xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมพร้อมรับมือ!สึนามิศก.กำลังมาล็อกดาวน์โหมซ้ำธุรกิจกระอัก-NPLพุ่ง-แรงซื้อดิ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19ในไทยระลอก 3 ซึ่งมีความรุนแรงจนนำมาสู่มาตรการล็อกดาวน์ 13 จังหวัดเริ่ม 20 ก.ค.64ระยะเวลา 14 วัน ( ถึง 2 ส.ค. 64) นับเป็นการส่งสัญญาณภาพให้เห็นถึงการก่อตัวของสึนามิที่กำลังจะพัดกระหน่ำเข้าหาเศรษฐกิจไทยชัดเจนมากขึ้นเนื่องจากภาคธุรกิจทั้งเล็ก ใหญ่ ประชาชนทั่วไปต่างประสบกับความยากลำบากในการทำมาหากินอย่างหนัก ขาดเงินที่จะก้าวต่อไป ท่ามกลางยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19ที่ยังไร้วี่แววว่าจะเบาบางลงและจะจบลงเมื่อใดกันแน่

หากมองย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นของการแพ่ระบาดไวรัสโควิด-19 ช่วงต้นปี 2563 ภาคเอกชนระดับแถวหน้าล้วนออกมาชี้แนะแนวทางต่อภาครัฐไปในทิศทางเดียวกันจนถึงกระทั่งถึงวันนี้ก็ยังพูดไม่หยุด นั่นคือการเร่งจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพื่อฉีดให้กับประชาชนอย่างทันท่วงทีและเร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่โดยเร็วซึ่งหมายถึงต้องฉีดให้ประชากร 70% ให้ได้ แต่วันนี้การฉีดวัคซีนก็ยังอยู่ในอัตราต่ำเพียง 15% ของประชากรทั้งหมดและดูเหมือนว่าวัคซีนที่จัดหามีแนวโน้มที่จะรับมือกับสายพันธุ์ใหม่ๆที่เกิดขึ้นไม่ได้อีกด้วย การล็อกดาวน์ล่าสุดจึงเป็นการตอกย้ำความล้มเหลวของการบริหารจัดการภาครัฐที่ไม่อาจปฏิเสธได้

การสื่อสารจากรัฐบาลตลอดเวลาที่ผ่านมาได้สร้างความหวังให้กับทุกภาคส่วนในการจัดหาวัคซีนโดยเฉพาะการตอกย้ำเป้าหมายที่จะฉีดวัคซีนให้ได้ 100 ล้านโดสภายในสิ้นปี แถมระยะหลังยังตอกย้ำให้เห็นวัคซีนทางเลือกต่างๆที่จะเปิดให้เอกชนนำเข้า ควบคู่ไปกับเป้าหมายการเปิดประเทศให้ได้ใน 120 วัน เหล่านี้ล้วนกลายเป็นสิ่งที่ประชาชนตั้งคำถามว่ามันคืออิหยังวะ??? เพราะการดำเนินงานในเชิงปฏิบัติไม่ได้แสดงให้เห็นว่ามันคืบหน้าแต่อย่างใด ท้ายสุดกลายเป็นเพียงไอเดียที่ให้ความหวังกับประชาชนแบบลมๆ แล้งๆ เช่นนั้นหรือ???

การแพร่ระบาดโควิด-19 ในไทยจากจุดเริ่มต้นเดือนม.ค.63 จนถึงวันนี้ล่วงเวลาไปแล้วกว่า 18 เดือนโดยเป็นการแพร่ระบาดครั้งใหญ่มาแล้ว 2 ระลอกและปัจจุบันอยู่ในระลอก 3( 3เม.ย.-ปัจจุบัน) การล็อกดาวน์ครั้งนี้แม้จะต่างกับปี 2563ที่ทำทั้งประเทศแต่ด้วยสภาพคล่องของธุรกิจและประชาชนที่เจอมาทุกระลอก เงินทุนในกระเป๋าควักทุ่มลงทุนไปหมดแล้วด้วยความหวังว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นได้ ทั้งโรงแรม ร้านอาหาร ร้านนวด แม่ค้าหาบเร่-แผงลอย อาชีพอิสระที่เจอคอร์ฟิว ล็อกดาวน์ต้องปิดๆ เปิดๆ ท่ามกลางเงินในกระเป๋าประชาชนผู้ซื้อเองก็ถดถอยลงเช่นกัน เพราะถูกลดเงินเดือน บ้างถูกให้ออกจากงาน ส่วนที่เหลือก็ทำงานที่บ้าน(WFH) แม่ค้าที่เข้าไม่ถึงระบบค้าขายออนไลน์ก็ไม่อาจทำยอดขายได้คุ้มทุน

