xs
xsm
sm
md
lg

ล็อกดาวน์ดันชมถ่ายสดโอลิมปิกพุ่ง โซเชียลมีเดียบทบาทเด่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การตลาด - Tokyo Olympics 2020 ความสุขเล็กๆ ของคนไทยในวิกฤตโควิด-19 นี้ รับอานิสงส์จากการ Lockdown ดันผู้ชมพุ่งสูงขึ้น หลังเทควันโดคว้าทองแรกให้ไทย

ก่อนมหกรรม Tokyo Olympics 2020 จะเริ่มขึ้น ได้เคยมีการคาดการณ์ว่ามหกรรมโอลิมปิกในครั้งนี้ ความสนใจและบรรยากาศการติดตามรับชมการแข่งขันของผู้ชมทั่วโลกที่ส่วนใหญ่ยังคงเผชิญกับวิกฤตการแพร่ระบาดของ Covid-19 อยู่ น่าจะส่งผลทำให้กระแสการติดตามรับชมไม่น่าจะคึกคักและมีผู้ติดตามชมไม่มากเท่าครั้งที่ผ่านๆ มา

อย่างไรก็ตาม ในค่ำคืนวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 หลังพิธีเปิดอันเรียบง่ายตามข้อกำหนดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ Covid-19 แต่แฝงไปด้วยความหมายลึกซึ้ง ความน่ารัก และความประทับใจในเอกลักษณ์วัฒนธรรมเฉพาะตัวของญี่ปุ่น การใส่ใจในรายละเอียดของเจ้าภาพทั้งในเรื่องพิธีการและการแสดงต่างๆ ได้สร้างความประทับใจและจดจำ ตลอดจนการพูดถึงในโลก Social เป็นวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสดง Pictogram เพื่อสื่อถึงสัญลักษณ์ของกีฬาในโอลิมปิก 2020 ซึ่งถือว่าเป็นตัวขโมยซีนหลักของพิธีเปิดครั้งนี้ไปก็ว่าได้

สำหรับประเทศไทย ก็ได้มีการคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่ากระแสความสนใจและการติดตามรับชมมหกรรม Tokyo Olympics 2020 น่าจะไม่คึกคักเท่าครั้งที่ผ่านๆ มา เพราะคนไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตโควิดอย่างหนักหนาสาหัสอยู่ อารมณ์และจิตใจของคนไทยคงมุ่งให้ความสนใจไปยังการติดตามสถานการณ์การระบาด ตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตรายวัน มาตรการป้องกัน การรักษาผู้ติดเชื้อ การกระจายวัคซีน และการเยียวยาผู้ประกอบกิจการ รวมถึงประชาชนที่กำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักในวงกว้างอยู่ในขณะนี้
 
แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยพื้นฐานของคนไทยที่ผูกพันและชื่นชอบในวัฒนธรรมของญี่ปุ่นเป็นทุนเดิม หลังพิธีเปิด Olympics 2020 สิ้นสุดลง กระแสความชื่นชอบและการพูดถึงรายละเอียดต่างๆ ของพิธีเปิดก็พุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลก Social ดันแฮชแท็กที่เกี่ยวกับ Tokyo Olympics 2020 ติด Top Twitter Trend ของไทย เช่น #Olympics #Tokyoolympics2020 #Olympics2020 #Tokyo2020 #โอลิมปิกเกมส์ และนอกจากนั้นยังมีอีกหลากหลาย Topics ที่เป็น Top retweet เช่น มีพูดถึงการแสดงสัญลักษณ์กีฬาในพิธีเปิดครั้งนี้ “Pictogram” การพูดคุยถึงการจุดคบเพลิงของเจ้าภาพครั้งก่อนๆ และพูดคุยกันว่าใครทำได้ว้าวที่สุด เป็นต้น


ต่อเนื่องจากกระแสของพิธีเปิด ด้วยสถานการณ์โควิดและการยกระดับมาตรการ Lock Down ของภาครัฐในจังหวัดหลักๆ ดันจำนวนผู้ชมการแข่งขันกีฬาประเภทต่างๆ ใน Tokyo Olympics 2020 พุ่งสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และมีการพูดคุยถึงการแข่งขันในโลก Social ในมุมที่แตกต่างกันตามความสนใจของกลุ่มโซเชียลที่หลากหลาย เช่น

- ช็อตเด็ดกีฬา เช่น กระโดดน้ำชายคู่ของอังกฤษที่ synchronize กันดีมาก
- ลีลาการเล่นสุดแพรวพราวของวอลเลย์บอลชายญี่ปุ่น ที่เหมือนในอนิเมะไฮคิว
- นักกีฬาดาวรุ่ง นักกีฬาที่มีเรื่องราวที่น่าสนใจ
- ส่องนักกีฬาหน้าตาดีของแต่ละชาติในกีฬาประเภทต่างๆ
- แบรนด์ไทยหลายๆ แบรนด์ที่ออกมาเล่นกับกระแส Pictogram

