ฝ่ายการค้าอนุพันธ์ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ทำการศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมในการ ซื้อ-ขาย คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ที่มีจุดเริ่มต้นจากการตื่นตัวในการดูแลชั้นบรรยากาศของโลกของนานาประเทศผ่านพิธีสารโตเกียว (Kyoto Protocol) ในปี 1997 โดยสาระสำคัญคือการตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง (Greenhouse Gases : GHG) ให้ได้ 5% เทียบกับปริมาณการปล่อยในปี 1990 ต่อมาในการประชุมที่กรุงปารีส (COP 21) เมื่อปี 2015 มีการเปลี่ยนเป้าหมายใหม่ (Paris Agreement) เป็นการรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้สูงขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับอุณหภูมิโลกในยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยการที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ มีการคาดการณ์ว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิต้องเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emissions) ภายในปี 2050 ทั้งนี้ Net Zero ไม่ได้หมายถึงการไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเลยหากแต่ หมายถึง การพยายามที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มากที่สุด และปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมาจะต้องได้รับการปรับสมดุลให้เท่ากับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกดูดซับหรือถูกนำออกจากระบบ เพื่อให้ผลรวมสุทธิเป็นศูนย์
เพื่อให้สอดรับกับเป้าหมายดังกล่าว นานาประเทศต่างออกมาประกาศเป้าหมาย Net Zero ของตนเอง โดยประเทศที่มีความพร้อมมากกว่า มีการพึ่งพาพลังงานฟอสซิล (ซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งใหญ่ในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ - Carbon Dioxide ที่เป็นก๊าซหลักของ ก๊าซเรือนกระจก) ในสัดส่วนน้อย เช่น ประเทศในแถบ สแกนดิเนเวีย มีการตั้งเป้าหมาย Net Zero ไว้ในช่วงปี 2030-2045 อีกหลายๆ ประเทศ อาทิ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ สหราชอาณาจักร สหภาพยุโรป ตั้งเป้าหมาย Net Zero ไว้ในปี 2050 เช่นเดียว กับประเทศสหรัฐอเมริกา ที่กลับมาสู่ข้อตกลงหลังจาก นาย Joe Biden ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ส่วนประเทศจีน ตั้งเป้าหมาย Net Zero ไว้ในปี 2060 ในขณะที่ประเทศไทยและประเทศอื่นๆ อีกส่วนมากยังอยู่ในขั้นตอนพิจารณาและยังไม่มีข้อสรุปสำหรับเป้าหมาย Net Zero
ทั้งนี้ เพื่อให้เป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ หลายประเทศต่างออกกฎระเบียบเพื่อรองรับและเป็นเครื่องมือบังคับใช้ อาทิ ภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) เป็นการเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมกับผู้ที่ปล่อยคาร์บอนมากเกินกว่าที่ได้รับอนุญาต หรือเรียกเก็บภาษีในภาคธุรกิจที่มีการใช้พลังงานที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมาก และในบางประเทศมีตลาดภาคบังคับ (Compliance Market) ใช้ระบบการซื้อขายก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading System : ETS) ซึ่งเป็นระบบ Cap and Trade โดยอนุญาตให้ผู้ที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจนอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเป้าหมาย (Cap) สามารถขายสิทธิ์ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เหลือให้แก่ผู้อื่นได้ ก๊าซเรือนกระจกที่ทำการ ซื้อ-ขาย (Trade) นี้ เรียกว่า “คาร์บอนเครดิต” ซึ่งหลักการนี้ เป็นจุดกำเนิดของการประเมินมูลค่าของคาร์บอนเครดิตที่มีหน่วยเทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จำนวน 1 ตัน เป็นตัวเงินเพื่อซื้อขายระหว่างบริษัทที่อยู่ในภาคบังคับด้วยกัน การเปิดให้มีการซื้อขายหรือมีตลาดคาร์บอนเครดิตนี้ ช่วยทำให้ต้นทุนในการลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจกของอุตสาหกรรมลดลง เพราะโรงงานแต่ละแห่งมีต้นทุนในการลดก๊าซเรือนกระจกไม่เท่ากัน แทนที่จะให้โรงงานทุกแห่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยไม่คำนึงถึงต้นทุนที่เกิดขึ้น ก็ให้โรงงานที่มีต้นทุนต่ำทำหน้าที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณสูง และนำคาร์บอนเครดิตที่เกิดขึ้นไปขายให้กับโรงงานที่มีต้นทุนสูง ทำให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจกในภาพรวมลดลงตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ในต้นทุนเฉลี่ยที่ต่ำลง ปัจจุบันมีหลายประเทศที่ใช้ระบบ ETS เป็นเครื่องมือในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และแต่ละตลาดก็มีกฏระเบียบ ข้อบังคับแตกต่างกันไปตามความพร้อมของแต่ละประเทศที่มีไม่เท่ากัน แต่ตลาดที่ใหญ่ที่สุดและมีการบังคับใช้อย่างเข้มงวดที่สุดคือ สหภาพยุโรป ที่บังคับใช้ใน 