นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เปิดเผยว่า Green Youth หรือโครงการดำเนินกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมของเยาวชนภายในมหาวิทยาลัย เป็นโครงการที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน โดยมุ่งเน้นให้เกิดการดำเนินกิจกรรมทางด้านสิ่งแวดล้อมของเครือข่ายเยาวชนสิ่งแวดล้อม และให้การหนุนเสริมการทำงานของเยาวชนผ่านทางชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือชมรมด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องภายในมหาวิทยาลัย โดยมีกรอบแนวคิดประเด็นสิ่งแวดล้อมสำคัญที่เกี่ยวข้องใน 4 แนวคิด ได้แก่ 1. การบริโภคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมภายในมหาวิทยาลัย 2. การจัดการของเสียภายในมหาวิทยาลัย 3.การเพิ่มพื้นที่สีเขียวภายในมหาวิทยาลัย และ 4. การจัดการพลังงานภายในมหาวิทยาลัย สำหรับผลการดำเนินการ สามารถจัดตั้งเครือข่ายชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัยในระดับอุดมศึกษาทั่วประเทศที่เป็นสมาชิกกว่า 65 มหาวิทยาลัย และได้มีการดำเนินกิจกรรมภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
“โดยหนึ่งในกิจกรรมสำคัญที่กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมได้ดำเนินการ คือ การนำเกณฑ์ประเมินโครงการการดำเนินกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมของเยาวชนภายในมหาวิทยาลัย (Green Youth) มาใช้ประเมินผลเพื่อพิจารณาคัดเลือกโครงการดำเนินกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม Green Youth ในแต่ละปี ถือเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในการกระตุ้นและผลักดันขับเคลื่อนการดำเนินกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมของเยาวชนในระดับอุดมศึกษาให้เข้มแข็งและเป็นรูปธรรมมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้เยาวชนเรียนรู้ ซึมซับ และปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิต โดยเน้นการลงมือปฏิบัติเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น ทั้งภายในมหาวิทยาลัยและขยายผลไปยังชุมชน และสังคมโดยรอบ ซึ่งเป็นการยกระดับแนวทางการดำเนินกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมในมหาวิทยาลัย โดยมุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชมรมอนุรักษ์ฯ ภายในมหาวิทยาลัย เพื่อนำไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว (Green University)”
นายวราวุธกล่าวต่อไปว่า กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมได้ประกาศผลการตัดสินการประเมินโครงการการดำเนินกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมของเยาวชนภายในมหาวิทยาลัย (Green Youth) ประจำปี 2563 โดยมีมหาวิทยาลัยที่ผ่านเกณฑ์การประเมินทั้งสิ้นจำนวน 52 แห่ง แบ่งเป็น มหาวิทยาลัยที่ได้รับรางวัลมาตรฐานระดับทอง จำนวน 12 แห่ง ได้แก่ 1. มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 2. มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี 3. สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 4. มหาวิทยาลัยสวนดุสิต 5. มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ 6. มหาวิทยาลัยขอนแก่น 7. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี 8. มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา 9. มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี 10. มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 11. มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ 12. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ขณะที่มหาวิทยาลัยที่ได้รับรางวัลมาตรฐานระดับเงินมีจำนวน 16 แห่ง และได้รับมาตรฐานระดับทองแดงมีจำนวน 24 แห่ง
“การสนับสนุนและผลักดันกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมของเครือข่ายเยาวชนในระดับอุดมศึกษา กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่มุ่งให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเยาวชนมาอย่างต่อเนื่อง เพราะเยาวชนคือพลังสำคัญในการพิทักษ์ รักษาและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้มีความเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น” นายวราวุธกล่าวทิ้งท้าย