GULF แจงกำไรสุทธิไตรมาส 2/64 ลดลง 25% มาอยู่ที่ 1.4 พันล้านบาท เหตุมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่มีกำไรจากการดำเนินงานพุ่ง 42% หลังโครงการโรงไฟฟ้ากัลฟ์ ศรีราชา (GSRC) หน่วยที่ 1 เปิดดำเนินการ แย้มครึ่งหลังปีนี้ทยอย COD โรงไฟฟ้าเพิ่มทั้งใน และต่างประเทศ
นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ กรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน เปิดเผยว่า บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เปิดเผยผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ปี 2564 ว่าบริษัทมีกำไรสุทธิ 1,407 ล้านบาท ลดลง 25.2% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1,881 ล้านบาท เนื่องจากในปีก่อนมีผลกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง (Unrealized Gain) จำนวน 892 ล้านบาท เทียบกับ 6 ล้านบาทในไตรมาส 2 ปีนี้
อย่างไรก็ตาม ในไตรมาส 2/2564 บริษัทมีกำไรจากการดำเนินงาน (Core Profit) จำนวน 1,401 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 412 ล้านบาท หรือคิดเป็น 42% จากไตรมาสเดียวกันในปีก่อน สาเหตุหลักมาจากการรับรู้ผลกำไรของโครงการโรงไฟฟ้ากัลฟ์ ศรีราชา (GSRC) หน่วยที่ 1 ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้ง 662.5 เมกะวัตต์ ที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ไปเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564 โดยมี Load Factor เฉลี่ยเท่ากับ 88% ในไตรมาสนี้
นอกจากนี้ โครงการโรงไฟฟ้า 12 SPP ภายใต้กลุ่ม GMP และโครงการโรงไฟฟ้า 7 SPP ภายใต้กลุ่ม GJP ที่รับรู้ Core Profit เพิ่มขึ้นจากปริมาณการขายไฟฟ้าให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรมที่สูงขึ้นในทุกภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มยานยนต์ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มผลิตภัณฑ์เหล็ก โดย 12 SPP มี Load Factor เฉลี่ยของกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมในไตรมาสนี้เท่ากับ 63% เทียบกับ 51% ปีที่แล้ว ในขณะที่ 7 SPP มี Load Factor เฉลี่ยเท่ากับ 66% ในไตรมาสนี้ เทียบกับ 57% ในปีก่อน โดยโรงไฟฟ้า 2 IPP ภายใต้กลุ่ม GJP ยังมีปริมาณการขายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเพิ่มขึ้น 148% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2563 ส่งผลให้โรงไฟฟ้าเดินเครื่องอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งในไตรมาส 2 ปี 2564 ยังรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจาก PTT NGD จำนวน 63 ล้านบาท จากการที่ GULF เข้าไปลงทุนในสัดส่วน 42% ด้วย
ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2564 Core Profit ในไตรมาสนี้ลดลง 989 ล้านบาท หรือคิดเป็น 41.4% เนื่องจากไม่มีการบันทึกเงินปันผลรับจาก INTUCH ในไตรมาสนี้ และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในทะเล Borkum Riffgrund 2 (BKR2) มีปริมาณการขายไฟฟ้าที่ลดลงจากปัจจัยด้านฤดูกาล ซึ่งไตรมาส 2 และไตรมาส 3 นับเป็น low season เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 และไตรมาส 4 ซึ่งถือเป็น high season ของพลังงานลมในทะเลที่ประเทศเยอรมนี
ในไตรมาส 2 ปี 2564 GULF มีรายได้รวม 11,845 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,707 ล้านบาท หรือคิดเป็น 29.6% จากไตรมาส 2 ปี 2563 จากการรับรู้รายได้จากโครงการโรงไฟฟ้า GSRC หน่วยที่ 1 ที่เปิดดำเนินการในไตรมาส 1 ปี 2564 และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในทะเล BKR2 ที่รับรู้รายได้ครั้งแรกในไตรมาส 4 ปี 2563 อีกทั้งยังรับรู้รายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการขายไฟฟ้าและไอน้ำให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรมของกลุ่ม GMP อย่างไรก็ตาม รายได้จากการขายไฟฟ้าของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ GTN1 และ GTN2 ที่ประเทศเวียดนาม ลดลงเล็กน้อยจากการจำกัดการรับซื้อไฟฟ้าชั่วคราว (Temporary Curtailment) เนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศเวียดนาม
อัตรากำไร EBITDA Margin ในไตรมาส 2 ปี 2564 เท่ากับ 35.6% เพิ่มขึ้นจาก 31.9% ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักจากต้นทุนค่าก๊าซธรรมชาติที่ลดลง 8.7% จากปีก่อน แม้ว่าค่า Ft เฉลี่ยจะลดลงก็ตาม
ส่วนงวด 6 เดือนแรกปีนี้บริษัทมีกำไรสุทธิ 3,038.68 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1,467.58 ล้านบาท
ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 GULF มีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Net Interest-Bearing Debt to Equity) เท่ากับ 1.75 เท่า ซึ่งยังต่ำกว่าข้อกำหนดสิทธิสำหรับหุ้นกู้ (Bond Covenant) ที่ 3.50 เท่า
นางสาวยุพาพินกล่าวว่า หลังจากที่ GULF ได้ทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ของบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH แล้วเสร็จ ทำให้มีสัดส่วนการถือหุ้น INTUCH ทั้งสิ้นเท่ากับ 42.25% โดย GULF ได้ทำการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินในประเทศทั้งสิ้นจำนวน 48,612 ล้านบาท โดย GULF มีแผนในการออกและเสนอขายหุ้นกู้มูลค่ารวมประมาณ 20,000 ล้านบาทภายในปีนี้ โดยจะนำเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้นกู้ไปลงทุนเพื่อขยายธุรกิจ และชำระคืนเงินกู้ที่ใช้ในการซื้อหุ้น INTUCH ในบางส่วน นอกจากนี้ บริษัทฯ จะรับรู้เงินปันผลรับทันทีประมาณ 1,600 ล้านบาทในไตรมาส 3 นี้
สำหรับแผนการดำเนินงานในครึ่งปีหลังของปี 2564 GULF ยังมีโครงการที่จะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในทะเลที่ประเทศเวียดนาม (Mekong Wind) ระยะที่ 1-3 กำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวม 128 เมกะวัตต์ ที่จะทยอยเปิดดำเนินการระหว่างไตรมาส 3-4 ปีนี้, โครงการโรงไฟฟ้า GSRC หน่วยที่ 2 กำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้ง 662.5 เมกะวัตต์ ที่กำหนดเปิดดำเนินการในเดือนตุลาคม 2564, โครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่ประเทศโอมาน (DIPWP) จำนวน 326 เมกะวัตต์ ระยะที่ 1 ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้ง 40 เมกะวัตต์ ที่จะเปิดดำเนินการระหว่างไตรมาส 3-4 และโครงการ solar rooftop ภายใต้ Gulf1 กำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวม 20 เมกะวัตต์ ที่จะทยอยเปิดดำเนินการภายในสิ้นปี ส่งผลให้ GULF มีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวมทั้งสิ้น 7,922 เมกะวัตต์ ณ สิ้นปี 2564
นางสาวยุพาพินกล่าวอีกว่า บริษัทเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาและดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนมาโดยตลอด จึงได้กำหนดกลยุทธ์ทางธุรกิจที่มุ่งเน้นการลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนสอดคล้องกับนโยบายภาครัฐและทิศทางของโลกโดยยึดมั่นในนโยบายไม่ลงทุนในธุรกิจถ่านหิน (No Coal Policy) อีกทั้งได้ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งจากพลังงานหมุนเวียนให้มากกว่าร้อยละ 30 ของกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวมของบริษัทฯ ภายในปี 2573 ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้มีการลงทุนในโครงการพลังงานหมุนเวียนทั้งในแถบประเทศยุโรป แถบประเทศเอเชีย รวมถึงประเทศไทย
ดังนั้น เพื่อให้การกำหนดทิศทางดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ เกิดความชัดเจนและพร้อมรองรับการขยายตัวของธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนต่อไปในอนาคต เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2564 คณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีมติอนุมัติให้บริษัทฯ จัดโครงสร้างการลงทุนในกลุ่มบริษัทใหม่ โดยเปลี่ยนชื่อ บริษัท กัลฟ์เอ็นเนอร์จีอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทฯ ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 100 และประกอบกิจการโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น มาเป็น บริษัท กัลฟ์รีนิวเอเบิลเอ็นเนอร์จี จำกัด (“Gulf Renewable Energy”) โดยนำบริษัทย่อยที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจพลังงานหมุนเวียนทั้งหมดของบริษัทฯ ที่ดำเนินการอยู่ เช่น โครงการพลังงานลมในทะเลที่ประเทศเยอรมนี (BKR2) โครงการพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมในทะเลที่ประเทศเวียดนาม โครงการโซลาร์รูฟท็อบและพลังงานชีวมวลที่ประเทศไทย และอื่นๆ มาบริหารงานภายใต้ Gulf Renewable Energy อีกทั้งการลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ ในอนาคตจะดำเนินการภายใต้ Gulf Renewable Energy เช่นกัน
ทั้งนี้ การปรับโครงสร้างการลงทุนดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อสัดส่วนการลงทุนสุทธิ (Effective Shareholding Ratio) ของบริษัทฯ ในบริษัทย่อย และไม่เข้าข่ายเป็นรายการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 20/2551 เรื่องหลักเกณฑ์ในการทำรายการที่มีนัยสำคัญที่เข้าข่ายเป็นการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียน