ราชกิจจานุเบกษาประกาศ พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินก่อสร้างรถไฟทางคู่สายบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ในพื้นที่ 19 อำเภอ 6 จังหวัด “ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร มุกดาหาร นครพนม” กว่า 7 พันแปลง งบกว่า 1หมื่นล้าน
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในพื้นที่บางส่วนในท้องที่อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น อำเภอกุดรัง อำเภอบรบือ อำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม อำเภอศรีสมเด็จ อำเภอเมืองร้อยเอ็ด อำเภอจังหาร อำเภอเชียงขวัญ อำเภอโพธิ์ชัย อำเภอโพนทอง อำเภอเมยวดี อำเภอหนองพอก จังหวัดร้อยเอ็ด อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร อำเภอนิคมคำสร้อย อำเภอเมืองมุกดาหาร อำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร และอำเภอธาตุพนม อำเภอเรณูนคร อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม พ.ศ. 2564
พ.ร.ฎ.นี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ให้ใช้บังคับได้มีกำหนด 4 ปี มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการสร้างทางรถไฟ เครื่องประกอบทางรถไฟ ทาง และสิ่งจำเป็นอื่นตามโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม โดยให้เริ่มต้นเข้าสำรวจที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ภายในแนวเขตที่ดินที่จะเวนคืนตาม พ.ร.ฎ.นี้ภายใน 120 วันนับแต่วันที่ พ.ร.ฎ.นี้ใช้บังคับ โดยให้การรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าหน้าที่ในการเวนคืน และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้
สำหรับรถไฟทางคู่ สายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กม. มูลค่าโครงการ 66,848.33 ล้านบาท มีวงเงินค่าก่อสร้างงานโยธาและระบบอาณัติสัญญาณ 55,462 ล้านบาท มีค่าเวนคืน 10,255.33 ล้านบาท (พื้นที่ 7,100 แปลง) หรือประมาณ 17,500 ไร่ ค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง 1,131 ล้านบาท ตามแผนกำหนดเปิดเดินรถในปี 2568
ปัจจุบัน รฟท.ได้ประมูล e-bidding งานโยธา จำนวน 2 สัญญา วงเงินรวม 55,458 ล้านบาท โดยสัญญาที่ 1 ช่วงบ้านไผ่-หนองพอก ระยะทาง 180 กม. ราคากลาง 27,123.62 ล้านบาท มีผู้ซื้อซองจำนวน 16 ราย มีผู้ยื่นเสนอราคาจำนวน 4 ราย โดยกลุ่มที่มี บริษัท เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) จำกัด เป็นแกนนำ เสนอราคาต่ำสุด 27,100 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าราคากลางประมาณ 23 ล้านบาท
สัญญาที่ 2 ช่วงหนองพอก-สะพานมิตรภาพ 3 ระยะทาง 175 กม. ราคากลาง 28,333.93 ล้านบาท มีผู้ซื้อซองจำนวน 16 ราย มีผู้ยื่นเสนอราคา 4 ราย โดยกลุ่มมี บริษัท รยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นแกนนำ ราคาที่เสนอต่ำสุด 28,310 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลางประมาณ 23 ล้านบาท โดยอยู่ระหว่าการพิจารณาผลประมูล และมีการตรวจสอบการประกวดราคาจากคณะกรรมการตรวจสอบฯ ที่นายกรัฐมนตรีตั้งขึ้นด้วย เนื่องจากมีการร้องเรียนในประเด็นการกำหนด TOR ต่างๆ ที่มีข้อครหาถึงความไม่โปร่งใส