กนอ.ร่วมลงนามกับบริษัท วาย.เอส.เอส.พี.ฯ ในสัญญาซื้อขายน้ำดิบสำหรับนิคมฯ มาบตาพุด และนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง เพิ่มศักยภาพและสร้างความมั่นคงด้านน้ำรองรับการขยายตัวภาคอุตสาหกรรมในอนาคต เสริมความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน รวมทั้งยังเป็นการป้องกันปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม พร้อมถกพรุ่งนี้แก้ไขน้ำท่วมนิคมฯ บางปูซ้ำซาก
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยหลังการลงนามในสัญญาซื้อขายน้ำดิบระหว่าง กนอ. กับบริษัท วาย. เอส. เอส.พี.แอกกริเกต จำกัด เมื่อวันที่ 1 ก.ย.ว่า กนอ.ได้ลงนามสัญญาระยะยาว 20 ปี โดยบริษัท วาย.เอส.เอส.พีฯ จะจัดหาและจ่ายน้ำดิบให้แก่ กนอ.เพื่อใช้ในการบริหารจัดการน้ำสำหรับนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบังในปริมาณไม่น้อยกว่า 15,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ในปริมาณไม่น้อยกว่า 200,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้ประกอบการในนิคมฯ โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง รวมทั้งยังรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ในอนาคตอีกด้วย
“นิคมฯ 2 แห่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการโรงงานเปิดดำเนินการแล้วกว่า 300 โรงงาน ซึ่งในปี 2564 การใช้น้ำของนิคมฯ แหลมฉบังเฉลี่ย 740,000 ลูกบาศก์เมตรต่อเดือน นิคมฯ มาบตาพุด 6,400,000 ลูกบาศก์เมตรต่อเดือน ถือเป็นการใช้ในอัตราสูงจึงต้องหาไว้เสริมโดยเฉพาะรองรับในช่วงฤดูแล้ง” นายวีริศกล่าว
ขณะเดียวกัน หากมองอนาคตน้ำต้นทุนและความต้องการน้ำในเขตพื้นที่อีอีซี พบว่าต้นทุนน้ำรวมของน้ำปัจจุบันมีปริมาณเท่ากับ 1,537.59 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่มีปริมาณความต้องการน้ำรวมทั้งหมดสูงถึง 2,190.98 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยเป็นความต้องการภาคอุตสาหกรรมเท่ากับ 625.31 ล้านลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้ จากการพยากรณ์ความต้องการน้ำในระยะ 5 ปี 10 ปี และ 20 ปี จะอยู่ที่ 2,481.31 / 2,615.63 และ 2,722.79 ล้านลูกบาศก์เมตร ตามลำดับ แสดงถึงความเสี่ยงของการขาดแคลนน้ำเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคในอนาคต
นายวีริศกล่าวถึงปัญหาน้ำท่วมในเขตพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมบางปู จ.สมุทรปราการ ที่เกิดขึ้นล่าสุดว่า ในวันที่ 2 กันยายนนี้จะหารือร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยจะมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาระยะยาวแบบยั่งยืนไม่ใช่แก้ไขเฉพาะหน้า จึงจำเป็นต้องนำข้อมูลจากส่วนต่างๆ มาประกอบการพิจารณา เนื่องจากนิคมฯ นี้ได้พัฒนามานานแล้ว ประกอบกับการขยายตัวของชุมชนที่ทำให้ระบบระบายน้ำไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการรองรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป โดย กนอ.คงจะมีการลงทุนในการปรับปรุงระบบการระบายน้ำเพิ่มเติม แต่จะเป็นอย่างไรคงต้องรอสรุปอีกครั้ง
“เราจะหารือกันครั้งเดียวทั้งนิคมฯ บางปู และนิคมฯ บางพลี ในพื้นที่สมุทรปราการ เพราะมีปัญหาที่ถูกร้องเรียนมาลักษณะเดียวกันเกี่ยวกับน้ำท่วม โดยจะมองการแก้ไขแบบยั่งยืน” นายวีริศกล่าว