xs
xsm
sm
md
lg

แหลมฉบังเฟส 3 รอขั้นตอนสุดท้าย อัยการตรวจสัญญาเร่งเซ็นร่วมทุนฯ ใน 1-2 เดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กทท.เผย “แหลมฉบังเฟส 3” เหลือขั้นตอนสุดท้ายอัยการตรวจร่างสัญญา คาดเซ็นร่วมทุนฯ “กัลฟ์-ปตท.” ภายใน 1-2 เดือน แนวโน้มส่งออก-นำเข้าฟื้นตัวดี ปี 64 ตู้สินค้าท่าแหลมฉบังเพิ่ม 10% แตะ 8 ล้านทีอียูเท่าปี 62 ก่อนเกิดโควิด-19

เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ว่า หลังจากคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) พิจารณาผลการคัดเลือกเอกชน ผลการเจรจา และร่างสัญญาร่วมลงทุนแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างรออัยการสูงสุดพิจารณาร่างสัญญาร่วมลงทุนกับเอกชน ซึ่ง กทท.ได้ชี้แจงเหตุผลเพื่อประกอบการพิจารณาของอัยการสูงสุดไปแล้ว 2 ครั้ง ใน 2-3 ประเด็น เพื่อให้เป็นไปตาม RFP โดยหลังจากอัยการสูงสดเห็นชอบจะเร่งนำเสนอ กพอ.และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ ซึ่งในส่วนของ กทท.ได้เตรียมความพร้อมเอกสารแนบท้ายต่างๆ ไว้เรียบร้อย คาดว่าจะลงนามกับเอกชนได้ภายใน 1-2 เดือนนี้
โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ส่วนของท่าเทียบเรือ F วงเงิน 84,361 ล้านบาท ระยะเวลาสัมปทาน 35 ปีนั้น กลุ่ม GPC ประกอบด้วย บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (PTT TANK) บริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ได้รับการคัดเลือกโดย ครม.เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2564 อนุมัติผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินขั้นต่ำที่ภาครัฐจะได้รับ ระยะที่ 1 ค่าสัมปทานคงที่เท่ากับมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ที่ 29,050 ล้านบาท และค่าสัมปทานผันแปรที่ 100 บาทต่อทีอียู ซึ่งค่าสัมปทานคงที่ดังกล่าวต่ำกว่าผลประโยชน์ตอบแทนที่รัฐคาดหมายตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2561 มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ประมาณ 32,225 ล้านบาท
@ ปี 64 ตู้สินค้าแหลมฉบังเพิ่ม 10% แตะ 8 ล้านทีอียู สัญญาณ ศก.ฟื้นตัว

เรือโท กมลศักดิ์กล่าวว่า ปัจจุบันท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) มีการให้บริการเรือ และตู้สินค้าเพิ่มขึ้น โดยในรอบ 11 เดือนของปี 2564 มีปริมาณตู้สินค้าอยู่ที่ระดับ 8 ล้านตันทีอียู ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2563 ที่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เหมือนกันที่มีปริมาณตู้สินค้าระดับ 7.6 ล้านตันทีอียู หรือเติบโตประมาณ 10% และประเมินว่าปริมาณตู้สินค้าของทั้งปี 2564 จะปรับขึ้นไปเท่ากับช่วงปี 2562 ก่อนเกิดโควิด-19 ที่มีตู้สินค้าผ่านประมาณ 8.2 ล้านตันทีอียู
ทั้งนี้เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก การนำเข้า-ส่งออกสินค้าเริ่มฟื้นตัวมากขึ้น ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การขนส่งระหว่างประเทศต้องพึ่งพาการขนส่งทางเรือเป็นหลัก จึงเป็นปัจจัยหนุนให้ปริมาณตู้สินค้าที่ท่าเรือแหลมฉบังเติบโตมากถึง 10%

สำหรับท่าเรือแหลมฉบังปัจจุบันมีขีดความสามารถที่ 11.1 ล้านทีอียูต่อปี จากปริมาณสินค้ารวมที่มีกว่า 8 ล้านทีอียู หากเติบโตเฉลี่ย 4-5% ต่อปีคาดว่าจะเต็มขีดรองรับภายใน 5-6 ปีนี้ ซึ่งจะพอดีกับการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะ 3 ที่จะเพิ่มขีดความสามารถเป็น 18 ล้านทีอียูต่อปี


กำลังโหลดความคิดเห็น