ในสถานการณ์โควิด-19 (COVID-19) ที่สร้างผลกระทบไปทั่วโลก แน่นอนว่าในหลายธุรกิจนั้นได้รับผลกระทบ แต่กับบางธุรกิจก็กลายเป็นผลกระทบในเชิงบวก
ดังเช่นแบรนด์ที่เข้าร่วมใน “กิจกรรมบ่มเพาะแบรนด์ไทยรุ่นที่ 4 หรือ IDEALAB 4” ภายใต้แนวคิด From The New Normal to A New Future จัดโดย สำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ที่ต้องการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยในทุกภูมิภาค ในด้านการสร้างคุณค่าของแบรนด์สินค้าให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลและให้สามารถขยายมูลค่าการค้าระหว่างประเทศได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในสถานการณ์การค้าปัจจุบันฐานวิถีชีวิตใหม่ (New Normal)
*** “แดรี่โฮม” มั่นใจในจุดแข็งและแก้ไขจุดอ่อน
แม้จะเป็นแบรนด์ที่อยู่คู่คนไทยมาจนถึงปีที่ 21 แต่ “แดรี่โฮม” (Dairy Home) ก็ไม่เคยหยุดนิ่งในการพัฒนาแบรนด์ พร้อมตั้งเป้าในการสร้าง “นมออร์แกนิก” ให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคทั้งประเทศ พร้อมสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
นายพฤฒิ เกิดชูชื่น เจ้าของและผู้ก่อตั้ง "แดรี่โฮม" ผลิตภัณฑ์นมและโยเกิร์ตออร์แกนิคพร้อมดื่มจากนครราชสีมา เล่าว่า "แดรี่โฮมเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการพัฒนาแบรนด์อยู่ตลอดแต่ยังคงเน้นเป้าหมายหลักคือการเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม จุดเด่นของผลิตภัณฑ์คือรสชาติที่อร่อย เป็นนมออร์แกนิค 100% และยังเพิ่มนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคเข้าไปด้วยอย่างนมก่อนนอน (Bed Time Milk) เพราะคนไทยมีภาวะนอนหลับยากเป็นจำนวนมาก จึงคิดค้นผลิตภัณฑ์เพื่อเจาะตลาดกลุ่มนี้
สาเหตุที่ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ IDEALAB 4 เพราะรู้สึกว่าการวางแผนกลยุทธ์ที่มีอยู่ยังพัฒนาไปได้อีก และต้องการดึงจุดแข็งที่มีอยู่ทั้งหมดออกมาใช้ให้เต็มที่กว่านี้ หลังจากเข้าร่วมโครงการแล้วทำให้แบรนด์ได้เห็นถึงมุมมองที่มากขึ้นจากสายตาคนนอก เห็นถึงจุดแข็งที่มั่นใจว่าเดินมาถูกทาง ไม่ได้คิดกันเองแค่ในองค์กร และจุดอ่อนที่เราต้องเพิ่มน้ำหนักและให้ความสำคัญมากขึ้น ผู้เชี่ยวชาญของโครงการได้ช่วยดึงเอาส่วนประกอบของแบรนด์ไม่ว่าจะเป็นสี ฟ้อนต์ หรือโลโก้ ให้ออกมาใช้ในเชิงการสื่อสารมากขึ้น
*** “มันตรา” ยึดมั่นในแพสชั่นและตอกย้ำจุดยืน
นายสิริเชษฐ์ จิรพงษ์วัฒนะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอเอ็มจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด เจ้าของแบรนด์มันตรา (Mantra) ผลิตภัณฑ์แพลนท์เบสซีฟู้ด (Plant Based Seafood) รายแรกๆ ของโลก โดยมีฐานที่ตั้งอยู่ จ.สมุทรสาคร เล่าว่า "จากการที่เป็นเด็กต่างจังหวัด เคยได้เห็นความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำ ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่เด็ก แต่ทุกวันนี้หลายอย่างเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นโรงงานอุตสาหกรรม แม่น้ำลำคลองที่ไม่สามารถกระโดดลงไปเล่นได้อีกแล้ว จึงต้องการผลิตอาหารที่ช่วยลดการสร้างมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงการรับประทานของผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด เลยเกิดเป็น Plant Based Seafood หรืออาหารทะเลที่ทำจากพืชแบรนด์มันตราขึ้นมา เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้มนุษย์ลดการบริโภคอาหารทะเลที่เป็นเนื้อสัตว์”
