การตลาด – ฟู้ดเชนรายใหญ่ ดิ้นสู้อีกเฮือก หลังมาตรการล็อกดาวน์ ฉบับที่ 28 มีผลบังคับใช้ วันที่่ 20 ก.ค.นี้ ต้องปิดร้าน ปิดบริการดีลิเวอรี่ในศูนย์การค้า “ ซีอารจี - เซ็นกรุ๊ป” ค่ายใหญ่รวมทั้งรายกลาง เร่งหาทางออกใหม่ ประกาศหาพื้นที่เช่า ทั้งครัว หรือตึกแถว โรงแรม นอกศูนย์การค้า เพื่อสร้างเป็นครัวกลางชั่วคราว นอกศูนย์การค้า ผลิตอาหารส่งดีลิเวอรี่ทดแทนครัวเดิมในศูนย์การค้าที่ต้องปิดไป
นายณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (Central Restaurants Group) หรือ ซีอาร์จี กล่าวว่า จากการประกาศมาตรการล็อกดาวน์ ฉบับที่ 28 คาดว่าจะส่งผลกระทบโดยรวมกับธุรกิจร้านอาหารอย่างแน่นอน ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวปรับกลยุทธ์กนอีกระลอกอย่างเต็มที่ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการร์ที่เกิดขึ้นอีกแล้ว
ในส่วนของซีอาร์จีเองก็ต้องปรับกลยุทธ์รับมือจากหารล็อกดาวน์ครั้งนี้ด้วยเช่นกันโดยเฉพาะในพื้นที่ควบคุมสูงสุดแบบเข้มงวด 13 จังหวัด ซึ่งต้องยอมรับว่าการประกาศครั้งนี้กระทบมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะร้านอาหารของซีอาร์จีกว่า 60% อยู่ในพื้นที่ล็อกดาวน์ หรือในศูนย์การค้าในจังหวัดพื้นที่ควบคุมเหล่านี้ เนื่องด้วยช่องทางการรับประทานในร้าน (Dine in) เป็นช่องทางรายได้หลัก ของธุรกิจร้านอาหารทั้งรายเล็ก ไปจนถึงรายใหญ่ และด้วยครั้งนี้ ไม่ใช่ครั้งแรกที่ให้ปิดบริการที่หน้าร้าน และร้านอาหารของ ซีอาร์จี กว่า 50% อยู่ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล
*** ซีอาร์จีเปิดแผนล็อตใหม่ เปิดครัวนอกศูนย์
กลยุทธ์การปรับตัวของซีอาร์จี คือ
1. การเร่งโปรโมทและสร้างยอดขายจากร้านค้าอื่น ๆของเราเองที่เปิดบริการอยู่นอกพื้นที่สีแดงเข้มให้มากที่สุด
2. การใช้พื้นที่ครัวของร้านอร่อยดี ซึ่งเป็นแบรนด์สตรีทฟู้ดของซีอาร์จีเอง โดยใช้สาขา ที่เปิดบริการอยู่นอกศูนย์การค้าอยู่แล้ว เพื่อให้แบรนด์อื่นๆในเครือเข้าแชร์พื้นที่ครัวในการทำอาหารส่งให้่กับลูกค้าเป็นการทดแทนครัวเดิมที่ต้องปิดไปชั่วคราว
3. การมองหาเช่าพื้นที่ครัวของโรงแรม และร้านอาหารรายย่อยที่เปิดให้เช่าครัวได้ เพื่อให้แบรนด์ของซีอาร์จีเข้าไปใช้บริการครัวในการผลิตอาหารทดแทนครัวเดิม
4. การใช้โมเดลใหม่ ๆ เช่น เดลโก้ (Delco), ไฮบริด คลาวด์ คิทเช่น (Hybrid Cloud Kitchen) และ คลาวด์ คิทเช่น (Cloud Kitchen) ที่อยู่นอกศูนย์การค้าให้เป็นฮับ (Hub) รองรับการบริการในรูปแบบดีลิเวอรี่ ซึ่งโมเดลเหล่านี้ ถือว่าทางซีอาร์จีได้มีการเปิิดบริการไปล่วงหน้าบ้างแล้วหลายแห่ง
5. การบริหารจัดการต้นทุน และควบคุมค่าใช้จ่ายต่างๆ อย่างเคร่งครัด
6. การเพิ่มการหารายได้จากหลาย ๆ ช่องทาง ซึ่งแน่นอนว่าในสถานการณ์เช่นนี้ การบริการดีลิเวอรี่เป็นส่วนสำคัญที่จะเข้ามาช่วยสร้างรายได้ตรงนี้ รวมไปถึงการเพิ่มช่องทางอื่น ๆ เช่น การจำหน่ายผ่านอีคอมเมิร์ซและระบบแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์อย่าง JD Central, Shopee และ Lazada เป็นต้น ที่เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน
