xs
xsm
sm
md
lg

“ปานวิมาน” จับมือ “กรุงไทย” เผยเคล็ดลับฝ่าวิกฤตโควิด-19

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อทุกภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี หลายแห่งต้องหยุดดำเนินการจากมาตรการภาครัฐ ทำให้ขาดรายได้และสภาพคล่อง “ปานวิมาน” ธุรกิจรีสอร์ทชั้นนำของเมืองไทย ก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่ด้วยความสามารถและประสบการณ์ บวกกับพันธมิตรอย่างธนาคารกรุงไทย จึงก้าวผ่านวิกฤตมาได้ และพร้อมเปิดเผยเคล็ดลับให้เราได้รู้กัน เผื่อใช้เป็นแนวทางในการแก้ปัญหาได้


“ปานวิมาน” ชื่อนี้เริ่มปรากฏให้เห็นในหน้าธุรกิจไทยเมื่อปี 2530 หลังจากที่ จักรริน จันทรวิสูตร ประธานผู้ก่อตั้งกลุ่มธุรกิจปานวิมานรีสอร์ท มองหาธุรกิจใหม่นอกเหนือจากการผลิตและจำหน่ายเครื่องมือและอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ จังหวะและโอกาสทำให้เขาได้เป็นเจ้าของที่ดินผืนหนึ่งบนเกาะพะงัน และสร้างปานวิมานรีสอร์ทขึ้น ให้บริการที่พักระดับพรีเมี่ยมแก่นักท่องเที่ยวซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ โดยได้รับการสนับสนุนการลงทุนจากธนาคารกรุงไทย

“สามสิบกว่าปีก่อน ที่ดินบนเกาะพะงันถูกมาก ผมมีโอกาสได้ไปซื้อที่ดินแปลงหนึ่ง ก็สร้างปานวิมานรีสอร์ทขึ้น ตอนแรกสร้างเป็นกระต๊อบเล็ก ๆ พอเปิดไปได้ระยะหนึ่งก็ปรับเป็นอาคารที่ดูทันสมัยขึ้น ซึ่งการรีโนเวทครั้งนี้ทำให้ผมได้คุยกับธนาคารกรุงไทย กลุ่มเป้าหมายหลักของเราคือชาวต่างชาติ 90% ส่วนมากเป็นชาวยุโรป ช่วงหลังเราเริ่มคุยกับ Online Travel Agency อย่าง Agoda หรือ Booking.com เวลาลูกค้ามาพักกลับไปก็มักจะรีวิวให้เราสูงมาก เราก็ได้ลูกค้าเพิ่ม อีกด้านหนึ่งเราก็พยายามปรับปรุงเว็บไซต์ให้ดูดีดูสวย คือทำเลเราสวยอยู่แล้ว ถ้าสามารถนำเสนอให้ได้เท่าของจริง มันจะยิ่งดึงดูดใจ ซึ่งเราให้ความสำคัญตรงนี้มาก”


ปานวิมานรีสอร์ทพัฒนาและเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าบางช่วงจะมีอุปสรรคอยู่บ้าง แต่ก็ผ่านมาได้ด้วยดี จนกระทั่งเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ขึ้นในปี 2563 ทำให้ต้องหยุดดำเนินการชั่วคราว จึงถือโอกาสรีโนเวท พร้อมปรับปรุงบริการ รอรับการเปิดประเทศรอบใหม่

“เมื่อไม่นานมานี้ เรามีโปรเจกต์พูลวิลลา (Pool Villa) ที่ทางกรุงไทยอนุมัติโครงการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ตั้งแต่ก่อนโควิด-19 ผมจึงใช้โอกาสที่ลูกค้าไม่เข้าพักในช่วงนี้ก่อสร้างสระว่ายน้ำ ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งเดียวที่เราพอจะทำให้เป็นประโยชน์ได้ในช่วงวิกฤตนี้ ตอนนี้เสร็จเรียบร้อย พร้อมให้บริการ นอกจากนี้เรายังได้เพิ่มบุคลากรเพื่อให้บริการแบบวิลลาโฮสต์ (Villa Host) เข้าไปด้วย เป็นเหมือนบัตเลอร์คอยดูแลแขกที่มาพักอย่างใกล้ชิด”




วิกฤตโควิด-19 ยาวนานกว่าที่คิด ธุรกิจเริ่มประสบปัญหาสภาพคล่อง จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ โดยยึดหลักความยืดหยุ่น ลดค่าใช้จ่าย ขยายกลุ่มลูกค้า และหาตัวช่วย ช่วงเวลานี้เองที่ได้พันธมิตรเก่าอย่างกรุงไทยเข้ามาช่วยเหลืออีกครั้ง ทั้งการอนุมัติสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ พักหนี้ และยืดแผนผ่อนชำระ

“ปัญหาของธุรกิจแบบเรา รัฐบาลเขาก็เข้าใจนะ เราก็ทราบดีว่าเขาพยายามจะช่วย อย่างโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ที่ภาครัฐทำมาในช่วงก่อนหน้านี้ก็ช่วยเราได้มาระยะหนึ่ง เพียงแต่ว่าการช่วยเหลือ หากเป็นเรื่องของเงินทุนหรือเงินกู้ก้อนใหญ่ มันก็ต้องมีระเบียบอะไรหลายอย่าง เราก็เข้าใจ ซึ่งเราก็ได้ศึกษาในรายละเอียด เตรียมข้อมูลหลักฐานให้พร้อม จึงเข้าเกณฑ์มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูในกรณีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ของธนาคารแห่งประเทศไทยมาทั้งสองรอบ ทำให้ได้เงินเข้ามาช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ธุรกิจได้ส่วนหนึ่ง”

