เดินหน้าค้นหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ที่จะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน และสร้างประโยชน์ให้คนไทยอย่างไม่หยุดยั้ง สำหรับ ปตท. โดยตั้งเป้าช่วยเหลือเกษตรกรท้องถิ่นให้มีรายได้ ควบคู่ไปกับการค้นหาและสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ เสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันขององค์กรและประเทศ โดยมีผลสำเร็จเป็นตัวอย่างมาแล้วไม่น้อย ภายใต้โครงการ ExpresSo และ Booster
เพราะเล็งเห็นถึงความเป็นไปได้และทิศทางแนวโน้มแห่งโลกอนาคตที่วิถีชีวิตและธุรกิจจะได้รับการขับเคลื่อนผ่านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ปตท. จึงมุ่งเน้นเฟ้นหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ด้วยการลงทุนในกองทุนหรือสตาร์ทอัพที่มีนวัตกรรม เทคโนโลยี ซึ่งมีประโยชน์และศักยภาพช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและความสามารถในการแข่งขันขององค์กรและประเทศ ผ่านโครงการที่ชื่อว่า ExpresSo (Express Solutions Project) ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของคนรุ่นใหม่ที่คัดมาจากพนักงาน ปตท.
โดยภารกิจโครงการ ExpresSo ประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลัก ๆ ได้แก่ 1. Corporate Venture Capital (CVC) ซึ่งมุ่งเน้นลงทุนในกองทุนหรือสตาร์ทอัพที่มีนวัตกรรม เทคโนโลยี ที่จะช่วยเสริมศักยภาพและประสิทธิภาพในการทำงาน รวมทั้งความสามารถในการแข่งขันขององค์กรและประเทศ ควบคู่ไปกับการสร้างผลตอบแทนทางการลงทุนและโอกาสการเจริญเติบโตทางธุรกิจ โดยในปัจจุบันให้ความสำคัญเกี่ยวกับ Future of Energy, Future of Mobility และ Accessible Wellness
2. Venture Builder (VB) ซึ่งตั้งเป้าหมายในการทดลองโครงการ ทดสอบแนวคิดทางธุรกิจ หรือจัดทำต้นแบบ เพื่อนำมาพัฒนาโซลูชั่นที่สามารถขยายหรือสร้างธุรกิจใหม่ ๆ ในอนาคตให้กับ ปตท.
และ 3. Venture Partner (VP) เฟ้นหาพันธมิตรหรือเพื่อนคู่คิดให้กับหน่วยธุรกิจ มุ่งสร้างนวัตกรรมแบบเปิด หรือ Open innovation สร้างความร่วมมือจากหลายภาคส่วน โดยร่วมมือกับองค์กรเครือข่ายที่เชื่อมต่อสตาร์ทอัพ กับนักลงทุนและบริษัทจากทั่วทุกมุมโลก รวมทั้งร่วมมือกับ Elemental Excelerator องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรเพื่อขับเคลื่อนด้านพลังงาน สังคม และความยั่งยืน โดยดำเนินการในลักษณะ Inside-out คือการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมภายใน ปตท. สู่เชิงพาณิชย์ และ Outside-in คือการประสานงานระหว่างสตาร์ทอัพภายนอกกับหน่วยงานในองค์กร
โดยทั้ง 3 ส่วนดังกล่าว มีตัวอย่างความสำเร็จที่เห็นได้เด่นชัดอย่างหนึ่งก็คือ การจัดตั้งบริษัท สวอพ แอนด์ โก จำกัด (Swap & Go) ธุรกิจให้บริการสลับแบตเตอรี่มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า แบบไม่ต้องรอชาร์จ เพื่อรองรับรองขยายตัวของผู้ใช้งานมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าในอนาคต
รวมทั้งแพลตฟอร์มดิจิทัลอย่าง ReAcc (Renewable Energy Acceleration Platform) ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับบริษัทไทยและบริษัทข้ามชาติที่มีสถานประกอบการในประเทศไทย ที่ต้องการจัดหาพลังงานหมุนเวียนโดยสมัครใจจากภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจ โดยรองรับการให้บริการซื้อขายใบรับรองพลังงานหมุนเวียน หรือ Renewable Energy Certificate (REC) ซึ่งนับเป็นโครงการแรกในประเทศไทยที่ให้บริการแบบครบวงจร (end-to-end service)
เช่นเดียวกับการจัดตั้ง บริษัท เมฆาเทคโนโลยี จำกัด (MekhaTech) ซึ่งเป็นธุรกิจที่ให้บริการด้านจัดเก็บข้อมูลบนคลาวด์ (Cloud) ที่จะเข้ามาช่วยขับเคลื่อนหลาย ๆ องค์กรให้มีความแข็งแกร่งในด้าน IT มากขึ้น เป็นการบริหารจัดการข้อมูลที่มีความปลอดภัยสูง รองรับการพัฒนา application ใหม่ สอดรับกับทิศทางของทุก ๆ อุตสาหกรรมในอนาคต ที่จะมีการใช้ข้อมูลจากหลาย ๆ แหล่ง มาพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า และเสริมสร้างขีดศักยภาพขององค์กรยิ่งขึ้น รวมถึงเพิ่มทักษะของบุคลากรของในบริษัทให้เตรียมพร้อมต่อ Digital Transformation ที่กำลังเกิดขึ้น
