xs
xsm
sm
md
lg

สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตฯ มิ.ย.โต 17.58% ผลจากการส่งออกไทยขยายตัวสูง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สศอ.” เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือน มิ.ย.อยู่ระดับ 97.73 เติบโตจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 17.58% อานิสงส์การส่งออกที่ขยายตัวสูงหนุน ดันกำลังการผลิต 63.92% คาดทั้งปีดัชนีผลผลิตฯ โตได้ 4-5%

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน มิ.ย. 64 อยู่ที่ระดับ 97.73 ขยายตัว 17.58% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานที่ต่ำในปี 2563 เนื่องจากยังอยู่ในช่วงได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ประกอบกับเศรษฐกิจโลกมีทิศทางฟื้นตัวทำให้เกิดความเชื่อมั่นในการผลิตและการบริโภคจึงทำให้ภาคการส่งออกของไทยยังคงมีทิศทางขยายตัว โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย. 64) ไม่รวมทองคำ อาวุธ รถถัง และอากาศยาน ขยายตัวสูงถึง 45.23% ขณะที่ดัชนี MPI ครึ่งปีแรกปีนี้ขยายตัวเฉลี่ย 9.41% และคาดว่าดัชนี MPI ทั้งปีจะขยายตัว 4-5%

“จากการเติบโตของภาคการผลิตทำให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเดือน มิ.ย.อยู่ที่ 63.92% ปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับ มิ.ย. 63 ที่อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 55.42% แต่หากเทียกับเดือน พ.ค. 64 ยอมรับว่าดัชนีผลผลิตอุตฯ ปรับตัวลดลง 2.65% และอัตราการใช้กำลังการผลิตเดือน พ.ค. 64 อยู่ที่ 65.75% ลดลงเล็กน้อย โดยคงจะต้องติดตามการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในคลัสเตอร์โรงงานอย่างใกล้ชิด” นายทองชัยกล่าว

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่มีดัชนีผลผลิตที่ส่งผลบวกขยายตัวในเดือนมิถุนายน 2564 อาทิ ยานยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 90.06 จากการผลิตเกือบทุกรายการสินค้า ประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เวียดนาม ญี่ปุ่น เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดีขึ้น ทำให้การส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 82.14 ส่วนตลาดในประเทศยังขยายตัวได้แม้จะมีการระบาดระลอก 3

ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 32.32 ตามความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์โลกที่ขยายตัว และความต้องการสินค้าเพื่อการทำงานแบบ work from home มากขึ้น ประกอบกับแนวโน้มของการพัฒนาสินค้าเทคโนโลยีเป็นปัจจัยส่งเสริมให้มีการใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในหลากหลายอุตสาหกรรมมากขึ้น

เหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 28.93 จากเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กรูปพรรณรีดร้อน และเหล็กเส้นข้ออ้อย เป็นหลัก ตามความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องโดยเฉพาะยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ตลอดจนการเร่งก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานของรัฐในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น