xs
xsm
sm
md
lg

โควิดคุมไม่อยู่! ระบบรางทรุดผู้โดยสารเหลือ 3.6 แสนคน/วัน กรมรางออกกฎเข้ม “งดสนทนา” บนรถไฟฟ้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โควิดคุมไม่อยู่ ผู้โดยสารระบบรางลดต่อเนื่องกว่า 50% เทียบกับต้นปี 64 เหลือเพียง 3.6 แสนคน/วัน MRT เหลือแสนกว่าคน BTS เหลือ 2 แสนคน ด้านกรมรางประกาศคุมเข้มสูงสุด “ใส่หน้ากาก-งดสนทนา” บนขบวนรถไฟฟ้า

รายงานข่าวแจ้งว่า จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระลอกล่าสุดนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 2564 พบว่าปริมาณผู้โดยสารในระบบขนส่งทางรางเมื่อเปรียบเทียบกับเมื่อช่วงต้นปี 2564 ลดลงประมาณ 54% โดยก่อนการระบาดระลอกล่าสุดมีผู้โดยสารรวมทุกระบบเฉลี่ย 790,931 คน/วันหลังระบาดเหลือเฉลี่ย 363,601 คน/วัน

การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ผู้โดยสารลดลงมากที่สุด 58.15% จากเฉลี่ย 36,158 คน/วันเหลือเฉลี่ย 15,133 คน/วัน รถไฟฟ้าแอร์พอร์เรลลิงก์ จากเฉลี่ย 36,854 คน/วัน เหลือเฉลี่ย 16,185 คน/วัน ลดลง 56.08% รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินและสีม่วง จากเฉลี่ย 246,553 คน/วัน เหลือเฉลี่ย 112,156 คน/วัน ลดลง 54.51% รถไฟฟ้าบีทีเอส จากเฉลี่ย 471,366 คน/วัน เหลือเฉลี่ย 220,126 คน/วัน หรือลดลง 53.30%

ทั้งนี้ ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ได้มีมติจำกัดเวลาให้บริการของระบบขนส่งสาธารณะ ให้หยุดให้บริการในช่วงเวลา 21.00-04.00 น. คาดว่าจะทำให้ปริมาณผู้โดยสารจะลดลงไปอีก

@กรมรางประกาศคุมเข้มสูงสุด “ใส่หน้ากาก-งดสนทนา” บนขบวนรถไฟฟ้า

นายกิตติพันธ์ ปานจันทร์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขบ.) เปิดเผยว่า จากที่กรมรางได้ออกประกาศเรื่อง มาตรการพึงปฏิบัติการจัดการระบบขนส่งทางราง ภายใต้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ เพื่อขอความร่วมมือหน่วยงานที่ให้บริการระบบขนส่งทางรางทุกระบบถือปฏิบัติเพิ่มเติม มีผลตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป คือ
1. ลดหรือจำกัดรอบการให้บริการระบบขนส่งทางรางทุกระบบ ระหว่างเวลา 21.00 น. ถึง 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น ภายในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พร้อมทั้งกำหนดตารางการเดินรถที่มีความชัดเจน และประชาสัมพันธ์ให้ผู้ปฏิบัติงานและผู้ใช้บริการทราบโดยทั่วกัน เพื่องดการเดินทางของประชาชนในช่วงเวลาดังกล่าว โดยยกเว้นแก่บุคคลตามที่ระบุในข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 27) ข้อ 4 และข้อ 5

2. การดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ระหว่างเวลา 21.00 น. ถึง 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น ให้กำหนดแผนปฏิบัติงานอันคำนึงถึงความปลอดภัยต่อระบบการเดินรถเท่าที่จำเป็น และมีมาตรการป้องกันโรคโดยเคร่งครัดสูงสุด คือ ให้ออกเอกสารรับรองความจำเป็นในการปฏิบัติงานของหน่วยงานแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน โดยพร้อมแสดงเอกสารรับรองดังกล่าวและบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรแสดงตนอย่างอื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

ให้ออกเอกสารรับรองความจำเป็นหรือเอกสารเกี่ยวกับสินค้าหรือการเดินทางสำหรับการขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภค อาหาร ผลผลิตการเกษตร ยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ สิ่งพิมพ์ น้ำมันเชื้อเพลิง ไปรษณีย์ การขนส่งพัสดุภัณฑ์ สินค้าเพื่อการส่งออกหรือนำเข้า การขนย้ายประชาชนไปยังที่เอกเทศตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ โดยให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานพร้อมแสดงเอกสารรับรองดังกล่าวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

3. จำกัดการบริการระบบรถไฟโดยสารข้ามเขตพื้นที่จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยให้มีการบริการเดินรถเท่าที่จำเป็น ระหว่างวันที่ 12 กรกฎาคม 2564 ถึงวันที่ 25 กรกฎาคม 2564

4. บริหารจัดการไม่ให้เกิดความหนาแน่นแออัดของผู้โดยสารภายในขบวนรถและภายในสถานี เพื่อให้ปฏิบัติมาตรการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลได้อย่างเคร่งครัด โดยให้มีการปฏิบัติมาตรการตามความเหมาะสม เช่น การดำเนินมาตรการ Group Release ภายในสถานี และการเพิ่มขบวนรถเสริมหรือเพิ่มความถี่การบริการในช่วงเวลาเร่งด่วน เป็นต้น

5. กำกับดูแล ตรวจติดตาม และขอความร่วมมือให้ผู้โดยสารปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค ได้แก่ การเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย และงดสนทนาขณะใช้บริการระบบขนส่งทางราง ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ทุกครั้งเมื่อเข้าและออกจากระบบ ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายที่จุดคัดกรอง และใช้แอปพลิเคชันไทยชนะ

6. ให้มีการตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อฯ เชิงรุกในกลุ่มแรงงานก่อสร้างภายในพื้นที่โครงการก่อสร้างระบบขนส่งทางรางที่อยู่ในความรับผิดชอบ และให้ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมและป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดโดยเคร่งครัด


กำลังโหลดความคิดเห็น