การรถไฟฯ จับมือ TCDC เผยโฉมแนวคิดการนำตู้โดยสารจากประเทศญี่ปุ่น ปรับปรุงเป็นขบวนรถไฟท่องเที่ยว ออกแบบเป็นเอกลักษณ์ตามเส้นทางท่องเที่ยว หนุนเที่ยวไทยสร้างรายได้แก่ชุมชน
นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ตามที่ การรถไฟฯ มีแผนนำขบวนรถดีเซลรางจากประเทศญี่ปุ่น 17 คัน มาปรับปรุงและใช้งาน ซึ่งได้รับส่งมอบมาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายจากโครงการความร่วมมือระหว่างการถไฟแห่งประเทศไทย และบริษัท JR Hokkaido โดยการรถไฟฯ รับผิดชอบแค่ค่าขนย้ายนั้น
การรถไฟฯ ขอแจ้งว่า สำหรับรถดีเซลรางดังกล่าว ทางบริษัท JR Hokkaido ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนเดินรถของประเทศญี่ปุ่น ได้มอบให้การรถไฟฯ ถือเป็นความร่วมมือและการรักษาความสัมพันธ์อันดีระหว่างการรถไฟฯ และบริษัทในเครือ JR ที่มีมาอย่างยาวนาน โดยการรถไฟฯ มีหนังสือตอบรับการบริจาค ตั้งแต่วันที่ 7 ก.พ. 2560 แต่ติดปัญหาเรื่องการขนย้ายจึงทำให้ล่าช้ามาจนถึงปัจจุบัน และเพื่อการรักษาความสัมพันธ์อันดีกับบริษัท JR Hokkaido จึงได้ว่าจ้างบริษัททำการขนย้ายรถไฟทั้ง 17 คัน ซึ่งจากการตรวจสอบสภาพตู้รถโดยสารในเบื้องต้น ขบวนรถดีเซลรางอยู่ในสภาพดีสามารถนำมาใช้งานต่อได้ และแม้จะเป็นตู้โดยสารที่ถูกปลดระวางไปเมื่อปี 2559 แต่ยังได้รับการดูแล บำรุงรักษาจากทางญี่ปุ่นเป็นอย่างดี ซึ่งหลังจากที่การรถไฟฯ ได้รับมอบตู้โดยสารแล้วจะมีการเข้าไปตรวจสอบด้านความปลอดภัย และนำมาดัดแปลงเพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานอีกครั้ง ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะนำตู้โดยสารดังกล่าวมาปรับปรุงเพื่อใช้ในด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศตามนโยบายรัฐบาล
“ที่ผ่านมาการรถไฟฯ เคยได้รับมอบตู้โดยสารรถไฟจากประเทศญี่ปุ่นมาปรับปรุงและใช้ในกิจการรถไฟมาแล้ว เช่น การได้รับมอบตู้โดยสารจากบริษัท JR-West โดยนำมาปรับปรุงและดัดแปลงเป็นรถโดยสารและ
ขบวนรถพิเศษ เช่น รถ SRT Prestige รถประชุมปรับอากาศ ฯลฯ ซึ่งสามารถนำมาใช้บริการสร้างรายได้ให้กับการรถไฟฯ และส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศได้เป็นอย่างดี”
นายเอกรัชกล่าวว่า การรถไฟฯ ยังอยู่ระหว่างการนำรถโดยสารชนิดนั่งปรับอากาศที่ได้รับมอบจากบริษัท JR Hokkaido ก่อนหน้านี้ จำนวน 10 คัน ร่วมมือกับศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ หรือ TCDC ออกแบบและพัฒนาเป็นตู้รถไฟเพื่อการท่องเที่ยวสำหรับให้บริการแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยมีแนวคิดการออกแบบและสีสันของแต่ละขบวนที่เป็นเอกลักษณ์มีลักษณะที่แตกต่างตามเส้นทางที่ให้บริการของรถไฟท่องเที่ยว “ผู้ใช้บริการนอกจากจะเพลิดเพลินกับทัศนียภาพสองข้างทางแล้ว รถไฟที่ปรับปรุงในแต่ละเส้นทางจะสร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยว ตั้งแต่การออกแบบภายนอก ภายในขบวนรถ และการใช้วัสดุตกแต่ง ซึ่งช่วยสร้างบรรยากาศที่ไม่จำเจในการเดินทาง อีกทั้งสามารถทำกิจกรรมร่วมกันได้โดยที่นั่งมีทั้งแบบหันหน้าเข้าหาหน้าต่างเพื่อชมวิว หรือปรับเบาะหันหน้าเข้าหากันเพื่อทำกิจกรรมในกลุ่มเพื่อน พร้อมการให้บริการอาหารในตู้โดยสารแต่ละขบวนด้วย”
ทั้งนี้ การรถไฟฯ คาดว่าจะปรับปรุงรถไฟ และสามารถนำมาให้บริการได้ช่วงปี 2565 ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ สร้างรายได้ให้แก่การรถไฟฯ ตลอดจนเป็นการเปิดประสบการณ์เดินทางใหม่ๆ ให้กับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศให้เกิดความประทับใจ สร้างภาพลักษณ์
ด้านการท่องเที่ยวที่ดีของประเทศ และเป็นการกระจายรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่นได้อีกทางหนึ่งด้วย