โดยเปิดตัวผลิตภัณฑ์ลูกชิ้นกุ้งทำจากพืชในงาน THAIFEX เดือนกันยายนปี2563ที่ผ่านมาซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างดี ช่วงโควิด-19 นั้นถือว่าแบรนด์ได้รับผลกระทบในเชิงบวกเพราะคนต้องอยู่บ้านมากขึ้น ทำกับข้าวทานเอง ทำให้ยอดจำหน่ายเติบโตขึ้น
ในเรื่องของการส่งออกไปต่างประเทศนั้น แม้ว่าจะทำธุรกิจส่งออกมาโดยตลอดแต่ก็เป็นการสร้างแบรนด์และทำการตลาดจากประสบการณ์ ไม่เคยมีผู้รู้จริงมาวิเคราะห์ให้เข้าใจหรือแนะแนวทางที่ถูกต้อง การเข้าร่วมโครงการ IDEALAB 4 จึงทำให้เป้าหมายของแบรนด์ชัดเจนมากขึ้น เข้าใจข้อมูลอินไซด์ผู้บริโภคมากขึ้น เข้าใจหลักการตลาดและการกำหนด Positioning ให้กับแบรนด์ ตลอดจนการออกแบบแพคเกจจิ้งเพื่อให้เข้าถึงลูกค้าแต่ละกลุ่ม กำหนดการสื่อสารให้เป็นตัวตนของแบรนด์มันตราที่ต้องการลดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและเป็นอาหารเพื่อสุขภาพอย่างแท้จริง ช่วยสร้างความมั่นใจที่จะไปแข่งขันในตลาดโลกมากขึ้น ขณะนี้ตั้งเป้าหมายว่าภายในปีนี้แบรนด์จะต้องสร้างการรับรู้ในประเทศไทยอย่างทั่วถึง และอีก 4 ปี จะต้องเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก
*** สุขโข” พลิกกลยุทธ์จึงจะอยู่ได้
ขณะเดียวกันก็มีแบรนด์ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เต็มที่อย่างแบรนด์สุขโข (SOOKKHO)
นางสาวนุตสรา รักแสง กรรมการผู้จัดการ บริษัท นิวเจน อินเตอร์ เทรดดิ้ง จำกัด เล่าว่า “สุขโขเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมหมอนสมุนไพรเพื่อสุขภาพและลูกประคบ ที่มีความโดดเด่นด้านวัตถุดิบการเกษตรของไทยคือสมุนไพรไทย 100% ปราศจากสารเคมี มีเรื่องราวของแบรนด์ที่น่าสนใจโดยใช้ว่านสาวหลง พืชมงคลของไทยที่นานาชาติยกให้เป็นส่วนผสมอันล้ำค่าเป็นตัวเดินเรื่อง มีการย้ำเน้นความเป็นไทย (Thai Culture) เพื่อให้ผู้ใช้รู้สึกถึงความเป็นไทยได้ทุกที่บนโลกนี้ ซึ่งแน่นอนกว่ากลุ่มเป้าหมายคือนักท่องเที่ยวต่างชาติ”
แต่เมื่อต้องพบกับสถานการณ์โควิด-19 ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป ช่องทางจัดจำหน่ายที่เคยติดต่อกันไว้ก็ต้องหยุดลง แม้จะมีวิธีระบายสินค้าออกบ้างแต่ก็ไม่มากนัก จนเมื่อเข้าร่วมโครงการจึงพลิกกลยุทธ์ วางแผนการตลาดใหม่ ได้ผู้เชี่ยวชาญมาช่วยคิดและวางแผนในการสร้างแบรนด์อย่างยั่งยืนและมั่นคง สามารถเอาแนวคิด แบรนด์ไบเบิล ไปต่อยอดโดยมีแนวทางที่ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งหลังจากนี้จะลงมือทำเลย โดยปรับกลุ่มเป้าหมายใหม่เป็นการเน้นที่การส่งออกต่างประเทศก่อน ส่วนตลาดท่องเที่ยวต้องรอให้เปิดประเทศอย่างจริงจังอีกครั้ง
*** “มาร็อง” กลับไปโฟกัสที่จุดเริ่มต้น
นางสาวทิพย์สุดา สาธุกิจชัย และ นายประสาร เจียมบุตร เจ้าของแบรนด์มาร็อง (MARON) ผู้สร้างสรรค์พลอยธรรมชาติให้มีดีไซน์ทันสมัยเข้าถึงคนรุ่นใหม่ เล่าว่า “จากธุรกิจรุ่นคุณพ่อที่ทำการค้าพลอยและเหมืองมาก่อน มาถึงปัจจุบันที่ได้มาสานต่อโดยต่อยอดให้เป็นเครื่องประดับที่มีดีไซน์ทันสมัยเข้าถึงคนรุ่นใหม่มากขึ้น โดยเริ่มจำหน่ายในรูปแบบออนไลน์ตั้งแต่ 5-6 ปีที่ผ่านมา แต่มีโอกาสได้ไปออกงานแฟร์ทั้งในและต่างประเทศหลายครั้ง อาทิ ฮ่องกง ไต้หวัน และญี่ปุ่น ทำให้ใช้เวลาไปกับการทำการตลาดแบบออฟไลน์มากกว่าออนไลน์เพราะสร้างรายได้ได้อย่างรวดเร็ว
แต่เมื่อโควิด-19 เกิดขึ้น ทำให้มีเวลากลับมาทบทวนจุดเริ่มต้นของแบรนด์มากกว่าเดิมและต้องการให้แบรนด์โตอย่างยั่งยืน จึงเริ่มวางแผนกันใหม่ พร้อมทั้งเข้าร่วมโครงการ IDEALAB 4 จากเดิมที่แค่อยากได้มุมมองจากผู้เชี่ยวชาญว่าว่าแผนการตลาดและกลยุทธ์ที่คิดไว้ถูกต้องไหม ดีพอไหม แต่กลายเป็นว่าการเข้ามาอบรมนั้นทำให้เข้าใจถึงแก่นของแบรนด์มากขึ้น รากฐานที่เคยคิดว่ามั่นคงกลับยังไม่มากพอ คำแนะนำที่ได้รับมานั้นหากทำได้สัก 50% เชื่อว่าแบรนด์จะมั่นคงมากกว่านี้และทำให้ธุรกิจเติบโตในระยะยาว
นอกจากผู้เชี่ยวชาญจะช่วยดูเรื่องกลยุทธ์แล้วยังช่วยสร้างให้เป็นจริงได้ด้วย ที่ผ่านมาเวลาไปออกงานแฟร์ต่างประเทศ เห็นได้ชัดเจนว่าการที่แบรนด์ไม่แข็งแรงนั้นจะเจอแค่คู่ค้าเล็กๆ ที่มาซื้อไปจำหน่ายสัก 1-2 ครั้งก็หายไป ไม่ใช่รายใหญ่ แต่หลังจากนี้มั่นใจว่าเมื่อกลับไปอีกครั้งด้วยแบรนด์แที่แข็งแกร่งและมั่นคง เข้าถึงคู่ค้ารายใหญ่ได้ สามารถทำธุรกิจต่อกันในระยะยาว และขยายตลาดต่างประเทศได้มากขึ้น
*** “สยามเทคฟาร์ม” เปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายเพื่อขยายผลิตภัณฑ์ใหม่
จากเดิมที่เคยพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับจิ้งหรีดโดยผลิตเป็นอาหารว่าง (Snack) แต่เมื่อเล็งเห็นโอกาสเติบโตที่มากขึ้นหากขยายรูปแบบให้เป็นอาหาร นางสาวรุจิรา ล่านสกุล เจ้าของแบรนด์สยามเทคฟาร์ม (Siam Tech Farm) จ.ขอนแก่น จึงลงมือทำ พร้อมกับเล่าว่า “ผลิตภัณฑ์กลุ่มอาหารจะอยู่ในตลาดได้ยั่งยืนกว่า จึงผลิตโปรตีนทางเลือกโดยสกัดจิ้งหรีดเป็นผงแป้งโปรตีน และพัฒนาไปสู่การทำเส้นพาสต้าจิ้งหรีดทับทิมชุมแพ เจาะกลุ่มเป้าหมายที่รักสุขภาพเพราะให้โปรตีนสูงและปราศจากกลูเตน
ในต่างประเทศให้ความสำคัญกับโปรตีนทางเลือกมากถือเป็นอาหารแห่งอนาคต แต่ในประเทศไทยเองยังไม่ค่อยได้รับการยอมรับ ด้วยความที่รู้สึกว่าจิ้งหรีดแมลงชนิดหนึ่ง แต่เมื่อเข้าร่วมโครงการ นอกจากจะได้แนวทางใหม่ๆ ในการสร้างแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็นความสำคัญของแพคเกจจิ้ง การเลือกสี การสร้างเรื่องราวแล้ว ยังได้ไอเดียในการขยายรูปแบบของสินค้าโดยไม่ยึดติดว่ากลุ่มเป้าหมายจะต้องเป็นมนุษย์ แต่ก็สามารถเป็นสัตว์ได้ด้วย จึงเตรียมต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้เป็นอาหารว่างของสัตว์เลี้ยงที่ให้โปรตีนสูงต่อไป
จากผู้ประกอบการ 127 แบรนด์ที่สมัครเข้าร่วมโครงการ IDEALAB 4 ถูกคัดเลือกเหลือเพียง 15 แบรนด์ เพื่อ Workshop เชิงลึกกับผู้เชี่ยวชาญ ทำให้แต่ละแบรนด์มีโอกาสในการวิเคราะห์ข้อมูลแบบเข้มข้น แน่นอนว่าการที่แบรนด์จะเป็นที่รู้จักและเติบโตในระดับสากลได้นั้น ต้องผ่านอุปสรรคต่างๆ มากมาย ทั้งจากการแข่งขันในตลาด และสถานการณ์ที่คาดไม่ถึงอย่างโรคอุบัติใหม่ดังเช่นตอนนี้ แต่ในร้ายย่อมมีดีเพราะทำให้ผู้ประกอบการหลายคนได้หันกลับมามองจุดยืน ปรับตัว และเรียนรู้ที่จะก้าวผ่านบททดสอบครั้งนี้ไปให้ได้ สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วม “กิจกรรมบ่มเพาะแบรนด์ไทย หรือ IDEALAB” ในปีถัดไปสามารถติดตามรายละเอียดได้ทาง เฟซบุ๊ค DitpDesignDitp และ www.ditp-design.com