7. การร่วมมือกับพันธมิตร Aggregator ชั้นนำทุกรายอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างวาไรตี้ด้านเมนู และโปรโมชั่นต่าง ๆ ช่วยกระตุ้นยอดขาย
8. การพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้สอดคล้องกับการให้บริการดีลิเวอรี่ อาทิ เมนูแกร็บ แอนด์ โก (Grab & Go), เทคโฮม (Take home) และสินค้าพร้อมทาน (RTE product) เพื่อสะดวกต่อการรับประทานอาหารที่บ้าน
9. สำหรับในด้านพนักงาน ทางซีอาร์จียืนยันที่จะพร้อมดูแลพนักงานของเราทั้งหมดให้ดีที่สุด ทั้งในเรื่องรายได้ตามความเหมาะสม, การให้พนักงานส่วนสำนักงานทำงานจากที่บ้าน (Work from Home), การจัดสรรวัคซีนแก่พนักงาน รวมทั้งแผนประกันภัยโควิด-19 ในกรณีพบติดเชื้อและคุ้มครองผลกระทบจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แก่พนักงานทุกคน
นายณัฐ กล่าวด้วยว่า ในเรื่องของสัดส่วนการขายผ่านบริการดีลิเวอรี่ ของร้านบนห้างที่ตั้งอยู่ในพื้นที่สีแดงของซีอารจีนั้นถือว่ามีมาก โดยซีอาร์จีมีร้านในพื้นที่สีแดง ประมาณ 770 สาขา ซึ่งต้องปิดบริการช่วงล็อกดาวน์ไปมากกว่า 90% จากทั้งหมด ดังนั้น การเปิดให้บริการแบบดีลิเวอรี่จึงเหลือเพียง 10% เท่านั้น
ทั้งนี้ หากเทียบกับภาพรวม(ทั่วประเทศ) สัดส่วนร้านที่เปิดให้บริการดีลิเวอรี่มีประมาณ40%
อย่างไรก็ตาม ช่องทางการให้บริการของซีอาร์จีในขณะนี้ ก็ยังมีอยู่ กล่าวคือ สำหรับนอกพื้นที่สีแดงเรายังเปิดให้บริการตามปกติทุกแบรนด์ รวมทั้งผู้บริโภคยังสามารถใช้บริการดีลิเวอรี่ได้ในทุกแพลตฟอร์มที่เปิดบริการ ทั้ง Grabfood, Line Man, Gojek, True Food, Robinhood, Food Panda รวมถึงแพลตฟอร์มของ ซีอาร์จี คือ Food hunt 1312 อีกด้วย
นอกจากนั้นก็ยังมี ช่องทางการจำหน่ายผ่านมาร์เก็ตเพลส (Marketplace) และระบบแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ชั้นนำ อย่าง JD Central, Shopee และ Lazada และช่องทาง LINE Official Account โดยสามารถซื้อสินค้าและ สั่งอาหาร ได้ทั้งแบบดีลิเวอรี่ และ คลิก แอนด์ คอลเลค (click and collect)
ก่อนหน้านี้ ซีอาร์จี ประกาศขานรับนโยบายรัฐ ระดมพลังแบรนด์ดังในเครือทุกแบรนด์เข้าร่วมโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ เพื่อร่วมกระตุ้นเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. – 31 ธ.ค. 2564 เพียงใช้ G-Wallet ชำระค่าอาหาร และเครื่องดื่ม (เฉพาะทานที่ร้านหรือซื้อกลับบ้าน) ที่ร้านอาหารในเครือซีอาร์จี ทั้ง 17 แบรนด์ จำนวนกว่า 1,100 สาขา ทั่วประเทศ (ยกเว้นสาขาในฟู้ดคอร์ท) นอกจากนี้ ยังจัดโปรโมชั่นพิเศษเพิ่มความคุ้มค่ากระตุ้นการใช้จ่าย พร้อมรับเงินคืน E-Voucher สูงสุด 7,000 บาท และยังสามารถนำ E-Voucher กลับมาใช้จ่ายที่ร้านได้อีกต่อ ตั้งแต่วันที่ 7 ส.ค. – 31 ธ.ค. 2564
ปัจจุบัน ซีอาร์จี มีแบรนด์ธุรกิจร้านอาหารที่หลากหลาย ครอบคลุมเกือบทุกประเภทอาหาร จำนวน 15 แบรนด์ ครอบคลุม 1,175 สาขาทั่วประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ 26 ม.ค. 2564) ประกอบด้วย มิสเตอร์โดนัท (Mister Donut), เคเอฟซี (KFC), อานตี้ แอนส์ (Auntie Anne’s), เปปเปอร์ ลันช์ (Pepper Lunch), ชาบูตง (Chabuton),โคล สโตน ครีมเมอรี่ (Cold Stone Creamery), ไทยเทอเรส (Thai Terrace),โยชิโนยะ(Yoshinoya), โอโตยะ (Ootoya), เทนยะ(Tenya), คัตสึยะ(Katsuya), อร่อยดี (Aroi Dee), เกาลูน (Kowlune) สลัดแฟคทอรี่ (Salad Factory) และ บราวน์ คาเฟ่ (Brown Café) พร้อมบริการเดลิเวอรี่อร่อย ได้ทุกร้านผ่านโมบายล์แอพพลิเคชั่น “FOODHUNT”