27 ประเทศในทวีปยุโรป ครอบคลุมบริษัทมากกว่า 10,000 แห่ง มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ที่เรียกว่า EU Allowance (EUA) โดยการซื้อขายทำได้ สามรูปแบบ คือการซื้อแบบประมูลจากหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแล (Auction) การซื้อโดยตรงจากผู้ขายนอกตลาด (Over The Counter : OTC) และ การซื้อขายผ่านตลาดกลาง (Exchange Traded) โดยตลาดซื้อขายหลักคือตลาด European Energy Exchange (EEX) และยังมีการซื้อขาย สัญญาล่วงหน้าผ่านตลาดอนุพันธ์ International Continental Exchange (ICE) ซึ่งในปี 2020 ที่ผ่านมา มีการซื้อขาย EUA สูงถึง 8,090 ล้านตันเทียบเท่าปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ และล่าสุดราคา 1 EUA มีมูลค่าถึง 52.86 ยูโรต่อตัน (ราคา ณ วันที่ 12 กรกฎาคม 2564)
นอกจากประเทศที่อยู่ในภาคบังคับแล้ว เพื่อเป็นการจูงใจให้ประเทศที่ยังไม่ได้เข้าร่วมในข้อตกลง Net Zero มีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงมีการพัฒนาระบบตลาดภาคสมัครใจ (Voluntary Market) เพื่อเปิดโอกาสให้โครงการต่างๆ ที่ช่วยลดหรือช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจก เช่น การเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) หรือ โครงการดูแลและฟื้นฟูสภาพป่าและการใช้พื้นที่ (Agriculture, Forestry and Other Land Use - AFOLU) ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล อาทิ Verra (Verified Carbon Standard), Gold Standard เข้ารับการตรวจสอบ ประเมิน และออกใบรับรองคาร์บอนเครดิตเพื่อนำไปใช้ในการซื้อขาย โดยตลาดหลัก คือ ตลาด Over The Counter ผู้ซื้อส่วนใหญ่ คือ องค์กรหรือบริษัทที่มีนโยบายมุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนตามหลักการ Environment, Social, and Governance (ESG) โดยบริษัทระดับโลก อาทิ เช่น Microsoft, Apple และ Google ทำการซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ด้านสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ สายการบินที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) ที่มีพันธกิจภายใต้โครงการ Carbon Offsetting & Reduction Scheme for International Aviation (CORSIA) ก็มีความต้องการซื้อคาร์บอนเครดิตจากตลาดภาคสมัครใจ เพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำหรับเที่ยวบินระหว่างประเทศ อีกด้วย
เมื่อต้นปีที่ผ่านมา บริษัท S&P Global Platts ซึ่งเป็นผู้ประกาศราคาอ้างอิงสำหรับการซื้อขายน้ำมันรายใหญ่ของโลก ได้เริ่มทำการประกาศราคาเพื่อใช้อ้างอิงในการซื้อขาย คาร์บอนเครดิต สำหรับโครงการ CORSIA และในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา Platts ได้ประกาศราคา คาร์บอนเครดิต อีกสองประเภท คือ ราคาคาร์บอนเครดิตจากโครงการพัฒนาสิ่งแวดล้อม (Nature-Base Carbon Credits) และคาร์บอนเครดิตสำหรับการซื้อขายเที่ยวเรือ LNG แบบไร้คาร์บอน (Carbon Neutral LNG) การประกาศดังกล่าว อาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าการซื้อขายคาร์บอนเครดิต เริ่มเป็นที่นิยมและอาจมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในอนาคต สุดท้ายนี้ ปัจจัยที่อาจมีผลต่อการพัฒนาการซื้อขายคาร์บอนเครดิตมากที่สุด อยู่ที่การประชุม COP 26 ณ กรุงกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ที่จะมีการพิจารณารายละเอียดของ Paris Agreement, Article 6 ที่มีสาระสำคัญคือการกำหนดหลักเกณฑ์และโครงสร้างการซื้อขายคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันการซื้อขายทำได้เฉพาะภายในประเทศ หรือในกลุ่มพื้นที่อยู่ภายในภาคบังคับร่วมกันเท่านั้น ดังนั้น หากที่ประชุมสามารถบรรลุข้อตกลงดังกล่าวได้ ก็จะเป็นตัวเร่งให้การซื้อขายคาร์บอนเครดิตเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด
นายดิษทัต ปันยารชุน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เตรียมความพร้อม เพื่อรองรับนโยบายของกลุ่ม ปตท. และของประเทศไทยในการก้าวสู่เป้าหมาย Net Zero ในอนาคต หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศได้ทำการติดตามความเคลื่อนไหวของตลาดคาร์บอนเครดิตอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ตลาดการค้าคาร์บอนเครดิต ทั้งการซื้อขายสัญญาล่วงหน้าผ่านตลาดอนุพันธ์ ICE ซึ่งเป็นตลาดที่ ปตท. มีบัญชีสำหรับการซื้อขายน้ำมันล่วงหน้าอยู่แล้ว และยังมี บริษัท PTT International Trading London Ltd (PTTT LDN) ที่ตั้งอยู่ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ อันเป็นศูนย์กลางการค้าอนุพันธ์ในทวีปยุโรป ที่สามารถช่วยสนับสนุนและรองรับการซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้ทันทีที่มีความต้องการ รวมทั้งการซื้อขายผ่านตลาด Over The Counter ที่ ปตท. มีเครือข่ายพันธมิตรทางการค้าที่เริ่มเตรียมความพร้อมในด้านนี้เช่นเดียวกัน