไฮด์ต่ำหรือไม่มีเลย แล้วบีบอัดด้วยความดันสูง

เมื่อเข้าร่วมโครงการจึงมองหาแบรนด์ที่มีวัสดุแนวทางเดียวกันอย่าง Qualy เพื่อออกแบบสินค้าใหม่ที่ใช้จุดเด่นของทั้งสองแบรนด์มาร่วมกัน ให้เกิดเป็นสินค้าในรูปแบบโมดูลา ขนาดต่อชิ้นนั้นไม่ใหญ่แต่สามารถนำไปต่อกันเพื่อขยายประโยชน์การใช้งานได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นชั้นวางหนังสือ วางของแต่งบ้าน ต้นไม้ หรือคอนโดแมว เป็นต้น โดยเสากิ่งไม้ทำจากพลาสติกรีไซเคิลของ Qualy ส่วนชั้นเป็นเศษไม้จากโรงงานที่ตัดเหลือจากเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่ เช่น เตียง ตู้เสื้อผ้า โต๊ะเครื่องแป้ง ซึ่งจัดเป็นเซตจำหน่ายให้ลูกค้าเลือกขนาด S M L วางแผนที่จะจำหน่ายให้ได้ภายในปี 2564 นี้

รวมทั้งจะต่อยอดไปในสินค้าแบบอื่นๆ เพราะทั้งสองแบรนด์มีแนวคิดตรงกันในด้านการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ ต่างเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน คือช่วยขยายรูปแบบให้กับการจำหน่ายสินค้าของ Qualy เพราะจากเดิมจำหน่ายสินค้าเป็นชิ้นแต่เมื่อมาทำเป็นรูปแบบเฟอร์นิเจอร์ทำให้จำหน่ายได้ทีละหลายชิ้น ส่วนทาง HARVBRAND เองก็สามารถใช้เศษไม้ได้อย่างคุ้มค่าและเต็มที่มากขึ้น

“เทรนด์เฟอร์นิเจอร์ที่มาทาง BCG (Bio-Circular-Green) จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้ชัดจากยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่มีแบรนด์ลักษณะนี้เพิ่มขึ้นมาก มีผู้คนให้ความสนใจและซื้อสินค้า รัฐบาลยุโรปเองก็มีมาตรการในการอนุญาตสินค้าเพื่อจำหน่ายในประเทศมากขึ้นด้วย ในประเทศไทยแม้จะเป็นวาระแห่งชาติก็จริงแต่ก็ยังมีจำนวนผู้ใช้สินค้าแบบนี้ไม่มากอาจเพราะติดในเรื่องของราคา แต่คิดว่าในอนาคตหากความต้องการเพิ่มสูงขึ้น ผู้ผลิตก็จะสามารถผลิตได้ในต้นทุนที่ถูกลง สำหรับประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการนี้อันดับแรกคือการได้รู้จักผู้ประกอบการและผู้เชี่ยวชาญที่ช่วยเพิ่มเครือข่ายในการทำธุรกิจ อันดับสองคือการได้รับมุมมองใหม่ๆ ที่ไม่เคยนึกถึงมาก่อน เกิดเป็นคอมมูนิตีของแบรนด์ที่สนใจเรื่องเดียวกัน เกิดการแลกเปลี่ยนมุมมอง ทำให้มีพลังบางอย่างที่จะส่งถึงลูกค้าในอนาคตให้หันมาใช้วัสดุที่เป็น BCG มากขึ้น เพื่อช่วยกันลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติน้อยลง” นายชนนกล่าว


*** การได้ค้นหาวัสดุแปลกใหม่เป็นเรื่องดี
ประสบการณ์การเข้าร่วมโครงการ STYLE BANGKOK COLLABORATION ในปีที่ผ่านมาทำให้ นางสาวจุไร​รัตน์​ คุณ​า​วิ​ชยา​นนท์​ เจ้าของแบรนด์ คุณเดคอเรต (KUN decorate) ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์จากอะลูมิเนียมตัดสินใจเข้าร่วมโครงการในปีนี้ได้ไม่ยาก โดยเล่าว่า

“การเข้าร่วมโครงการในปีที่แล้วทำให้เห็นถึงข้อดีของการได้รู้จักวัสดุแปลกใหม่ มีโอกาสในการพัฒนาสินค้าใหม่ที่ต่อยอดจากเฟอร์นิเจอร์ จึงตัดสินใจเข้าร่วมในปีนี้ ซึ่งได้ร่วม Collab กับ 6 แบรนด์ ใน 4 คอลเลกชัน มีโอกาสในการนำอะลูมิเนียมจาก KUN DECORATE ไปร่วมกับวัสดุอื่น ไม่ว่าจะเป็นเศษหนังรีไซเคิลจากแบรนด์ธาอีส (THAIS) สำหรับการผลิตสินค้าเพื่อกิจกรรมแคมปิ้ง ช่วยเพิ่มคุณค่าใหม่ๆ ให้กับการใช้งาน หรือการทำให้อะลูมิเนียมดูนุ่มนวลลงด้วยการไปผนวกกับเส้นใยจากผักตบชวาและใยผ้าจากแบรนด์ มูเน่ (Munie) และใส่ใจ (SAI JAI) เพื่อทำเป็นโคมไฟกระเป๋าหิ้ว

ขณะที่แบรนด์วินเทค (Wintech) ซึ่งเป็นกระจกก็มาชวนทำเฟอร์นิเจอร์ที่แปลกออกไปโดยใช้กระจกเป็นขาแต่อะลูมิเนียมกลายไปเป็นส่วนท็อป ส่วนคอลเลกชันสุดท้ายคือการร่วมกับ หนึ่งศูนย์สามเปเปอร์ (103paper) และฮิวมีม (Humeme) เพื่อทำสินค้าขนาดเล็กที่ใส่ของได้โดยมีปิ่นโตเป็นแกนของคอนเซ็ปต์ การร่วมมือเหล่านี้คือความท้าทายใหม่ๆ ที่สามารถต่อยอดความร่วมมือได้ต่อไปในอนาคต

ความร่วมมือกันหรือการ Collaboration นั้นเกิดขึ้นได้ในทุกอุตสาหกรรม เมื่อแบรนด์มีเป้าหมายเดียวกัน ย่อมพัฒนาความร่วมมือต่อกันได้ในหลายๆ ด้าน และต่อยอดไปยังอนาคต เพื่อให้เกิดสินค้าใหม่ที่สามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืนในโลกของการค้า และส่งเสริมการใช้ชีวิตของมนุษย์ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น