ในช่วงค่ำของวันเสาร์ที่ 24 กรกฎาคม ที่พีกที่สุดคือการแข่งขันกีฬาเทควันโดรุ่นน้ำหนักไม่เกิน 49 กิโลกรัมหญิง ที่ พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ หรือน้องเทนนิส คว้าเหรียญทองเหรียญแรกให้แก่ทัพนักกีฬาไทย และเป็นเหรียญทองแรกในประวัติศาสตร์ของสมาคมเทควันโดไทย สร้างความดีใจ ความคึกคัก ความสุขให้แก่แฟนผู้ชมชาวไทย และปลุกกระแสการร่วมเชียร์นักกีฬาไทยที่เป็นตัวแทนทีมชาติไทยไปแข่ง Tokyo Olympics ในครั้งนี้รวม 42 คนจาก 14 ชนิดกีฬาได้เป็นอย่างดี

จากสภาวะวิกฤตโรคระบาดและมาตรการ Lockdown ส่งผลให้คนอยู่บ้าน และชมการถ่ายทอดสด Tokyo Olympics ได้ง่ายมากขึ้น ผ่านหลากหลายช่องทาง ทั้งฟรีทีวี 7 ช่อง คือ PPTV, True4U, JKN18, GMM25, NBT, Thai PBS, T Sports รวมถึงการถ่ายทอดสดผ่าน AIS PLAY และ Social Platforms ของสื่อดังกล่าว เพื่อให้คนไทยสามารถรับชมได้ทุกชนิดกีฬา โดยไม่พลาดการแข่งขันที่จัดขึ้นพร้อมๆ กัน ซึ่งดูเหมือนว่าคอนเทนต์ที่เกี่ยวกับ Tokyo Olympics 2020 จะเป็นความสุขเล็กๆ ของคนไทยที่พอจะหาเสพได้ในยามวิกฤตนี้

จำนวนผู้ชม Tokyo Olympics 2020 มีมากกว่า 13.5 ล้านคนในช่วง 6 วันแรก หลังพิธีเปิดเริ่มขึ้น (ข้อมูลจำนวนผู้ชมรวมผ่านฟรีทีวี วัดผลโดย Nielsen Media Research) ยังไม่รวมผู้รับชมผ่าน Social Platforms ต่างๆ และ AIS Play ซึ่งรวมแล้วน่าจะมีผู้ชมรวมไม่ต่ำกว่า 20 ล้านคน


ทาง MI Group มองว่า อย่างไรก็ตามหากเปรียบเทียบจำนวนผู้ชม Tokyo Olympics กับ Rio Olympics 2016 ไม่สามารถวัดจำนวนผู้ชม (Rating) ได้โดยตรงเพราะภูมิทัศน์สื่อ (Changing Media Landscape) ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

โดย Tokyo Olympics 2020 ในครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นมหกรรม Olympics แรกที่จัดขึ้นในยุคที่ Social Media มีบทบาทหลักอย่างชัดเจนเป็นครั้งแรก และยังช่วยขับเคลื่อนความคิด ความเชื่อและพฤติกรรมของคนทั่วโลก ซึ่งดูเหมือนเจ้าภาพ “ญี่ปุ่น” ตระหนักและให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้เป็นอย่างมาก พิธีการและการแสดงต่างๆ มีการให้ความสำคัญในเรื่อง Diversity (ความหลากหลาย) & Equality (ความเท่าเทียม), Humble (ความถ่อมตัว), Commitment (ความมุ่งมั่น), Solidarity (ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน) ซึ่งคอนเทนต์เหล่านี้ถูกสอดแทรกเข้าไปในพิธีเปิดและการแสดงต่างๆ และถ่ายทอดออกมาได้อย่างลงตัว ชัดเจนและเป็นที่น่าประทับใจ สอดรับกับพฤติกรรมการเสพสื่อของประชากรโลกยุคใหม่ ทั้ง online และ offline อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ตัวเลขจำนวนผู้ชมการถ่ายทอดสดของไทยผ่านฟรีทีวี (Broadcast TV) ก็มีจำนวนมากขึ้นทุกช่องอย่างมีนัยสำคัญ โดยผู้ชมกลุ่มหลักๆ ของ Tokyo Olympics คือกลุ่มคนกรุงเทพฯ และคนเมือง รายได้ปานกลางถึงสูง อายุ 35 ปีขึ้นไป โดยที่ในช่วงต้นของมหกรรม Tokyo Olympics ผู้ชมชาวไทยให้ความสนใจกีฬาแบดมินตัน เทควันโด จักรยาน ปิงปอง และยิงปืนมากที่สุด พูดง่ายๆ ก็คือผู้ชมชาวไทยให้ความสนใจในกีฬาที่มีนักกีฬาของไทยเข้าร่วมการแข่งขันเป็นพิเศษ นอกเหนือจากประเภทกีฬาที่มีนักกีฬาของไทยเข้าร่วมการแข่งขัน จากข้อมูลในโอลิมปิกในครั้งที่ผ่านๆ มา คนไทยให้ความสนใจและติดตามรับชมประเภทกีฬา เช่น ว่ายน้ำ, ยิมนาสติก, เทนนิส, บาสเกตบอล, วอลเลย์บอล เป็นต้น

ทั้งจากการรายงานข่าวของสื่อ หรือการติดตามข่าวด้วยตัวผู้ชมเอง คนไทยตั้งหน้าตั้งตาตั้งความหวังอันเต็มเปี่ยม เฝ้าจอเพื่อรอคอยโมเมนต์ที่ไทยจะคว้าชัยชนะครองเหรียญอีกครั้ง ให้ได้เฮกันลั่นเมือง เหมือนครั้งที่น้องเทนนิสได้มอบความสุขเล็กๆ ให้เราในเวลาวิกฤตนี้ 


กำลังโหลดความคิดเห็น