ประชาชนเริ่มใช้สอยประหยัดซื้อในสิ่งที่จำเป็นเพราะความไม่แน่นอนในอนาคตวันข้างหน้าว่าจะยังคงมีงาน มีรายได้เหมือนเดิมหรือไม่??? สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิ.ย.ล่าสุดปรับตัวลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 22 ปี 9 เดือน!!! และหากมองในแง่หนี้สินครัวเรือนศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้เสนอบทวิเคราะห์ที่ชี้ให้เห็นว่ายอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไทยในไตรมาส 1/2564 ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 14.13 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 90.5% ต่อจีดีพี สูงสุดในรอบ 18 ปีตามสถิติที่มีการเก็บรวบรวมของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสูงขึ้นต่อเนื่องจากระดับ 89.4% ต่อจีดีพี ในไตรมาสที่ 4/2563

เช่นเดียวกับธุรกิจโดยวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม(เอสเอ็ม) รายย่อยต่างๆ สภาพคล่องแทบไปต่อไม่ไหวโดยจากข้อมูลกระทรวงการคลังหนี้ธุรกิจทั้งรายใหญ่และเอสเอ็มอีที่อยู่ในมาตรการพักหนี้-ปรับโครงสร้างหนี้มีจำนวนประมาณ 21,310 กิจการวงเงินหนี้ 87,948 ล้านบาท ขณะเดียวกันหนี้ครัวเรือนที่เข้าโครงการปรับโครงสร้างมีจำนวนถึง 3.21 ล้านบัญชี สะท้อนให้เห็นว่าวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้เล่นงานธุรกิจ และประชาชนอย่างรุนแรงหรือเรียกได้ว่าโจมตีฐานรากเศรษฐกิจของไทยโดยแท้จริง


เปิดมุมมองโควิด-19วิกฤตินี้ซึมลึก!!!

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวแสดงความเห็นถึงวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้ว่า หากมองวิกฤติปี 2540 เกิดขึ้นเฉพาะในไทยที่ส่งผลอย่างรุนแรงต่อภาคการเงิน ทำให้ธนาคาร บริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทขนาดใหญ่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก หนี้พุ่งขึ้นหลายเท่าจนต้องเลิกกิจการ เปลี่ยนมือ หรือขายหุ้นให้ต่างชาติในราคาถูก แต่ภาคส่วนอื่นๆไม่ค่อยได้รับผลกระทบเท่าใดนัก ค่าเงินบาทต้องลอยตัวไปสู่การอ่อนค่าลง ทำให้เป็นปัจจัยบวกต่อการส่งออกดีเพราะเศรษฐกิจโลกไม่ได้มีผลกระทบส่งผลให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเร็ว

ขณะที่วิกฤติผลกระทบจากโควิด-19 สถานการณ์กลับกัน ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง คือ ภาคบริการต่างๆ ท่องเที่ยว ค้าปลีก ร้านอาหาร โรงแรมทั้งหมด และบรรดาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีซึ่งส่งผลกระทบต่อการจ้างงานคนจำนวนหลายล้านคนต้องตกงานเพราะถูกเลิกจ้าง หรือลดเวลาทำงาน ลดเงินเดือน ขาดรายได้ แต่ปรากฎว่า ธุรกิจธนาคาร สถาบันการเงิน และบริษัทขนาดใหญ่ รวมทั้งบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ยังแข็งแกร่ง ไม่ค่อยได้รับผลกระทบ

ดังนั้นวิกฤติโควิด-19 เป็นศึกหนักทั้ง 2 ด้าน คือ ต้องต่อสู้ทั้งกับเชื้อโรค ศัตรูที่มองไม่เห็น และด้านเศรษฐกิจที่หยุดชะงัก กำลังซื้อหดหาย และตกต่ำอย่างรุนแรง สิ่งสำคัญไปกว่านั้น คือ เกิดขึ้นพร้อมกันทั่วโลก และเป็นสงครามยืดเยื้อที่ยังไม่รู้ว่าจะยาวนานแค่ไหน จะจบลงอย่างไร และสร้างความเสียหายอีกสักเท่าใด!!!

