ขบ.ผ่อนคลายบริการด้านใบอนุญาตขับรถกระบวนงานที่ไม่มีการอบรมในสำนักงาน ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปจองคิวล่วงหน้าผ่านแอปฯ DLT Smart Queue เท่านั้น หมดอายุไม่เกิน 3 ปี ไม่ต้องสอบข้อเขียน
นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยว่า ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ผ่อนคลายให้สามารถใช้อาคารหรือสถานที่เพื่อการจัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรม หรือการทำกิจกรรมใดๆ ที่มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมากได้ โดยให้มีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเคร่งครัด ดังนั้น ขบ.จึงผ่อนคลายให้สำนักงานขนส่งทุกแห่งเปิดให้บริการด้านใบอนุญาตขับรถและผู้ประจำรถกระบวนงานที่ไม่มีการอบรมในสำนักงาน ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
โดยต้องจองคิวล่วงหน้าเพื่อเข้ารับบริการผ่านแอปพลิเคชัน DLT Smart Queue ซึ่งการคุมเข้มมาตรการงดการอบรมที่สำนักงานขนส่งสำหรับการขอรับและต่ออายุใบอนุญาตขับรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ และใบอนุญาตเป็นผู้ประจำรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกทุกชนิดนั้น เพื่อลดโอกาสเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อ
สำหรับสำนักงานขนส่งในจังหวัดใดที่ต้องปฏิบัติตามประกาศจังหวัดหรือประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด สามารถกำหนดมาตรการเฉพาะแห่งได้ตามความเหมาะสม อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ต้องการต่ออายุใบอนุญาตขับรถและใบอนุญาตเป็นผู้ประจำรถสามารถเข้าอบรมผ่านระบบ e-Learning ได้ทาง www.dlt-elearning.com แทนการเข้าอบรมในสำนักงานได้
ทั้งนี้ การให้บริการของสำนักงานขนส่งทุกแห่งต้องดำเนินการตามมาตรการด้านสาธารณสุข (D-M-H-T-T-A) เพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่กระจายของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างเคร่งครัด โดยจำกัดจำนวนผู้เข้ารับบริการในแต่ละวันด้วยการจองคิวล่วงหน้าในระบบจองคิวผ่านแอปพลิเคชัน DLT Smart Queue หรือเว็บไซต์ https://gecc.dlt.go.th สำหรับผู้ที่มีคิวตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2564 เป็นต้นไป สามารถมาดำเนินการได้ตามวันและเวลาที่จองคิวไว้ ส่วนผู้ที่เคยจองคิวไว้แล้วในระหว่างปิดสำนักงาน ตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน 2564 ให้สำนักงานขนส่งดำเนินการเปิดระบบจองคิวให้กับผู้ที่จองคิวไว้เดิม โดยเมื่อเข้าสู่ระบบการจองคิวจะปรากฏคำว่า “(ได้สิทธิจองใหม่)” ซึ่งจะได้รับสิทธิตามลำดับต่อไป
ในส่วนของมาตรการเยียวยา สำหรับผู้ที่ใบอนุญาตขับรถและใบอนุญาตเป็นผู้ประจำรถสิ้นอายุเกิน 1 ปี หรือ 3 ปี ระหว่างวันที่ 10 เมษายน 2564-31 ธันวาคม 2564 ประกอบด้วย 1. ใบอนุญาตขับรถ ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ สิ้นอายุเกิน 1 ปี แต่ไม่เกิน 3 ปี ได้รับการยกเว้นการทดสอบข้อเขียน 2. ใบอนุญาตขับรถ ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ สิ้นอายุเกิน 3 ปี ได้รับการยกเว้นการทดสอบขับรถ กรณีเป็นใบอนุญาตขับรถชนิดส่วนบุคคลชั่วคราว สิ้นอายุเกินกว่า 3 ปี ให้ผ่านการอบรมตามหลักสูตรในวิชาที่กรมการขนส่งทางบกกำหนดไว้ จากเดิมอบรมไม่น้อยกว่า 5 ชั่วโมง ได้รับสิทธิเยียวยาเป็น อบรมในหลักสูตรใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง โดยอบรมผ่านระบบ e-Learning ได้ และ 3. ใบอนุญาตเป็นผู้ประจำรถ ตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก สิ้นอายุเกิน 3 ปี ได้รับการยกเว้นการทดสอบขับรถเท่านั้น
ส่วนเอกสารประกอบคำขอรับหรือต่ออายุใบอนุญาตขับรถหรือผู้ประจำรถ เช่น ใบรับรองแพทย์ หนังสือรับรองการผ่านการอบรมและทดสอบ คำขอที่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จภายใน 90 วัน ผลผ่านการอบรมจากระบบ e-Learning ที่สิ้นอายุ อนุโลมให้ใช้ประกอบการดำเนินการด้านใบอนุญาตขับรถได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 และสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ผ่อนผันการบังคับใช้กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง กับผู้ได้รับใบอนุญาตขับรถและใบอนุญาตเป็นผู้ประจำรถที่สิ้นอายุแล้วยังสามารถใช้แสดงตนได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564
สำหรับการให้บริการด้านทะเบียนและภาษีรถ ณ สำนักงานขนส่ง เปิดให้บริการปกติ โดยการดำเนินการทางทะเบียนที่กฎหมายกำหนดระยะเวลาในการดำเนินการไว้ตรงกับช่วงเวลางดให้บริการ เช่น โอนรถ แจ้งย้ายรถ การเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญ หรือแจ้งเลิกใช้รถ เป็นต้น กรมการขนส่งทางบกได้ขยายระยะเวลาให้สามารถมาดำเนินการได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 โดยเจ้าของรถไม่ต้องชำระค่าปรับ ในส่วนของการตรวจสภาพรถ ให้ยกเว้นการตรวจสภาพรถยนต์ที่ใช้รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคน (รถแท็กซี่) ที่ถึงกำหนดตรวจสภาพเพื่อเสียภาษีประจำปี หรือครบกำหนดระยะเวลาการตรวจสภาพตามรอบ 3 เดือน หรือ 4 เดือน หรือ 6 เดือน แล้วแต่กรณี ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 แต่ไม่รวมถึงกรณีการตรวจสภาพเพื่อขยายอายุการใช้งานจาก 9 ปี เป็น 12 ปี ซึ่งต้องนำรถเข้าตรวจสภาพตามเดิม
ทั้งนี้ ยังคง “งดการออกหน่วยเคลื่อนที่” ด้านทะเบียนและภาษีรถ และด้านใบอนุญาตขับรถ ณ หน่วยบริการเคลื่อนที่รับชำระภาษีรถประจำปีที่ห้างสรรพสินค้า หรือแหล่งชุมชน (Shop Thru for Tax) หรือศูนย์บริการร่วม ส่วนในเขตจังหวัดอื่นสามารถให้บริการได้ตามปกติทุกช่องทางโดยให้ถือปฏิบัติตามประกาศจังหวัดหรือประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด