xs
xsm
sm
md
lg

“อุตฯ-แรงงาน-บีโอไอ” บูรณาการขอจัดสรรวัคซีน สธ.ให้นักลงทุนต่างชาติในนิคมฯ เพิ่มอีก 8,000 คน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ร่วมหารือกระทรวงแรงงาน และบีโอไอ ขอรับการจัดสรรโควตาฉีดวัคซีนให้แก่ชาวต่างชาติที่ปฏิบัติงานในนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มเติมอีก 8,000 คนจากที่ผ่านบีโอไอ 36,000 คน หวังเร่งกระตุ้นภูมิคุ้มกันนักลงทุนเดินหน้าเศรษฐกิจ คาดฉีด ส.ค.นี้

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)
เปิดเผยว่า ตนได้รับมอบหมายจาก นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้เข้าประชุมหารือร่วมกับนายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ซึ่งได้รับมอบหมายจาก นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้นักลงทุนและผู้ปฏิบัติงานที่เป็นชาวต่างชาติในประเทศไทย โดยก่อนหน้านี้มีนักลงทุนต่างชาติที่ได้รับการสนับสนุนวัคซีนจากความร่วมมือของกระทรวงแรงงานและคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ประมาณ 36,000 คน ในการนี้ ตนได้แจ้งว่ายังมีชาวต่างชาติที่ปฏิบัติงานในนิคมอุตสาหกรรมที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มของนักลงทุนบีโอไออีกประมาณ 8,000 คน จึงขอให้กระทรวงแรงงานและบีโอไอนำไปพิจารณาเพื่อขอโควตาเพิ่มเติมจากกระทรวงสาธารณสุขให้แก่นักลงทุนและผู้ปฏิบัติงานในกลุ่มนี้เพิ่มเติม เนื่องจากเป็นบุคลากรกลุ่มสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

ทั้งนี้ กนอ.มีความประสงค์ขอรับการจัดสรรวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ผู้ประกอบการ ผู้ปฏิบัติงานชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในไทย ซึ่งกระทรวงแรงงานเห็นควรให้ กนอ.ประสานข้อมูลการขอรับการจัดสรรวัคซีนร่วมกับบีโอไอในคราวเดียวเพื่อให้การจัดสรรวัคซีนเป็นไปอย่างรวดเร็วและทันท่วงที สำหรับหลักเกณฑ์การสนับสนุนวัคซีนแก่นักลงทุนต่างชาติของ กนอ. คือ ผู้บริหารและผู้ชำนาญการจากต่างประเทศ กลุ่มสมาร์ทวีซ่าที่อยู่ในไทยเกิน 6 เดือน และครอบครัวอายุ 18 ปีขึ้นไปที่ไม่เคยได้รับวัคซีนเข็มแรกที่อื่นมาก่อน

ส่วนวัคซีนที่จะนำมาฉีดให้กลุ่มดังกล่าวคือ วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่ได้รับบริจาคจากประเทศญี่ปุ่น สถานที่ฉีดจะใช้จุดบริการที่มีอยู่แล้วของกระทรวงแรงงาน โดยกำหนดจุดในกรุงเทพมหานคร 10 จุด และในต่างจังหวัดที่ระยอง ชลบุรี สมุทรปราการ จังหวัดละ 1 จุด คาดว่าจะเริ่มทยอยฉีดได้ประมาณเดือนสิงหาคมนี้

“กนอ.จะพยายามติดตามความคืบหน้าในการจัดสรรวัคซีนโควิด-19 ให้แก่บุคลากรภายใต้การกำกับดูแลให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ผู้ปฏิบัติงานในนิคมฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าคนเหล่านี้จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคการผลิตและการส่งออก และช่วยนำพาเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศให้มีความแข็งแกร่งตามไปด้วยเมื่อปัญหาโควิดบรรเทาลง” นายวีริศกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น