“สำหรับธนาคารกรุงไทย ก็ช่วยเหลือเราเยอะมาก ทั้งสินเชื่อเอสเอ็มอีดอกเบี้ยต่ำเพื่อฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย ตามมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู ที่ให้ดอกเบี้ยต่ำเพียง 2% ถึง 2 ปี ทั้งเรื่องการพักชำระหนี้เงินต้นที่มีตั้งแต่ช่วงปี 2563 มาจนถึงตอนนี้ อีกทั้งยังมีการปรับตารางการผ่อนชำระและขยายระยะเวลาของสัญญาให้เราด้วย เรียกได้ว่าพอเกิดปัญหาเขาก็ไม่ทิ้งเรา และยังส่งเจ้าหน้าที่มาให้คำปรึกษาเราอีกด้วย พอแนวโน้มดีขึ้น ก็ค่อย ๆ ปรับเงื่อนไขกันไปทีละหน่อยตามสถานการณ์ ซึ่งเราก็ยินดี เมื่อธุรกิจไปได้เราก็ต้องพยายามส่งคืน ทางแบงก์ก็ได้เห็นผลประกอบการของเราอยู่ตลอด มีเจ้าหน้าที่คอยดูแลให้ข้อมูลเราอย่างใกล้ชิด คอยสอบถามทุกระยะ แจ้งมาตรการที่เหมาะสมกับสถานการณ์ตอนนั้น และดูว่าเราสามารถประกอบธุรกิจอย่างไรได้บ้าง”

“ผมคิดว่าเหตุการณ์นี้คือบทเรียนให้เราต้องระมัดระวังมากขึ้น สมัยก่อนเราอาจไปเน้นที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเยอะเกินไป จนไม่ได้ทำตลาดในประเทศเลย ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้วโรงแรมเราก็มีห้องพักหลายระดับราคา ซึ่งก็ควรมีที่เหมาะกับคนไทยด้วยเหมือนกัน ต่อไปเราจึงต้องเน้นตลาดในประเทศให้มากขึ้นด้วย”


การทำงานอย่างใกล้ชิดกับธนาคารและการติดตามข่าวสารจากภาครัฐอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ปรับตัวได้ทันท่วงทีและได้รับความช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว และนั่นช่วยให้ธุรกิจอยู่รอดได้

“ผมคิดว่าการส่งข้อมูลผลประกอบการให้กับทางธนาคารเป็นสิ่งที่สำคัญมาก และทำให้เราสามารถวางแผนได้รัดกุมยิ่งขึ้น สำหรับผมเองทำธุรกิจหลายอย่างและเป็นลูกค้าเก่ากับธนาคารกรุงไทยมานาน เราจะมีการส่งข้อมูลให้อย่างต่อเนื่องและครบถ้วน ซึ่งจะทำให้เมื่อจำเป็นจะต้องเจรจาด้านการเงินระหว่างกัน จะเกิดผลสำเร็จได้ง่ายยิ่งขึ้น และนอกจากข้อมูลที่ครบถ้วนแล้ว ยังรวมถึงการมีหลักประกันที่น่าเชื่อถืออีกด้วย เมื่อมีทุกอย่างที่ทางธนาคารต้องการและเห็นความเป็นไปได้ในธุรกิจเรา การพิจารณาวงเงินต่าง ๆ จะทำได้ง่ายขึ้น และหากเอสเอ็มอีบางรายที่ติดปัญหาเรื่องของหลักทรัพย์ค้ำประกัน ก็ยังมีหน่วยงานภาครัฐอย่าง บสย. (บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม) เข้ามาช่วยในการเป็นหลักประกันสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอีได้อีกทาง โดยจะพิจารณาจากข้อมูลในธุรกิจและจะช่วยเพิ่มความเป็นไปได้ให้มากขึ้นอีกด้วย”



วิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีนโยบายให้สถาบันการเงินทั่วประเทศ ดำเนินการพักหนี้ รักษาสภาพคล่อง เติมเงินใหม่ และแก้ไขหนี้เดิมให้กับลูกค้าอย่างเร่งด่วน ขณะที่ธนาคารกรุงไทยได้ขานรับนโยบายดังกล่าวด้วยการออก 7 มาตรการช่วยเหลือ แบ่งเป็นลูกค้าบุคคล 3 มาตรการ และลูกค้าธุรกิจ 4 มาตรการ


ธุรกิจที่ประสบปัญหาและต้องการความช่วยเหลือ สามารถเข้าร่วมมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูและมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ได้ที่ https://krungthai.com/th/register/asset-warehouse

สำหรับลูกค้าที่สนใจเข้าร่วมมาตรการของธนาคาร ศึกษารายละเอียดได้ที่ http://www.krungthai.com/link/covid-19
สอบถามเพิ่มเติมติดต่อ
ธ.กรุงไทยทุกสาขา หรือหน่วยงานดูแลสินเชื่อของท่าน
Krungthai Contact Center 02-111-1111 / krungthai.com

ขอบคุณข้อมูลดี ๆ จาก ธนาคารกรุงไทย




กำลังโหลดความคิดเห็น