พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ เดินทางตรวจเยี่ยมและติดตามความก้าวหน้าสถานีดาวเทียมและศูนย์กลางขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอวกาศ ในพื้นที่เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (Eastern Economic Corridor of Digital : EECd) เพื่อติดตามการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง ณ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ภายในพื้นที่อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ หรือ SKP อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี โดยมี ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA และ ดร.ดำรงค์ฤทธิ์ เนียมหมวด รองผู้อำนวยการฯ ให้การต้อนรับ
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีและคณะได้รับฟังรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการพัฒนาระบบ THEOS-2 และการพัฒนาดาวเทียมระดับ Industrial grade โดยวิศวกรไทย การพัฒนาเศรษฐกิจอวกาศจากเครือข่ายดาวเทียมวงโคจรต่ำ รวมถึงการนำเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศไปใช้ประโยชน์ด้านการบริหารจัดการน้ำ
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี และคณะยังได้รับฟังความคืบหน้าการดำเนินงานของศูนย์ทดสอบและประกอบดาวเทียมแห่งชาติ ซึ่งศูนย์ดังกล่าวมีอุปกรณ์เครื่องมือและห้องปฏิบัติการที่ทันสมัยได้มาตรฐานสากล เพื่อรองรับการพัฒนาชิ้นส่วนอุปกรณ์ สร้าง ประกอบ และทดสอบดาวเทียม โดยเฉพาะดาวเทียมเล็ก ขนาดน้ำหนัก 10-500 กิโลกรัมในประเทศไทย ตลอดจนการให้บริการแก่ภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรมของประเทศให้นำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการของไทยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้านเศรษฐกิจอวกาศ (Space Economy) รวมถึงการเพิ่มศักยภาพของบุคลากรไทยผ่านการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology Transfer) และการอบรม เพื่อต่อยอดพัฒนาองค์ความรู้ในการสร้างดาวเทียมต่อไปในอนาคต รวมทั้งการดำเนินงานของศูนย์ปฏิบัติการความเป็นเลิศและนวัตกรรมการบินและอวกาศ หรือ "กาแลกซี" (GISTDA's Aerospace Laboratory of Excellence and Innovation) ซึ่งให้บริการการทดสอบชิ้นส่วนวัสดุอากาศยานที่ได้รับรองมาตรฐานในระดับสากล ทั้งด้านมาตรฐานระบบการจัดการคุณภาพสำหรับอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ AS9100 NADCAP และมาตรฐานความสามารถในการให้บริการทดสอบของห้องปฏิบัติการ ISO/IEC17025 และล่าสุดจาก BUREAU VERITAS นอกจากนี้ ยังได้รับฟังการดำเนินงานของศูนย์การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านอวกาศด้านกลศาสตร์วงโคจรของประเทศไทยแบบครบวงจรหรือ Astro Lab ซึ่งศูนย์ดังกล่าวมีภารกิจหลักเพื่อการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านอวกาศ รวมถึงการสอนเกี่ยวกับพื้นฐานของกลศาสตร์วงโคจร การออกแบบระบบยานอวกาศ การเปิดโอกาสให้นักศึกษาฝึกงานได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการต่างๆ ของศูนย์ฯ ตลอดจนการให้ทุนวิจัยเพื่อผลิตบัณฑิตทางด้านวิศวกรรมอวกาศร่วมกับมหาวิทยาลัยทั้งในและต่างประเทศเพื่อยกระดับประเทศไทย เป็นต้น
สำหรับอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ด้านอวกาศที่สำคัญของประเทศ เป็นศูนย์ปฏิบัติการด้านดาวเทียมและฐานในการพัฒนานวัตกรรมต่างๆ จากเทคโนโลยีอวกาศ เพื่อรองรับการพัฒนาทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม โดยมุ่งให้สังคมสามารถตอบสนองกระแสโลกาภิวัตน์ที่มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านต่างๆ และยังเป็นการเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ และสิ่งที่สำคัญที่สุดคงหนีไม่พ้นในเรื่องของการพัฒนาอุตสาหกรรมทางด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง อุตสาหกรรมอวกาศเป็นอุตสาหกรรมเกิดใหม่ที่หลายประเทศให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการสร้างและต่อยอดจากอุตสาหกรรมและธุรกิจที่มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่มีความหลากหลาย มาผนวกกับงานวิจัยและองค์ความรู้ในหน่วยงานและสถาบันการศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน เพื่อให้เกิดเป็นนวัตกรรมที่ตรงความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจบริการ การบริหารจัดการภาครัฐ การจัดการทรัพยากรและการตัดสินใจในสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำ
เมื่อกล่าวถึงเศรษฐกิจอวกาศ หรือ Space Economy ถือได้ว่ามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศทั้งในระดับอุตสาหกรรมต้นน้ำ อุตสาหกรรมปลายน้ำ และภาคธุรกิจ โดยอุตสาหกรรมอวกาศเป็นอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงที่มีความเฉพาะทางและกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่จะมีความต้องการที่เฉพาะเจาะจง เช่น การนำส่งดาวเทียม (Launch Services) การพัฒนาโปรแกรมประยุกต์ใช้ประโยชน์จากดาวเทียม (Satellite Applications) การผลิตดาวเทียม (Satellite Manufacturing) การพัฒนาโครงสร้างภาคพื้นดิน (Ground Control and Equipment Manufacturing) การสำรวจ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ และการใช้ประโยชน์จากดาวเทียมต่างๆ เป็นต้น โดยที่การเกิดเศรษฐกิจอวกาศใหม่นั้นจะมีผลให้เกิดการขยายการใช้ประโยชน์และเกิดเป็นธุรกิจใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอวกาศ เช่น การส่งดาวเทียมขนาดเล็กเพื่อมุ่งหวังให้บริการอินเทอร์เน็ตบอร์ดแบนด์ และอินเทอร์เน็ตเพื่อสรรพสิ่ง (Internet of Things - IoT) กิจการดาวเทียมสื่อสารมีรูปแบบอุตสาหกรรมที่ต่างไปจากเดิม เริ่มตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีของดาวเทียมสื่อสาร มาตรฐานด้านเทคนิคของอุตสาหกรรมดาวเทียมสื่อสาร การแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการรายเดิมและผู้ประกอบรายใหม่ ทั้งนี้ นวัตกรรมอวกาศด้านดาวเทียมที่เกิดขึ้นนี้ส่งผลให้วงโคจรดาวเทียมมีปริมาณมากขึ้น เนื่องจากสามารถลดการรบกวนหรือแทรกของคลื่นสัญญาณได้ และที่สำคัญคือ ราคาส่งดาวเทียมไปยังวงโคจรลดลง ราคาเช่าช่องสัญญาณดาวเทียมลดลง และมีผู้ประกอบกิจการดาวเทียมเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเติบโตของกลุ่มดาวเทียมวงโคจรที่ไม่ประจำ ซึ่งเน้นมาลงทุนในวงโคจรระดับ Low Earth Orbit (LEO) ปัจจุบันหลายประเทศได้มีนโยบายส่งเสริมให้เกิดเศรษฐกิจอวกาศใหม่ภายในประเทศ
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมดาวเทียมส่งผลให้เกิดการสร้างนวัตกรรม ฝึกทักษะแรงงานขั้นสูง เพื่อพัฒนาดาวเทียม พัฒนาชิ้นส่วนดาวเทียม พัฒนาระบบภาคพื้นดิน พัฒนาระบบนำส่ง ซึ่งเป็นเทคโนโลยีขั้นสูง อันส่งผลให้เกิดมูลค่าการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจภายในประเทศ และส่งเสริมให้เกิดการเกิดระบบนิเวศเศรษฐกิจอวกาศในประเทศ เนื่องจากเศรษฐกิจอวกาศเป็นสิ่งที่จะช่วยเพิ่มการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ในประเทศ ยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตเทคโนโลยีของประเทศไปสู่การผลิต การเชื่อมโยงระบบ และการทดสอบระบบต่างๆ ที่เป็นส่วนประกอบของดาวเทียม ยานอวกาศ จรวดนำส่ง ระบบภาคพื้นดิน อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ การพัฒนาระบบประยุกต์ (Application) ซึ่งเป็นผลอันเนื่องมาจากการกำหนดนโยบายและการกำกับดูแลกลุ่มอุตสาหกรรมอวกาศ เพื่อสามารถกำหนดแผนความต้องการในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านอวกาศในทุกภาคส่วนอุตสาหกรรมอย่างชัดเจน และเตรียมความพร้อมให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ในอนาคต อันนำไปสู่การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศเพื่อนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน และที่สำคัญคือ รัฐบาลมีเป้าหมายสำคัญที่จะยกระดับคลัสเตอร์อุตสาหกรรมและขยายเครือข่ายการผลิตสู่ต่างประเทศ โดยใช้ศักยภาพของประเทศไทยให้มากที่สุด เพื่อสร้างโอกาสในตลาดโลก ซึ่งจะทำให้การสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศทางด้านเศรษฐกิจและสังคมมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น