นอกเหนือไปจากการลงทุนด้วยวิสัยทัศน์แห่งอนาคต ปตท. ยังให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย โดยนำองค์ความรู้ทางด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ภาคเกษตรกรรมของบ้านเรา ผ่านโครงการบูสเตอร์ (Booster Project) ซึ่งได้รับมอบหมายภารกิจขับเคลื่อนการสร้างธุรกิจใหม่ให้แก่ ปตท. โดยมุ่งเน้นที่กลุ่ม Food Value Chain เป็นหลัก เพื่อสร้างการเติบโตให้แก่ ปตท. รวมถึงการเป็น incubator/accelerator ให้โครงการนวัตกรรมที่มีอยู่แล้วใน ปตท. และมีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นธุรกิจใหม่ได้
โดยตัวอย่างหนึ่งซึ่งเห็นได้ชัดเจนก็คือ ความมุ่งมั่นในการพัฒนาให้ประมงไทยกลับมาโดดเด่นอีกครั้ง โดยนำเทคโนโลยีนวัตกรรมและระบบการจัดการใหม่ มาพัฒนาศักยภาพการเพาะเลี้ยงครบวงจร รวมทั้งการแปรรูป จำหน่าย และบริหารโลจิสติกส์ เพื่อสร้างระบบการบริหารจัดการที่ได้มาตรฐาน เพิ่มความมั่นใจให้กับผู้บริโภคทั้งในไทยและต่างประเทศ ยกระดับความสามารถในการแข่งขันให้แก่เกษตรกรไทย และสร้างโอกาสใหม่เพื่อการเติบโตทางธุรกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยได้คัดเลือกปลาเศรษฐกิจ 2 ชนิดมาเป็นโมเดลต้นแบบ ได้แก่ Gourami Model (ปลากุรามิ หรือ ปลาสลิด) และ Sugi Model (ปลาซุกิ หรือปลาช่อนทะเล)
โดยปัจจุบันได้พัฒนาระบบการจัดการการเพาะเลี้ยงปลาสลิดกับกลุ่มเกษตรกรรุ่นแรกแล้วเสร็จ คาดว่าจะมีการเก็บผลผลิตชุดแรกได้ไม่เกินเดือนสิงหาคม 2564 และจะนำไปแปรรูปผลิตภัณฑ์ โดยจะมีผลิตภัณฑ์ชุดแรกมาทดสอบตลาดได้ในเดือนกันยายน 2564 นี้ สำหรับโมเดลปลาซุกิ ขณะนี้อยู่ในระหว่างการทดสอบและพัฒนาระบบการจัดการการเลี้ยงปลาช่อนทะเลในกระชังรูปแบบใหม่เทียบกับการเพาะเลี้ยงแบบเดิม โดยจะมีการทดสอบด้านการจัดการ อาหาร และสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการทดสอบตลาดเพื่อคำนวนต้นทุนทางการเงินและประสิทธิภาพก่อนที่จะขยายผลไปสู่เกษตรกร ทั้งนี้ทั้งสองโมเดลจะมีการสร้าง mobile application เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้เกษตรกรบันทึกข้อมูลทั้งหมดเพื่อช่วยให้การเพาะเลี้ยงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ตั้งแต่การเพาะพันธ์ เพาะเลี้ยงไปจนถึงการแปรรูปได้
นอกจากนั้น ยังมีการดำเนินงานด้าน Herbal-Based Functional Food ที่เป็นการส่งเสริมภาคการเกษตรด้วยการยกระดับอุตสาหกรรมสมุนไพรไทย พร้อมนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าไปช่วยตั้งแต่การปลูก การสกัด การแปรรูป ตลอดจนนำออกขายสู่ตลาดในเชิงพาณิชย์ เพื่อยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ ร่วมพัฒนาสังคม และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย ขณะนี้ได้พัฒนาเทคโนโลยีภายในโรงเรือน Smart Green House ณ วังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยอง และอยู่ในระหว่างการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสารสกัดของหญ้าหวานและกระชายดำร่วมกับ สวทช. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น
อีกหนึ่งผลงาน คือ Coffee Chaff ซึ่งโครงการ Booster ได้ร่วมกับ สถาบันนวัตกรรม ปตท. นำเยื่อกาแฟที่เหลือจากกระบวนคั่วเมล็ดกาแฟของโรงคั่วกาแฟคาเฟ่ อเมซอน มาหาโอกาสพัฒนาในเชิงพาณิชย์ ในรูปแบบวัสดุ (Materials) ต่างๆ สร้างมูลค่าเพิ่มให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามแนวคิด Circular Economy โดยล่าสุดล่าสุดร่วมกับ HOOG แบรนด์เฟอร์นิเจอร์สัญชาติไทย เป็นพันธมิตรออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ในรูปแบบเฟอร์นิเจอร์
ทั้งหมดนี้คือความมุ่งมั่นอย่างไม่หยุดยั้งของ ปตท. ที่พยายามมองหาและสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ด้วยเป้าหมายเพื่อให้เกิดความยั่งยืน และคนไทยได้ประโยชน์สูงสุด