“ ครั้งนี้กระทบคนส่วนใหญ่ของประเทศที่เป็นระดับฐานรากและหากปล่อยไว้สิ่งที่จะตามมาไม่เพียงปัญหาด้านเศรษฐกิจ แต่อาจนำไปสู่เปัญหาทั้งด้านสังคม ที่คนจะท้อแท้ อาจฆ่าตัวตายมากขึ้นเพราะไม่มีรายได้เกิดการโจรกรรม ปล้นชิงทรัพย์ ฯลฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมไม่อยากเห็นและหวังว่ารัฐบาลจะมีมาตรการต่างๆมาแก้ไขก่อนที่เราจะก้าวไปสู่จุดนั้นซึ่งจำเป็นต้องขับเคลื่อนมาตรการด้านสาธารณสุขทั้งการหาวัคซีนมาฉีดให้ประชาชนโดยเร็ว การคัดกรองผู้ติดเชื้อออกมารักษา และมาตรการด้านเศรษฐกิจที่ต้องทำควบคู่กันไปโดยเห็นว่ารัฐจำเป็นต้องหาเงินเตรียมไว้ดูแลอย่างน้อย 1 ล้านล้านบาทเพื่ออัดลงไปในระบบเศรษฐกิจ”นายเกรียงไกรกล่าว

เขายังแสดงความเห็นว่าโควิด-19ที่ยังไม่เห็นแสงสว่างปลายทางว่าจะจบเมื่อใดนั้นยังจะทำให้ภาพของธุรกิจในระยะต่อไปอาจเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เพราะทุกอย่างจะก้าวไปสู่วิถี New Normal เราอาจไม่ได้เห็นคนต่างชาติมาท่องเที่ยวเต็มพิกัด 40กว่าล้านคนเช่นอดีตอีกต่อไปหรือไม่ ?เพราะยังต้องระวังระยะห่าง การค้าขายที่เปลี่ยนไปสู่ระบบออนไลน์มากขึ้น ธุรกิจพึ่งพิงระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์สูงขึ้น เหล่านี้ล้วนส่งผลให้เกิดการจ้างงานที่ลดลง …!!! เราจะพร้อมรับมือแค่ไหนเป็นโจทย์ที่ทุกคนต้องช่วยกันแก้

ขณะที่นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร และรองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวแสดงความเห็นว่า 1 ปีกว่าแล้วที่เรายังคงอยู่กับโควิด-19 และทำให้มีประสบการณ์ถึงวิธีการต่างๆในการรับมือดังนั้นการล็อกดาวน์ล่าสุดหากทุกคนยอมเจ็บแล้วจบเชื่อว่าคนทั้งประเทศยอมรับได้ แต่ถ้าเจ็บแล้วไม่จบปัญหาจะตามมาแน่นอน คนจะตกงานเพิ่มขึ้นและต้องกลับไปภูมิลำเนาก็อาจนำเชื้อไปแพร่ต่ออีกถือเป็นความท้าทายมาก ดังนั้นรัฐจำเป็นต้องสื่อสารให้ชัดเจน!!! โดยเฉพาะแผนจัดหาวัคซีนที่จะทำให้เกิดความเชื่อมั่น เพราะวันนี้”วัคซีน”คือคำตอบที่จะให้คนไทยดำเนินชีวิตต่อไปอย่างไรในวันข้างหน้าแม้ว่ายังต้องป้องกันตัวเองอยู่แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีอะไรพื้นฐานรองรับไว้เลย

โควิด-19ครั้งนี้ไม่เหมือนวิกฤติปี40 แน่นอนเพราะเป็นเรื่องของทั้งโลกที่เผชิญเหมือนกันหมดทุกประเทศล้วนต้องการ”วัคซีน” และวัคซีนทุกตัวก็เป็นกรณีฉุกเฉินแต่เราก็เลือกที่องค์การอนามัยโลก(WHO)ให้การรับรองได้และต้องยอมรับว่าเวลานี้ตลาดเป็นของผู้ขาย ดังนั้นกรณีที่จะเร่งให้มีการใช้ rap antigen kit ส่วนตัวเห็นว่าถ้าตรวจแล้วแยกผู้ติดเชื้อมารักษาเสร็จแล้วถ้าไม่มีวัคซีนโอกาสก็จะกลับมาติดอีกก็ยังเป็นปัญหาเช่นเดิม