*** เซ็นกรุ๊ป เช่าตึกแถว-ร้านอาหาร เปิดครัวกลาง
นายบุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ZEN ผู้ประกอบธุรกิจบริการอาหาร (Food Services) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัส Covid-19 จำนวนผู้ป่วยติดเชื้อที่เพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมาตรการการล็อกดาวน์ยกระดับคุมเข้มการระบาด โดยห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าเปิดให้บริการเฉพาะซูเปอร์มาร์เก็ต แผนกยาและเวชภัณฑ์ ที่ฉีดวัคซีน เท่านั้น มีผลตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา
เซ็น กรุ๊ป จึงปรับแผนดำเนินธุรกิจในช่วงนี้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยการเช่าพื้นที่ร้านอาหารนอกห้างหรือโรงแรมที่มีครัวและอุปกรณ์ครัว เพื่อให้บริการอาหารแบบเดลิเวอรี่และผูกปิ่นโต ภายใต้แบรนด์ เซ็น เรสเตอรองค์, ออนเดอะเทเบิ้ล และอากะ
ทั้งนี้ เซ็น กรุ๊ป สนใจเช่าพื้นที่ร้านอาหาร หรือโรงแรมที่ปิดให้บริการชั่วคราว ในทำเลที่มีศักยภาพเพื่อรองรับการกับความต้องการของลูกค้าครอบคลุมทุกโซนของกรุงเทพและปริมณฑล ได้แก่ ลาดพร้าว, อนุสาวรีย์, ทองหล่อ, สาทร, สีลม, เพลินจิต, พระราม 3 สาธุประดิษฐ์, รามอินทรา (แฟชั่นไอส์แลนด์), เจริญนคร, บางกะปิ, สยาม, พร้อมพงษ์, รัตนาธิเบศร์, งามวงศ์วาน, ปิ่นเกล้า, บางแค, บางนา, พระราม 9 เบื้องต้นมีระยะเวลาการเช่าพื้นที่ตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป หรือจนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มคลี่คลาย และผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ห้างสรรพสินค้าสามารถเปิดให้บริการทุกแผนก
“เนื่องจากร้านอาหารที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าหรือศูนย์การค้าต้องปิดให้บริการชั่วคราวตามนโยบายภาครัฐ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของ Covid-19 ครั้งนี้ เซ็น กรุ๊ป เข้าใจถึงความต้องการของลูกค้าจึงพร้อมเสิร์ฟอาหารที่ดีมีคุณภาพ สะอาด สดใหม่และมีความปลอดภัย จึงมุ่งเน้นให้บริการในรูปแบบเดลิเวอรี่และผูกปิ่นโต โดยการเช่าพื้นที่ครัวในทำเลต่างของพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อเปิดครัวใกล้บ้านให้ลูกค้าไม่พลาดกับเมนูอาหารจากแบรนด์ในเครือของเรา ซึ่งโมเดลธุรกิจในครั้งนี้ยังเป็นการสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการหรือเจ้าของร้านอาหาร ที่ต้องปิดให้บริการชั่วคราวจากการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 อีกด้วย” นายบุญยง กล่าว
ขณะที่การให้บริการรูปแบบดีลิเวอรี่ นับตั้งแต่มาตรการล็อกดาวน์ ยอดผู้ใช้บริการดีลิเวอรี่มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นเท่าตัวเทียบกับช่วงปกติ โดยแบรนด์ที่มียอดการสั่งซื้อเติบโตอย่างชัดเจน ได้แก่ เขียง ร้านอาหารไทยสตรีทฟู้ด และ ZEN Restaurant มั่นใจว่าการเช่าพื้นที่เป็นครัวสำหรับเสิร์ฟเมนูอาหาร หรือผูกปิ่นโต ที่อยู่ในทำเลใกล้บ้านลูกค้ามากขึ้น จะผลักดันให้ยอดขายเดลิเวอรี่มีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากช่วงก่อนล็อกดาวน์
สำหรับผู้ที่สนใจให้เช่าพื้นที่สามารถส่งรายละเอียดให้พิจารณาดังนี้ ส่ง 1. Location (พร้อม Google map) 2. รูปหน้าร้าน ภายในร้านและห้องครัว 3.โซนของร้านอาหาร และ 4. ขนาดพื้นที่ครัว โดยสามารถติดต่อที่ info@zengroup.co.th หรือโทร. 084-6757553
รวมไปถึงการใช้ครัวของร้านเขียงที่เป็นแบรนด์ในเครือเราเองที่เป็นร้านสตรีทฟู้ดเปิดตามพื้นที่ทั่วไป เพื่อให้แบรนด์อื่นในเครือมาใช้พื้นที่ร่วมกันด้วย ซึ่งขณะนี้มีประมาณ 70 กว่าสาขา
*** เจ้าของที่ดินเปิดพื้นที่ให้ใช้
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ทางปั๊มบางจากได้แจ้งข่าวมาว่า ร้านค้าที่ได้รับผ
ลกระทบจากโควิด-19 มาเปิดขายของที่สถานีบริการน้ำมันบางจากด้วยเงื่อนไขพิเศษ ได้แล้ว สมัครได้ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม ถึง 2 สิงหาคม 25 64
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในเพจ Torpenguinผู้ชายขายบริการ ได้มีการระบุว่า มีร้านอาหารที่ประกาศหา Cloud Kitchen แล้วมีหลายร้าน ไม่ว่าจะเป็นเครือ iberry group เจ้าของร้านกับข้าวกับปลา รสนิยม ทองสมิทธ์ ฯลฯ ที่โพสต์หาพื้นที่เช่านอกห้างที่มีอุปกรณ์ครัว นอกจากนั้น ก็ยังมี ร้านซูชิสุดคุ้ม Shinkanzen Sushi และโปเตโต้ คอร์เนอร์ ที่ประกาศตามหาพื้นที่เช่าระยะสั้น ไว้ทำครัวชั่วคราวสำหรับขายเดลิเวอรี่เช่นกัน
ทั้งสองร้านประกาศหาในหลากหลายย่าน ไม่ว่าจะเป็นลาดพร้าว เอกมัย ศรีนครินทร์ บางนา บางใหญ่ ท่าพระ ห้วยขวาง บางกะปิ พระราม 3 เลียบทางด่วนรามอินทรา รังสิต-ดอนเมือง รังสิต-ปทุมธานี พระราม 2 บางแค คันนายาว ตลิ่งชัน แจ้งวัฒนะ งามวงศ์วาน สำโรง รัตนาธิเบศร์ สุขสวัสดิ์-ทุ่งครุ ฯลฯ
โดยยินดีรับพื้นที่ครัวหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นตึกเเถว ร้านอาหารเก่า cloud kitchen หรือเป็นครัวโรงเเรมที่หยุดดำเนินการในช่วงนี้ สำหรับโปเตโต้คอนเนอร์ระบุว่า ไม่จำเป็นต้องมีครัวก็ได้ ขอเพียงมีพื้นที่ที่ตรงตามความต้องการก็พอ
นอกจากนี้ ในเพจ ยังมีร้านเรือนเพชรสุกี้ที่ประกาศว่า หากท่านใดมีพื้นที่ร้านอาหารที่ไม่ได้ใช้งานนอกศูนย์การค้าหรือสามารถแชร์พื้นที่ครัวร่วมกันหรือมีอาคารพาณิชย์พร้อมปล่อยให้เช่าชั่วคราว หรือระยะยาว สามารถติดต่อผ่านทางอินบ็อกซ์ในเฟซบุ๊กหรือไลน์ได้ โซนที่ต้องการคือ บางนา อ่อนนุช อุดมสุข เมืองนนทบุรี แจ้งวัฒนะ จรัญสนิทวงศ์ พระรามสาม หรือพื้นที่อื่นๆที่สนใจให้เช่า
นอกจากนั้นยังมีข้อความระบุอีกว่า โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง มี 3 สาขา คือ พระราม3 -แจ้งวัฒนะ-เลียบทางด่วนเอกมัย รามอินทรา มีครัวขนาดใหญ่ซึ่งปัจจุบันโรงเบียร์ต้องปิดบริการตามมาตรการ ก็เปิดให้ผู้เดือดร้อนที่สนใจต้องการมาใช้พื้นที่ครัวหรือพื้นที่เปิดดีลิเวอรี่่ได้เช่นกัน