“ การส่งออกเมื่อช่วงวิกฤติปี 40 กับขณะนี้คล้ายกันที่เป็นกลไกหลักในการดึงเศรษฐกิจไทยกลับมาแต่ครั้งนี้เรายังเผชิญความเสี่ยงที่ต้องติดตามอีกพอสมควรทั้งการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์(ชิป)ขาดแคลนวัตถุดิบ ค่าระวางเรือหรือเฟดที่สูงขึ้นกระทบกับสินค้าเกษตรแปรรูปมาก รวมถึงทิศทางเศรษฐกิจโลก อะไรตอนนี้มันเกิดขึ้นได้หมดเพราะโควิด-19 ไม่มีใครรู้ว่าจะโลกจะควบคุมให้จบได้เมื่อใดแน่ “นายวิศิษฐ์กล่าว

เขาย้ำส่งท้ายว่า “สำคัญสุดคือปี’40กระทบเฉพาะคนตัวใหญ่หรือธุรกิจขนาดใหญ่แต่ครั้งนี้คนตัวเล็กๆ เอสเอ็มอี ลำบากหมดเขาล้มแล้วลุกยากมาก วันนี้สิ่งสำคัญคือทุกคนต้องให้กำลังใจกันและร่วมกันหาทางออกเพื่อให้เราผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปให้ได้”

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ความเชื่อมั่นผู้บริโภคมีแนวโน้มจะลดต่ำลงได้อีกเพราะก่อนหน้านี้การสำรวจยังไม่เกิดการล็อกดาวน์และยังมีกรณีกระแสข่าวถึงโมเดลการปิดเมืองแบบอู่ฮั่นซึ่งทำให้ประชาชนกังวลใจเพิ่มขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจภาพรวมอาจได้รับผลกระทบให้ชะลอตัวลงเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่จะฉุดความเชื่อมั่นภาพรวมได้ง่ายและภาพรวมเมื่อเทียบกับปี’40ความเชื่อมั่นครั้งนี้จะต่ำสุด

“อดีตปี 2540 คนต่างจังหวัดไม่ได้รับหรือรู้สึกถึงผลกระทบอะไร และต่างประเทศเองก็ยังค้าขายได้ปกติ แต่ครั้งนี้คนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบ เจ็บตัวกันหมดรวมถึงชนชั้นกลางที่เป็นฐานรากและทั่วโลกก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน ขณะที่ช่วงวิกฤติปี 2540 ค่าเงินบาทอ่อนค่าไปถึง 50 บาทต่อเหรียญสหรัฐ แต่ค่าเงินบาทเฉลี่ยขณะนี้ก็อยู่ราวๆ 32 บาทต่อเหรียญสหรัฐส่งออกเองก็ยังเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอยู่ได้กลไกเดียว”นายธนวรรธน์กล่าว

สำหรับในแง่ของเศรษฐกิจหากมองตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) ยอมรับว่าผลกระทบโควิด-19 หากมองทั้งภาวะในประเทศและภาวะเศรษฐกิจโลกยังมีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะลบได้ง่ายแต่หากเทียบกับปี2540 แล้วหลายอย่างก็ยังดีกว่าทั้งในแง่ของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) ที่ปี40 นั้นมีจำนวนสูงมาก ขณะที่โควิด-19แม้จะทำให้ตัวเลข NPL ของไทยสูงขึ้นต่อเนื่องแต่ก็ไม่ถึงขั้นทำให้ประเทศล้มละลายเช่นปี’40 เพราะทุนสำรองระหว่างประเทศขณะนี้ก็ยังมีสูงอยู่ …ดังนั้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในปัจจุบันและอนาคต จะมีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยว่าจะสามารถไปต่อหรือไม่ !!!

 ภายใต้สถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ที่ไทยต้องเผชิญครั้งนี้ที่ยังไม่รู้ว่าจะจบหรือไม่ ท่ามกลางสายพันธุ์เดลต้าก็จู่โจมไม่หยุด จะก่อให้เกิด”สึนามิ”ทางเศรษฐกิจลูกใหญ่มากน้อยเพียงใดจึงต้องฝากความหวังไว้กับการบริหารจัดการของรัฐบาลในการรับมือทั้งด้านสาธารณสุขและด้านเศรษฐกิจที่ต้องทำควบคู่กันไป …. แต่เหนือสิ่งอื่นใดคนไทยเองก็ต้องมีจิตสำนึกรับผิดชอบตนเองในการป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อและการแพร่ระบาดที่เพิ่มขึ้นด้วย เพราะหากพลาดท่าซะแล้ว!!!ความหายนะครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก
กำลังโหลดความคิดเห็น